29 เม.ย. เวลา 11:18 • ธุรกิจ

คนไทย กำลังกดเงินสด จาก Shopee มาใช้

“หาคนจ่ายค่าไฟ 3,000 บาท โอนให้ทันที 2,700 บาท”
ข้อความประมาณนี้ หลาย ๆ คนน่าจะได้เห็นบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ซึ่งข้อความข้างต้นก็คือ การหาคนมาจ่ายค่าไฟ เพื่อแลกกับการที่เจ้าของบิลค่าไฟ จะโอนเงินสดให้กับคนที่จ่ายค่าไฟให้
โดยผู้ที่จ่ายให้ ก็จะจ่ายด้วยการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง เช่น Shopee SPayLater เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า คนที่จ่ายค่าไฟให้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินสดนั้น ก็ไม่ได้เงินเต็มจำนวน แต่มักจะได้เงินน้อยกว่ายอดเต็ม ประมาณ 10%
1
แล้วทำไม คนไทยบางคน ถึงต้องยอมจ่ายเงินเชื่อ เพื่อซื้อเงินสดมาใช้ แบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แม้การกระทำที่เหมือน เอาเงินเชื่อไปซื้อเงินสดแบบนี้ จะดูไม่สมเหตุสมผลในตอนแรก
แต่การฝากคนอื่นจ่ายบิลให้ด้วย Shopee SPayLater ที่กล่าวไปในข้างต้นนั้น ก็คือวิธีการที่ผู้คน พากันเอาเงินสด จากวงเงินสินเชื่อมาใช้จ่าย
โดยแม้จะได้เงินน้อยลงมาหน่อย แต่อย่างน้อยก็ยังได้เงินสดกลับมาหมุนใช้งานก่อน แล้วหลังจากนั้น ค่อยหาเงินมาจ่ายสินเชื่อต่อไป
เพราะวงเงินสินเชื่อต่าง ๆ ในโปรแกรมใช้ก่อนจ่ายทีหลัง และบัตรเครดิต เป็นเสมือนตัวเลขความเชื่อใจ ที่เรานำไปซื้อสิ่งของต่าง ๆ แทนการใช้เงินสดจ่ายซื้อของในวันนี้
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องการสภาพคล่อง อย่างเช่น เงินสดติดบัญชี และกระเป๋าสตางค์ ไว้ใช้งาน ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน
ส่วนจำนวนเงินของเงินสดที่หายไป ประมาณ 10% ถึง 20% ก็คล้าย ๆ กับดอกเบี้ย เพื่อแลกกับการนำเงินสดมาใช้ก่อน
1
ถึงตรงนี้หลาย ๆ คน อาจจะสงสัย ว่าทำไมผู้จ่ายบิลให้เหล่านี้ ถึงไม่เปิดบัตรกดเงินสด ที่น่าจะใช้งานง่ายกว่า ?
นั่นก็เพราะว่า บัตรกดเงินสด แม้จะสามารถเปลี่ยนเงินเชื่อ เป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผู้คนจะเข้าถึงบัตรกดเงินสดได้ทั้งหมด เพราะการจะสมัครบัตรกดเงินสดได้ จะต้องมีรายได้ประมาณหนึ่ง และต้องเป็นรายได้ประจำด้วย
ตรงกันข้ามกับ Shopee SPayLater ที่ไม่ได้พิจารณาเกณฑ์การสมัครจากรายได้ แต่จะเป็นยอดซื้อสินค้าต่าง ๆ แทน
Shopee SPayLater จึงสามารถเข้าถึง กลุ่มคนในวงกว้างได้มากกว่า ซึ่งนั่นก็ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ประจำ และกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูง แต่ชอบซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย
และในตอนนี้ เหตุการณ์จ่ายบิล แลกเงินสด ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ช่องทาง Shopee SPayLater เท่านั้น
แต่ยังมีทั้งการใช้ K Pay Later ของธนาคารกสิกรไทย และ Pay Next ของ TrueMoney สำหรับจ่ายบิลค่าโทรศัพท์ อีกด้วย
สรุปแล้ว การจ่ายบิล แลกเงินสด ก็เป็นเหมือนการใช้บัตรกดเงินสด สำหรับคนรับจ่ายบิล ที่มีวงเงินตามโปรแกรมใช้ก่อนจ่ายทีหลังต่าง ๆ เช่น Shopee SPayLater
ถ้าดูไปแล้ว ก็เหมือนเป็นการใช้ประโยชน์ จากช่องโหว่ของระบบทั่วไป ทั้งเจ้าของบิล และคนที่จ่ายค่าไฟให้
แต่อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้ ก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยในปัจจุบันนี้ กำลังต้องการสภาพคล่องเป็นอย่างมาก
จนถึงกับต้องพยายามหาทางเอาเงินสดออกมาหมุนใช้ในชีวิตประจำวัน แม้เงินสดที่ได้กลับมา จะน้อยกว่าเงินที่จ่ายออกไปก็ตาม
ถ้าหากผู้ที่ทำแบบนี้ เอาเงินสดไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉย ๆ ก็อาจจะไม่ได้น่ากังวลเท่าไรนัก
1
แต่ถ้าหากคนที่จ่ายบิล แลกเงินสด เป็นคนที่กำลังจะนำเงินสดนี้ ไปใช้หมุนจ่ายหนี้อื่น ๆ อยู่
ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่ากังวลอยู่เหมือนกัน
เพราะว่าการทำแบบนี้ นอกจากจะหมายความว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของเราตึงตัวมาก ๆ แล้ว
ยังหมายความว่า ถ้าหากคนที่จ่ายบิล แลกเงินสด สุดท้ายแล้วหมุนจ่ายหนี้ไม่ไหว ทั้งหนี้อื่น ๆ และหนี้ของ Shopee SPayLater
ก็อาจจะทำให้ Shopee ต้องเจอปัญหาหนี้เสีย ก็เป็นได้..
โฆษณา