11 ก.ค. 2021 เวลา 07:47 • ประวัติศาสตร์
泰铢 ไทยบาท คำง่ายๆที่มีที่มาเก่าแก่ถึงสมัยฉินซีฮ่องเต้ | ที่มาคำว่า บาท จากภาษาจีน “泰铢” 的历来
#สาระไม่จำเป็นต้องรู้ #ภาษาไทย #ภาษาจีน #ที่มาของคำว่าบาท
ทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าเงินบาทในภาษาจีนเรียกว่า 泰铢 (Tàizhū) แถมคำว่าบาทในภาษาไทยปัจจุบันเราก็ยังใช้เป็นหน่วยวัดน้ำหนักของทองอีกด้วย แต่รู้กันหรือไม่ว่า คำว่า "บาท" ในภาษาไทย อาจจะมีที่มาจากคำว่า "铢" (zhū) ในภาษาจีน
เรื่องนี้แม้จะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดแต่เป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์และที่มาของคำที่น่าสนใจ วันนี้ สร้างภาพเล่าเรื่อง 图图是道 จะมาเล่าให้อ่านกัน
หมายเหตุ | เพื่อให้เห็นช่วงเวลาที่ชัดเจนและความเชื่อมโยงต่างๆ บทความนี้จะใช้ ค.ศ. แทน พ.ศ. ทั้งหมดนะครับ
[ เมื่อ "บาท" ไม่เป็นเพียงแค่ค่าเงิน แต่ยังเป็นหน่วยน้ำหนักด้วย ]
หน่วยเงินตราและหน่วยน้ำหนัก ในสมัยโบราณแทบจะเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ตัวอย่างของอิทธิพลนี้ที่เรายังเห็นหลงเหลืออยู่ในภาษาไทยปัจจุบันคือการชั่งน้ำหนักทองคำในประเทศไทย เราซื้อขายทองคำกันเป็นหน่วยน้ำหนัก "สลึง" และ "บาท"
มนุษย์ได้เริ่มใช้โลหะมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือ 金属货币 (jīnshǔ huòbì) ครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลที่ประเทศจีน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
[[ จากเปลือกหอย เงินกระดาษ สู่ดิจิตอลหยวน | เทคโนโลยีการเงินอารยธรรมจีน 中华文明的金融科技 ]] https://www.blockdit.com/posts/60d8a54b1c3ea70c89a8c4c8
จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทำให้เกิดการวัดมูลค่าของสิ่งต่างๆ ขึ้น ในเมื่อมนุษย์สร้าง 金属货币 ขึ้นมาแล้ว และยังเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงได้ยาก จึงได้นำ 金属货币 มาเป็นตัวแทนของหน่วยวัดน้ำหนักตามชื่อของเงินนั้นๆ ไปด้วย
หน่วย "บาท" มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (素可泰王朝 | ค.ศ. 1249 – 1463) หรือ อาจจะเก่ากว่านั้น จากที่พบการกล่าวถึงใน ศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) และไตรภูมิพระร่วง ได้มีการกล่าวถึง การชั่งวัดน้ำหนักในสมัยนั้น นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า การชั่งน้ำหนักอาจจะมีที่มาได้จากสองแหล่ง
แหล่งแรก การชั่งวัดด้วย "ตาชู" ได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมซูเมอร์ (苏美尔 | Sū měi ěr | Sumer คนไทยชอบเรียกว่า สุเมเรียน) ผ่านทางเมืองลังกาที่พระยุคสุโขทัยไปศึกษาพระธรรมมา ซึ่งได้รับมาผ่านทางอินเดียอีกต่อหนึ่ง
แหล่งที่สอง การชั่งวัดด้วย "ตาเต็ง" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการค้าขายกับอารยธรรมจีน หน่วยที่พบได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยไล่จากหนักไปหาเบาได้แก่
- ภารา,
- ตุล,
- ชั่ง,
- ตำลึง,
- บาท,
- สลึง,
- เฟื้อง,
- ไพ,
- กล่ำ,
- กล่อม,
- เมล็ดข้าว
แม้ยังไม่สามารถจะสรุปได้แน่ชัด แต่ก็สามารถทำให้เห็นภาพได้ว่า การชั่งน้ำหนักในสมัยโบราณนั้น เงินโลหะ หรือ 金属货币 ได้มีความสำคัญในการวัดน้ำหนักและได้กลายมาเป็นมาตรฐานมาอย่างยาวนานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และ เกิดการผสมผสานปรับปรุงจนเป็นของตนเอง
[ 两 และ 铢 หน่วยน้ำหนักที่มีมาตั้งแต่จีนโบราณ ]
ย้อนกลับไปยังอารยธรรมจีนโบราณ การชั่งวัดน้ำหนักด้วยโลหะ มีมาตั้งแต่ 春秋战国 (Chūnqiū zhànguó | ยุคชุนชิว ปี 770 -221 ก่อน ค.ศ.) หรืออาจจะจะเก่ากว่า ในช่วงยุคนี้ หลักฐานที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดคือ เหรียญ 半两 (bànliǎng) ที่มีการหล่อเหรียญโดยมีอักษร 半两 ที่แปลว่าครึ่งตำลึงของ 秦国 (Qín guó | อาณาจักรฉิน) ซึ่งต่อมา 秦始皇 (Qín shǐ huáng | ฉินซีฮ่องเต้ ปี 259 — 210 ก่อน ค.ศ.) ได้รวมแผ่นดินและปฏิรูประบบการเงินและระบบการชั่งวัดใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยนำชื่อของเงินและน้ำหนักมาตั้ง 一两 (yìliǎng | 1 ตำลึง) จะเท่ากับ 二十四铢 (èrshísì zhū | 24 บาท)
พอมาถึงสมัย 汉朝 (Hàn cháo | ราชวงศ์ฮั่น ปี 202 ก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 220) จากบันทึกของลวี่ลี่จือ 《汉书·律历志》ในสมัยนี้ได้มีการนำหน่วยชั่งวัดเดิมมาปรับมาตรฐานใหม่และตั้งชื่อว่า 五权 (Wǔ quán) ไล่จากหนักไปหาเบา ได้แก่
- 石 (dàn | ต้าน)、
- 钧 (jūn | จวิน)、
- 斤(jīn | ชั่ง)、
- 两(liǎng | ตำลึง)、
- 铢 (zhū | บาท)
จริงๆ ในยุคนี้ ยังมีหน่วยย่อยที่ต่ำกว่า 铢 อีก ได้แก่ 絫 (lěi | เหล่ย) และ 黍 (shǔ | สู่)
ยุคต่อๆ มา ยังได้มีการกล่าวถึง หน่วยย่อยอื่นๆ ทั้งในสมัย 南朝 (Nán cháo | ราชวงศ์ใต้ ค.ศ. 420 - 589) และ 唐朝 (Tāng cháo | ราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618—907) ได้แก่ 钱 (qián | เฉียน ต่อมากลายเป็นที่มาของคำว่าเงินที่ใช้เรียนกัน)、分(fēn | เฟิน)、厘(lǐ | หลี่)、毫(háo | เหา)、丝(sī | ซือ)、忽(hū | ฮู)
มาจนกระทั่ง 宋朝 (Sòng cháo | ราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960—1279) ได้มาการปรับหน่วยใหม่อีกครั้ง และ ตัด 铢 หรือ บาท และปรับให้เหลือแค่ 10 หน่วย ไล่จากหนักไปหาเบา ได้แก่
- 石 (dàn | ต้าน)、
- 钧 (jūn | จวิน)、
- 斤(jīn | ชั่ง)、
- 两(liǎng | ตำลึง)、
- 钱 (qián | เฉียน)、
- 分(fēn | เฟิน)、
- 厘(lǐ | หลี่)、
- 毫(háo | เหา)、
- 丝(sī | ซือ)、
- 忽(hū | ฮู)
ในปัจจุบันหน่วยเหล่านี้ จะเหลือเพียงแค่ 斤(jīn) ซึ่งได้ปรับน้ำหนักให้เข้ากับสมัยใหม่เป็น 500 กรัม ส่วนกิโลกรัมจะเรียกว่า 公斤 (gōngjīn)
[ เห็นจีนแล้วเทียบไทย 铢 และ บาท เกี่ยวข้องกันอย่างไร ]
แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่นักภาษาศาสตร์และนักโบราณคดี ได้สันนิษฐานว่า หน่วยชั่งวัดของไทยได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากจีนผ่านการค้าขาย เมื่อเราลองเทียบจากช่วงเวลาตามราชวงศ์ต่างๆ จึงพอจะเห็นภาพได้ว่าอิทธิพลนี้ได้เข้าสู่เอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่ก่อนสมัย 宋朝 (Sòng cháo | ราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960—1279) หรืออาจจะเป็นช่วง 宋朝 พอดี เนื่องจากการเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะมีการใช้หน่วยชั่งวัดแบบเดิมอยู่
อาณาจักรสุโขทัย (ค.ศ. 1249 – 1463) อยู่ในช่วงใกล้เคียงกันกับ 元朝 (Yuān cháo | ราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1271—1368) และ 明朝 (Míng cháo | ราชวงศ์หมิง 1368-1644) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาษาจีนในสมัยนั้นยังออกเสียงเป็นสำเนียงภาษาจีนโบราณ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับภาษาจีนทางภาคใต้ เช่น กวางตุ้ง (广东话 | Guǎngdōng huà) และ ภาษาจีนแต้จิ๋ว (潮州话 | Cháozhōu huà)ในปัจจุบัน
หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือคำว่า "บาท" ได้รับอิทธิพล และ อาจจะมีที่มาจาก 潮州话 หรือภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีอักษรเดิมคือ 金+末 คือเป็นอักษรโบราณที่มี 金字旁 และ อักษร 末 (ดูอักษรได้จากภาพ) ออกเสียงว่า "บัวะ" และเพี้ยนมาเป็นคำว่า "บาท" ซึ่งได้ใช้บนธนบัตรสมัยรัชการที่ 5 ด้วย ในภายหลัง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนอักษรมาเป็น 铢 (ตัวเต็ม 銖)
ภาพธนบัตรสมัยรัชกาลที่ 5 มีการใช้ตัว บัวะ อยู่ด้วย ภาพจาก http://www.siambanknote.com/banknote-appraisal/th-1st-series-thaibanknote-price.htm
มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ค.ศ. 1782 - ปัจจุบัน) สยามได้เผชิญกับความกดดันของยุคจักรวรรดินิยมเป็นอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ 4-5 จนเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1902 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศปฎิรูปปรับเปลี่ยนเงินตราไทย เป็น เงินบาท และไม่ผูกกับน้ำหนักของโลหะอีกต่อไป มีหน่วยที่ประกาศใช้เหลือเพียงแต่ บาท, สลึง และ สตางค์ แต่หน่วยชั่งวัดยังคงใช้อยู่ในการชั่งวัดโลหะมีค่า
เมื่อถูกเรียกว่าเงิน "ไทยบาท" จึงได้นำอักษรที่มีความเกี่ยวข้องแต่โบราณมาใช้ และ กลายเป็น 泰铢 (Tàizhū) ในที่สุด
ไม่น่าเชื่อว่า แค่คำที่เราใช้กันอยู่กันเป็นประจำอย่างคำว่า บาท นี้ มีที่มาที่เก่าแก่และเชื่อมโยงไปถึงภาษาจีนโบราณขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม บาท ของไทย และ 銖 ของจีนนั้น ไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากันมาตั้งแต่โบราณ จึงสันนิษฐานได้เพียงว่ามีความเชื่อมโยงกันทางภาษาศาสตร์เท่านั้น หากผู้อ่านมีข้อมูลเพิ่มเติมยังไงมาคุยกันที่คอมเมนท์หรือแชทมาคุยกันได้เลยนะครับ
ในตอนหน้าจะมาต่อกันในเรื่อง การสร้างระบบการเรียนภาษาจีนด้วยตัวเอง ตอนที่ 3 รอบนี้จะเล่าถึงการเอา flow มาใช้ในโปรแกรม Notion ยังไงอย่าลืมติดตามกันนะครับ ระหว่างนี้อ่านตอนที่ 1 และ 2 ได้ที่นี่เลย
[[ เรียนเพื่อลืม ลืมเพื่อจำ เทคนิกเรียนจีนด้วย Spaced Repetition | สร้างระบบเรียนภาษาด้วยตัวเอง ตอนที่ 1 间隔重复 ]]
[[ วิธีเรียนภาษาจีนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ร่างมันออกมา | สร้างระบบเรียนภาษาด้วยตัวเอง ตอนที่ 2 制造自学的系统 ]]
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่
#อ้างอิง
โฆษณา