16 เม.ย. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

ทำไม เจ้าของธุรกิจ ถึงชอบตั้งบริษัท มาถือหุ้นแทนตัวเอง

ถ้าใครเคยดูรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นว่าโดยปกติแล้ว บริษัทจะมีชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชื่อ และนามสกุล ของเจ้าของจริง ๆ
1
แต่หลายครั้ง เราก็จะพบว่า หลายบริษัทจะมีบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 อีกที
4
เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 คือ บริษัท เซ็นทรัลโฮลดิ้ง จำกัด
4
บริษัทเหล่านี้มักจะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะ เราเรียกบริษัทแบบนี้ว่า “บริษัทโฮลดิง”
แล้วข้อดีของการทำแบบนี้คืออะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เคยมีคำกล่าวว่า 2 สิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถหนีพ้นได้ คือ ความตายและภาษี
นักธุรกิจที่ชาญฉลาดจึงต้องมีการวางแผนรับมือกับ 2 สิ่งนี้ให้ดี ทั้งเรื่องการส่งต่อมรดก และการบริหารภาษี
ดังนั้น การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัว
1
วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การจัดตั้งบริษัทโฮลดิงขึ้นมา เพื่อถือหุ้นแทนสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว
ข้อดีของวิธีนี้ในแง่ของการวางแผนส่งต่อมรดกก็คือ เป็นการป้องกันให้อำนาจควบคุมภายในบริษัทยังอยู่กับครอบครัวเจ้าของธุรกิจ
1
เพราะถ้าให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวถือหุ้นในนามส่วนตัว แล้วเกิดมีปัญหาขัดแย้งกันภายในครอบครัวขึ้นมา มีความเป็นไปได้ว่า สมาชิกบางคนอาจขายหุ้นของตัวเองให้กับบุคคลภายนอกบริษัท
1
โดยเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นกับบริษัท SM เจ้าของค่ายเพลงชื่อดังในเกาหลีใต้มาแล้ว ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว นำไปสู่การขายหุ้นให้บุคคลภายนอก จนเข้ามามีอำนาจควบคุมบริษัท
2
สำหรับตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่มีการวางแผนเพื่อสืบทอดธุรกิจให้ทายาทในครอบครัวแบบนี้คือ บริษัท LVMH เจ้าของสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก
2
เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของ LVMH จัดตั้งบริษัทโฮลดิง ชื่อ Agache Commandite SAS ขึ้นมาถือหุ้น LVMH เพื่อรักษาอำนาจการควบคุมบริษัท LVMH ไว้
โดยเขาแบ่งสัดส่วนหุ้นของบริษัท Agache Commandite SAS ให้ทายาทของเขาอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามมีการขายหุ้นบริษัทโฮลดิงให้แก่บุคคลภายนอก
1
สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะนี้ เช่น เครือเซ็นทรัล, เครือซีพี, เครือไทยเบฟ หรือกัลฟ์ เป็นต้น
นอกจากเรื่องการวางแผนส่งต่อมรดกแล้ว การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นแบบนี้ ยังมีประโยชน์ในแง่ของการวางแผนภาษีอีกด้วย
1
เพราะตามกฎหมายประเทศไทยแล้ว ถ้าบุคคลธรรมดาขายหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น จะไม่ต้องเสียภาษี
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราขายหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีอัตราสูงสุด 35%
5
ดังนั้น หากเราต้องขายหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น การตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทนเรา จะช่วยประหยัดภาษีให้เราได้อย่างมาก
2
เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่เพียง 20%
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราจัดตั้งบริษัทในเขตปลอดภาษี เช่น ฮ่องกง แล้วโอนเงินกลับมาในปีถัดไป ก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลย
3
แต่ในอนาคตการเลี่ยงภาษีแบบนี้ก็อาจจะลำบากมากขึ้น เพราะล่าสุดกรมสรรพากรมีการปรับกฎเกณฑ์ในการเก็บภาษีจากรายได้ที่โอนมาจากต่างประเทศใหม่
2
จากเดิม ถ้าเราโอนเงินกลับมาในปีภาษีถัดไป หลังจากมีรายได้เกิดขึ้น เราจะไม่ต้องเสียภาษี
ด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ กลายเป็นว่าเราต้องเสียภาษี ไม่ว่าเราจะโอนเงินกลับมาปีไหนก็ตาม
3
แต่ถึงอย่างนั้น การตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทนเรา ก็ยังช่วยประหยัดภาษีได้มากอยู่ดี
เพราะเงินปันผลที่จ่ายเข้าบริษัทโฮลดิง จะได้รับการยกเว้นภาษี ในกรณีที่มีองค์ประกอบครบ 3 ส่วน คือ
5
- เป็นบริษัทที่ บริษัทโฮลดิงถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
- บริษัทโฮลดิงและบริษัทย่อย ไม่ถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน
- บริษัทโฮลดิงถือหุ้นก่อนและหลังจ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 3 เดือน
2
ในขณะที่ บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% หากได้รับเงินปันผล
4
ทั้งหมดนี้ก็คือ เทคนิคการส่งต่อความมั่งคั่ง และการวางแผนภาษีของเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เราสามารถพบเห็นได้ในตลาดหุ้น
1
จะเห็นได้ว่าเทคนิคเหล่านี้ เป็นการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่กฎเกณฑ์เปลี่ยน เราทุกคนก็ย่อมต้องปรับตัวตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป..
4
โฆษณา