29 เม.ย. เวลา 02:39 • ความคิดเห็น

ชีส… หาย!!!

หนังสือคลาสสิคในตำนานที่ชื่อ who moved my cheese? เล่าถึงการเดินทางตามหาชีสของหนูสองตัว (Sniff และ Scurry) กับมนุษย์จิ๋วตัวเท่าหนูอีกสองคน (Hem และ Haw) เป็นหนังสือที่เขียนโดยคุณ Spencer Johnson โดยใช้ชีสอร่อยๆ เป็นตัวแทนของสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ว่าจะเป็น งานการที่ดี ครอบครัวอบอุ่น เงินทอง หรือสุขภาพที่แข็งแรง และใช้เขาวงกตหรือทางที่วกเวียน (maze) เป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน เพื่อน ครอบครัว
1
เป็นหนังสือที่สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากๆผ่านความไม่จีรังของชีส ที่วันหนึ่งอาจจะหายไป ไม่ว่าเราจะชอบมันมากแค่ไหนก็ตาม
Who moved my cheese เป็นเรื่องราวของหนูสองตัวกับมนุษย์จิ๋วสองคนที่อาศัยอยู่ในเขาวงกตที่ซับซ้อน หนูสองตัวมีสมองแบบสัตว์ทั่วไป ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ส่วนมนุษย์จิ๋วนั้นก็คิดแบบมนุษย์ทั่วไป วิเคราะห์ วางแผนและมีอารมณ์ขึ้นลง
ทั้งสี่พบชีสก้อนใหญ่ที่ดูเหมือนจะกินไม่มีวันหมด หนูสองตัววิ่งมาที่ก้อนชีสด้วยความระแวดระวัง กินไปก็พร้อมที่จะวิ่งต่อเสมอ ส่วนมนุษย์จิ๋วสองคนพอเจอชีสก้อนใหญ่แล้วเริ่มคุ้นเคย ก็เริ่มวางใจ ผ่อนคลายและมีความสุขกับชีสที่ดูเหมือนไม่มีวันหมดก้อนนั้น โดยไม่คิดจะขวนขวายอะไรอีก
แต่อยู่มาวันหนึ่ง ชีสก้อนนั้นก็หายไป หนูสองตัวไม่คิดอะไรมาก วิ่งหาชีสก้อนใหม่ไปเรื่อยๆจนเจอ มนุษย์จิ๋วสองคนกลับนั่งจมอยู่กับที่ที่เคยมีชีส พยายามวิเคราะห์ว่าชีสหายไปได้ยังไง โมโหกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังลมๆแล้งๆว่าชีสก้อนนั้นจะกลับมา
3
เป็นอย่างนั้นอยู่หลายวันจน Haw มนุษย์จิ๋วหนึ่งในสองเริ่มตระหนักว่าชีสก้อนเดิมจะไม่กลับมาแล้ว เริ่มที่จะพยายามออกเดินทางตามหาชีสก้อนใหม่ด้วยความกล้าๆกลัวๆ เพราะทางในเขาวงกตอันซับซ้อนนั้นไม่รู้มีอะไรบ้าง
Haw หวั่นวิตกเพราะไม่ได้ออกเดินทางมานานตั้งแต่เจอชีสก้อนที่หายไป และออกไปก็ไม่รู้จะเจอชีสก้อนใหม่รึเปล่า Haw พยายามชักชวน Hem มนุษย์จิ๋วอีกตัว แต่ Hem ไม่ยอมไป อยากจะรอชีสก้อนเดิมกลับมามากกว่า คิดถึงแต่ความสุขสบายเมื่อครั้งก่อน Haw ตระหนักดีแล้วว่านั่งรอบ่นบ้าต่อไปชีสยังไงก็ไม่กลับมา จึงเริ่มออกเดินทาง
ระหว่างทาง Haw ก็เขียนบทเรียนไว้ตามทาง หวังว่าวันหนึ่ง Hem จะคิดได้แล้วออกตามหาชีสด้วยกัน Haw ค่อยๆต่อสู้กับความกลัวในการเดินทางเส้นทางใหม่ ค่อยๆ เริ่มสนุกกับการค้นหา
และในที่สุดก็เจอกองชีสก้อนใหญ่ที่มีเจ้าหนูสองตัวที่วิ่งมาก่อนหน้านั่งกินชีสอยู่…
ในบทความของ medium ได้นำบทเรียนของ who moved my cheese นี้มาถอดรหัสโดยมีตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ผมเลยลองแปลสรุปมาประกอบดูต่อนะครับ
บทความเล่าถึงคุณทิมที่มีงานเขียนหนังสือขายบน amazon โดยได้ผลตอบแทน 5 เหรียญต่อทุกครั้งที่มีคนดาวน์โหลด ผลตอบแทนที่ว่าก็คือชีสของทิมที่ได้มาง่ายๆและดูเหมือนไม่มีวันหมด
วันหนึ่ง Amazon เปลี่ยนกฎเป็นขายแบบ unlimited บุฟเฟต์ ทำให้รายได้ของทิมลดลงอย่างมาก ทิมโกรธมาก ใช้เวลาเป็นเดือนในการเขียนอีเมล์ด่า amazon และพยายามประท้วงให้ amazon ให้เลิกบุฟเฟ่ต์ แน่นอนว่าไม่เป็นผล ในขณะที่เดฟที่เป็นเพื่อนนักเขียนด้วยกันพินิจพิจารณาดูแล้ว รู้ดีว่าไม่มีทางที่ amazon จะเปลี่ยนกลับ จะเขียนด่าเขาอีกกี่เดือนกี่ปีเขาก็ไม่เปลี่ยนแล้ว ก็เลยพยายามหา “ชีส” ใหม่โดยไม่รีรอ
บทเรียนที่ 1. Change happens
1
ในชีวิตเราจะมีคนคอยย้ายชีสไปมาเสมอ Amazon ก็ปรับเปลี่ยน business model ตลอดเวลา เดฟเข้าใจแต่ทิมไม่เข้าใจ
บทเรียนที่ 2. Anticipate change
เดฟผ่านงานเขียนมาหลากหลายตั้งแต่ยุคหนังสือ ผ่านมาหลายยุคสมัย ก็จะเข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีได้ตลอดเวลา พอมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ไม่ได้ตกใจและพร้อมจะปรับตัวต่อ
บทเรียนที่ 3. Monitor change
ในหนังสือแนะนำว่าให้ดม “ชีส” บ่อยๆ จะได้พอรู้ว่าชีสนั้นเริ่มเก่าแล้วหรือยัง เดฟพอจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาจากการตามอ่านข่าวสารของ Amazon และคู่แข่งในตลาดที่กำลังเสนอโมเดลใหม่ ในขณะที่ทิมคิดแต่ว่าเงินที่ได้นั้นจะเป็นแบบนั้นไปตลอด
บทเรียนที่ 4. Adapt to change quickly เดฟรู้ดีถึงอำนาจต่อรองที่ amazon มีต่อนักเขียนตัวเล็กๆ การที่เขียนจดหมายด่า amazon นั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา แถมเสียเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เดฟเริ่มพยายามหาหนทางทำเงินแบบใหม่ทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
บทเรียนที่ 5. Change
ในหนังสือแนะนำให้ move with the cheese เดฟศึกษาวิธีการคิดเงินแบบใหม่ของ Amazon ที่จ่ายตามหน้าที่ผู้อ่านอ่านในระบบบุฟเฟต์เหมาจ่าย เดฟพยายามหาไอเดียและโปรโมทให้คนอ่านหลายๆ หน้าในหนังสือของเขา เช่นการ bundle เอาหนังสือขายดีมาเติมบทเพิ่มจากหนังสือที่ยังไม่มีใครอ่าน ทำให้ยอดวิวเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
1
บทเรียนที่ 6. Enjoy change
พอเดฟเริ่มจับทางและสนุกกับการทำเงินใหม่ๆ ได้ เขาก็เริ่มทำคอร์สออนไลน์สอนนักเขียนคนอื่นต่อว่าควรจะปรับวิธีทำเงินอย่างไร ขายคอร์สได้ตังอีก ในขณะที่ทิมไม่สามารถก้าวข้ามความโกรธและหวังว่าวันหนึ่ง amazon จะกลับมาปรับเป็นวิธีเดิมอยู่ต่อไป
ในหนังสือก็พูดถึงตัวอย่างของคนที่อ่านแล้วเอาไปปรับใช้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น มีผู้บรรยายกีฬาทางทีวีช่องดังที่อเมริกา ที่เชี่ยวชาญด้านการบรรยายกรีฑาในระดับโอลิมปิกมาแล้ว วันหนึ่งเขาถูกเจ้านายสั่งย้ายจากงานที่เขาถนัดให้ไปบรรยายกีฬาว่ายน้ำที่เขาแทบไม่รู้เรื่องอะไรเลย
แน่นอนว่าเขาโมโห โกรธนายว่าไม่ยุติธรรม เตรียมอาละวาดเต็มที่ บังเอิญเขาได้อ่านเรื่อง who moved my cheese แล้วเริ่มเข้าใจว่า “ชีส” ที่เขาเคยมีนั้น นายได้เอาออกไปแล้ว เขาจึงเปลี่ยนใจจากการอาละวาดไปตั้งใจเรียนรู้กีฬาใหม่ด้วยความกล้าๆกลัวๆ และเริ่มสนุกกับสิ่งที่เขาค้นพบใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
ในที่สุดเจ้านายก็สังเกตถึงพลังและทัศนคติที่ดีของเขาที่ไม่บ่น ไม่น้อยใจแต่กลับตั้งใจเรียนรู้ จนได้รับมอบหมายงานใหม่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นผู้บรรยายกีฬาในระดับตำนานในที่สุด
เรื่องราวในชีวิตของคนเราที่มีความสุขกับ “ชีส” ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์หรือครอบครัว ช้าหรือเร็วก็จะต้องเจอการเปลี่ยนแปลง เมื่อเจอแล้วก็จะขึ้นกับทัศนคติของเราว่าเราจะสามารถยอมรับว่า “ชีส” นั้นได้หายไปแล้ว หรือจะตีโพยตีพายโทษฟ้าโทษดิน หวังลมๆแล้งๆว่าวันหนึ่งชีสนั้นจะกลับมา
คนที่ยอมรับได้ก่อนก็จะมีโอกาสหาชีสก้อนใหม่ได้ก่อน และคนที่ค้นพบกระบวนการคิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองจากความ “ชีส..หาย” ได้บ่อยๆ ก็จะสามารถพัฒนาทักษะการหาชีสจนกลายเป็นทักษะชีวิตที่โดดเด่นและมีความสุขกว่าคนอื่นได้อีกด้วย
การที่ด่า facebook ว่าไม่ยุติธรรม ลดการมองเห็น ยิงแอดไปแต่ก่อนคุ้มกว่านี้เยอะแล้วบ่นว่ามาร์ค ซักเกอร์เบิร์กว่าเอาเปรียบแล้วอิจฉาคนที่ไปเริ่ม tiktok ตั้งแต่แรกๆจนตอนนี้ประสบความสำเร็จก็อาจจะเห็นภาพอะไรชัดเจนขึ้น และคนที่กำลังเอ็นจอย tiktok ก็ต้องเริ่มสังเกตสังกา เริ่มดมชีสกันเป็นระยะ และเมื่อถึงเวลาชีส tiktok หาย ก็จะได้ไม่มัวแต่ด่า tiktok แต่ต้องรีบหาชีสชิ้นต่อไปเช่นกัน
เผื่อเป็นประโยชน์กับใครที่กำลัง “ ชีส…หาย “ อยู่ในตอนนี้นะครับ
Life moves on and so should we.
Spencer Johnson
ผู้เขียนเรื่องนี้บอกไว้เช่นนั้น…
โฆษณา