29 เม.ย. เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กองทุน เคยเจ็บหนักแค่ไหน ดูได้ด้วย Maximum Drawdown

การลงทุนในกองทุนรวม เป็นหนึ่งในตัวเลือกการลงทุน
ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนจำนวนมาก
บ่อยครั้งที่นักลงทุนจะเลือกกองทุนจากผลตอบแทน ว่าสามารถทำกำไรได้สูงแค่ไหน
ฉันใดก็ฉันนั้น กองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูง ๆ ก็มักจะมีช่วงเวลาที่ขาดทุนหนัก ๆ เช่นกัน
ทำให้ในบางครั้ง เมื่อลงทุนไปแล้ว หลายคนมักจะเกิดอาการ ทานอาหารไม่อร่อย นอนก็ไม่ค่อยจะหลับ
เนื่องจากกองทุนรวมที่ซื้อไป ราคาร่วงลงมา และขาดทุนเยอะเกินกว่าความเสี่ยงที่เรารับไหว
แต่รู้หรือไม่ว่า มีตัวเลขสำคัญตัวหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้ได้ก่อนว่า กองทุนที่เราสนใจนั้น เคยขาดทุนมากแค่ไหน และเราจะรับมันได้หรือเปล่า ?
ตัวเลขนั้นคือ “Maximum Drawdown”
แล้ว Maximum Drawdown คืออะไร และมีความสำคัญกับการลงทุนอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Maximum Drawdown เป็นหนึ่งในข้อมูลเชิงสถิติ
ที่สำคัญ ในหนังสือชี้ชวน เพราะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเสี่ยงของกองทุนรวม ด้วยการแสดงถึง การขาดทุนสูงสุด
ของกองทุนรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
โดย Maximum Drawdown จะมีค่าเป็นเปอร์เซ็นต์
ซึ่งคำนวณมาจากเปอร์เซ็นต์การปรับตัวของ NAV ของกองทุนรวม จากจุดสูงสุด ไปยังจุดต่ำสุด
ยกตัวอย่าง NAV ของกองทุน ABC ดังนี้
ปี 2562 มี NAV 10 บาทต่อหน่วย
ปี 2563 มี NAV 14 บาทต่อหน่วย
ปี 2564 มี NAV 9 บาทต่อหน่วย
ปี 2565 มี NAV 7 บาทต่อหน่วย
ปี 2566 มี NAV 8 บาทต่อหน่วย
จากสถานการณ์นี้จะเห็นว่า ถึงแม้ว่ากองทุนนี้ จะมีช่วงเวลาที่ NAV ปรับตัวขึ้นจาก 10 บาทต่อหน่วย เป็น 14 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นผลตอบแทน +40%
แต่ในทางตรงข้าม กองทุนนี้ ก็เคยพบกับช่วงเวลาย่ำแย่ ที่ NAV ลดลงจาก 14 บาทต่อหน่วย เหลือ 7 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นผลตอบแทน -50% เช่นกัน
นั่นหมายความว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุน ABC มีค่า Maximum Drawdown คือ -50% นั่นเอง
แปลง่าย ๆ ว่า หากเราลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะมีจุดที่เลวร้ายที่สุด ที่ทำให้มูลค่าเงินลงทุนในพอร์ตของเรา เหลือเพียง 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในการใช้ค่า Maximum Drawdown
มีจุดที่ต้องระวัง นั่นคือ
Maximum Drawdown เป็นตัวเลขข้อมูลที่บอก ผลการดำเนินงานในอดีตเท่านั้น
ไม่สามารถการันตีได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ใหม่ ในอนาคต ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม จะติดลบน้อยกว่าหรือมากกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่า Maximum Drawdown นอกจากจะทำให้เรารู้ว่า กองทุนเคยขาดทุนมากแค่ไหน
ยังช่วยให้เราประเมินตัวเองด้วยว่า เราสามารถรับความเสี่ยง จากการขาดทุนระดับนี้ได้หรือไม่
เพราะถ้าเรารับความเสี่ยงระดับนี้ไม่ได้ ก็ควรเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนรวมกองอื่น ที่มีค่า Maximum Drawdown ในระดับที่น้อยลง เท่ากับความเสี่ยงที่เรารับได้
ถึงแม้ว่ากองทุนอีกกอง อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้สูงเท่าก็ตาม
เพราะอย่าลืมว่า การขาดทุนหนัก ๆ นั้นทรมานกว่า การได้กำไรน้อย ๆ แน่นอน..
โฆษณา