26 เม.ย. 2019 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Blinkist - แอพมือถือสำหรับนักอ่านที่ไม่ต้องการ (ใช้เวลา) อ่าน
“ไม่มีเวลา” คงเป็นเหตุผลที่คนใช้กันมากที่สุดเมื่อถูกถามว่าทำไมถึงไม่อ่านหนังสือ เพราะการอ่านหนังสือแต่ละเล่มนั้นต้องใช้ทั้งพลังงานชีวิตและเวลาเพื่อย่อยข้อมูลทำความเข้าใจ ยิ่งเป็นหนังสือแนว Non-fiction ที่เนื้อหาบางครั้งไม่ได้ชวนให้ติดตามเหมือนกับนวนิยายที่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่เป็นความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาตนเอง หลายๆครั้งมันน่าเบื่อหน่ายที่ต้องอ่านหนังสือเหล่านี้ จะดีแค่ไหนถ้ามีคนนำหนังสือเล่มหนาปึ๊กมากลั่นเอาแต่เนื้อหาสำคัญมาเล่าให้เราฟังทั้งในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สามารถซึมซับเข้าสู่เนื้อสมองได้ภายในเวลาเฉลี่ยเพียงเล่มละ 15 นาที บริษัทสตาร์ทอัพ Blinkist จากประเทศเยอรมันกำลังพยายามตอบโจทย์ที่ท้าทายของยุค “information overloaded” ที่มนุษย์ถูกแวดล้อมไปด้วยข้อมูลที่มากมายแต่กลับไม่มีเวลามากพอสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
จากค่าเฉลี่ยต่อปีบอกว่าคนทั่วไปอ่านหนังสือประมาณ 4 เล่ม มันดูเป็นตัวเลขที่น้อย (แต่ก็ยังมากกว่า 8 บรรทัด)​ ถ้าเทียบกับนักอ่านตัวยงหรือเหล่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆที่อ่านกันประมาณ 4-5 เล่มต่อเดือน ตัวอย่างเช่น Bill Gates ที่อ่านประมาณสัปดาห์ละเล่ม หรือประมาณ 50 เล่มต่อปี เขาเชื่อว่านี่คือสิ่งทำให้เขาได้เปรียบคนอื่นๆและเกิดไอเดียใหม่ๆอยู่เสมอ Blinkist เป็นบริการที่พยายามเข้ามาช่วยต่อเติมในจุดนี้ ข้อมูลที่ดีในรูปแบบของหนังสือเล่มหนาบางครั้งก็ถูกมองข้ามและวางอยู่บนชั้น แอพนี้เลยเลือกเอาแต่เฉพาะเนื้อและตัดอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นออกไป
Blinkist เปิดตัวให้ใช้เพียงแค่บางประเทศในยุโรปอย่าง เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ตั้งแต่ปี 2012 แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เปิดให้ผู้อ่านเข้าถึงได้แล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ในปี 2015 Blinkist มีจำนวนสมาชิกประมาณ 3 หมื่นคนจาก 130 ประเทศ สามารถเข้าถึงได้จากบนเว็บ iOS และ Android โดย Blinkist สร้างรายได้เหมือนกับ freemium ทั่วไปที่ให้โหลดฟรีใช้ได้นิดหน่อยแต่ถ้าอยากได้เพิ่มก็เสียเงินซื้อ โดยเราสามารถอ่านหนังสือฟรีวันละหนึ่งเล่ม (เลือกเองไม่ได้) แต่ถ้าอยากอ่านเพิ่มก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกที่ประมาณ $50/ปี (ประมาณ 1500 บาท) หรือถ้าอยากได้แบบเต็มรูปแบบที่มีไฟล์เสียงด้วยก็ $80/ปี (ประมาณ 2400 บาท)
หนังสือ Non-fiction ที่มีชื่อเสียงอย่าง “The Lean Startup” “The Subtle art of not giving a F\*\*K” “How to win friends and influence people” “The Greatest Show on Earth” “The Audacity of Hope” “The Tipping Point” และอีกว่าสองพันเล่มถูกเก็บไว้บนฐานข้อมูลในรูปแบบของ “blinks” (เป็นหน่วยนับของข้อมูลที่ย่อยมาแล้วของแอพนี้) โดยไอเดียพื้นฐานของแอพคือเราสามารถเรียนรู้ระหว่างเดินทางไปทำงาน พักกลางวัน นั่งในห้องน้ำ หรือตอนที่ออกกำลังกายในยิม โดยเป้าหมายลูกค้าหลักคือกลุ่มวัยทำงานที่ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย เวลาน้อยแต่อยากหาความรู้เพิ่มเติม ใส่ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบ e-book และ audio-book ที่เข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งข้อดีของ Blinkist คือมันถูกย่อยโดยนักเขียนที่เชี่ยวชาญในแต่ละสายอาชีพ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์หรือสมองกลที่สรุปเนื้อหาออกมาให้อ่าน เพราะฉะนั้นสำนวนการเขียนจะมีความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ และข้อดีอย่างที่สองคือมีหนังสือใหม่เพิ่มเติมเข้ามาให้เลือกมากขึ้นเรื่อยๆประมาณเดือนละ 20 เล่ม
จุดแข็งอย่างหนึ่งของ Blinkist คือคุณภาพของงานเขียนที่ทำได้เป็นอย่างดี ค่าบริการของแอพที่ค่อนข้างพรีเมียมบ่งบอกว่าต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ในการสร้างคอนเทนท์เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อง่ายต่อการเสพ เพราะความจริงคือคนทั่วไปก็สามารถอ่านหนังสือและเอามาย่อสั้นๆให้เราฟังได้ (โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ทำได้) แต่ข้อแตกต่างระหว่าง “ทำได้” กับ “ทำได้ดี” นั้นแหละที่ทำจำนวนผู้ใช้ Blinkist นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน พวกเขาต้องใช้บุคคลากรที่เชี่ยวชาญในประเด็นที่เจาะจงเฉพาะ เพื่อสื่อสารกับผู้อ่านได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนคัดเอาติวเตอร์เก่งๆที่สามารถทำเรื่องยากเป็นเรื่อง่าย สอนเด็กๆเพื่อทำคะแนนเตรียมสอบกันนั้นแหละ
Blinkist ทุ่มเงินมากมายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งดอกเตอร์ นักเขียน คนบรู๊ฟงาน วิศวกรดูแลแอพ ฯลฯ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับหนังสือ Non-Fiction เหล่านี้ โดยระบบสมาชิกทำให้พวกเขานั้นได้เงินแบบสม่ำเสมอในการขยายเครือข่ายของนักเขียน คนเหล่านี้เป็นกำลังหลักในการชำแหละหนังสือแต่ละเล่ม เก็บข้อมูลที่สำคัญ เขียนสรุปออกมาในรูปแบบที่น่าติดตามและจดจำได้ง่าย แต่ปัญหาที่นักอ่านหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันบ่อยๆ (รวมทั้งตัวผมเอง) คือมันสั้นเกินไป เพราะสรุปยังไงก็คือสรุป มันถึงถูกเรียกว่าสรุปไม่ใช่ฉบับเต็ม และถ้าต้องการหาข้อมูลเพิ่ม สุดท้ายก็ต้องกลับไปตายรังหาหนังสือเป็นเล่มมาอ่านกันอยู่ดี เหมือนที่ Niklas Jansen (ผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของ Blinkest) กล่าวว่า
“สิ่งสำคัญคือ Blinkist นั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนหนังสือ สำหรับเรา Blinkist คือสะพานระหว่างการไม่อ่านหนังสือกับหนังสือ มันมีเหตุผลอยู่แล้วที่คุณจะไปซื้อหนังสือเป็นเล่มมาอ่านเพิ่มหลังจากที่อ่าน (หรือฟัง) Blinkist”
Blinkist เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะกับนักอ่านสายฮาร์ดคอร์และนักวิจารณ์ที่เชื่อว่าการอ่านสรุปคือการ “โกง” แต่สำหรับผู้ก่อตั้งบริษัทแล้วพวกเขากลับมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนกลับมาสนใจในการอ่านอีกครั้งหนึ่ง Blinkist ไม่ได้ต้องการเป็นหนังสือ (เหมือนที่ Jansen กล่าว) แต่เป็นตัวจุดชนวนเพื่อให้นักอ่านรุ่นใหม่ๆนั้นเริ่มเดินไปซื้อหนังสือในร้านมากยิ่งขึ้น เป็นการกระตุ้นไฟในความอยากรู้และความสนใจใหม่ๆ ยอดขายหนังสือจริงๆอาจจะได้อานิสงส์พ่วงไปด้วยจากการอ่าน 15 นาทีบน Blinkist อีกต่างหาก
แน่นอนว่ากลุ่มหนังสือนวนิยายไม่สามารถนำมาใส่ไว้ใน Blinkist ได้ เพราะอรรถรสในการอ่านหนังสือเหล่านั้นคือการที่เนื้อเรื่องค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาทีละนิด การเว้นจังหวะการเล่า ภาษาที่ใช้ ประสบการณ์ของนักอ่านและจินตนาการที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งถ้ามาสรุปเป็น blink ก็คงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง (ลองคิดดูว่าถ้าให้สรุป “Gone Girl” ออกมาสั้นๆก็สามารถทำได้แต่มันจะทำให้หมดความสนุกทันที) เพราะเป้าหมายของนวนิยายไม่ใช่การรู้เรื่องทั้งหมดทีเดียว แต่เป็นการเข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆในหนังสือที่ละชั้นซะมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหนังสือประเภทนี้ไม่ได้จัดอยู่ใน Blinkist ด้วย (ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี)
มันเป็นเรื่องที่ดีที่ตอนนี้เรามีทางเลือกในการอ่านที่มากขึ้น เพราะต้องจำเอาไว้อย่างหนึ่งว่าปัจจุบันหลายคนแทบไม่เคยหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านกันเลย ไม่ใช่ว่าเลือกอ่านระหว่างเล่มไหน แต่เป็นการอ่านหรือไม่อ่านเป็นเลยมากกว่า หลายคนอาจจะมองว่าการอ่านสรุปแบบนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นการอ่านจริงๆ แต่ในบางจังหวะของชีวิตที่วุ่นวาย การมีเวลาว่างเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการถูกล็อตเตอรี่เลขท้ายสองตัว Blinkist สามารถเข้ามาเติมช่องว่างระหว่างให้เรากลับมาสนใจการอ่านมากขึ้นอีกสักหน่อย มันอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่ากาแฟวันละแก้วเท่าไหร่นัก
เราต้องมองข้ามภาพจินตนาการในหัวกันก่อนว่า “การอ่าน” ไม่ใช่การนั่งจิบกาแฟร้อนเช้าวันอาทิตย์ใต้ผ้าห่มอุ่นบนเก้าอี้โยกตัวโปรดข้างหน้าต่างที่มองไปเห็นทะเลสาบที่สะท้อนแสงแดดยามเช้าระยิบระยับ (ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้ก็คงดีไม่น้อย) แต่การอ่านในบางครั้งเพื่อเก็บข้อมูลหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอาจจะเป็นมาในรูปแบบของ blink ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไร เพราะสุดท้ายเอาเข้าจริงๆหนังสือบางเล่มก็มีเนื้อหาอยู่ 10% นอกนั้นก็น้ำที่ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร ดีซะด้วยซ้ำที่มันถูกย่อให้เหลือแค่ไม่กี่ blinks เพราะหนังสือบางเล่มก็มีแค่นั้นจริงๆ
โฆษณา