12 ธ.ค. 2023 เวลา 12:40 • สิ่งแวดล้อม
ดงสาร

"ทุ่งพันขัน" บ้านดงสาร ทรัพยากรอันล้ำค่าแห่งลุ่มน้ำสงคราม

บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) ริมฝั่งห่างจากหมู่บ้านเพียง 3-5 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อถึงฤดูฝนทุกปี น้ำจากลำน้ำสงครามจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง จากการขึ้นลงของน้ำในลำน้ำสงครามนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพย้ายถิ่นของปลาตามธรรมชาติ เมื่อเวลาน้ำหลากท่วมป่าบุ่งป่าทาม ปลาจากแม่น้ำโขงจะว่ายมาตามลำน้ำสงครามเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำ และเมื่อหมดฤดูน้ำ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในป่าบุ่งป่าทามก็จะเจริญงอกงาม ชาวบ้านก็จะได้อาหารจากป่าทาม ได้แก่ หน่อไม้ เห็ด และพืชสมุนไพร
ป่าบุ่งป่าทาม จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนที่ดอน อยู่ใกล้กับป่าทามที่อุดมสมบูรณ์
ดอนเล้าข้าวต้นไม้ใหญ่
  • แลนค์มาร์คทุ่งพันขันบ้านดงสาร
นายณัฎฐพล นิพันธ์ หรือผู้ใหญ่เด่น อายุ 61 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านดงสาร (14ก.ค.66) เล่าข้อมูลบริบทบ้านดงสารเพิ่มเติมว่า บ้านดงสารเป็นหมู่บ้านที่ยากจนมาก เป็นป่าบุ่งป่าทามแต่ก่อนขนานนามว่าทุ่งน้ำทุ่งไฟ คือว่า ในฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำสงครามจะท่วมทั้งหมดเหลือแต่หมู่บ้าน และในฤดูร้อน ไฟจะไหม้ทุ่งหญ้าแซง
บางปีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมากนัก จะเป็นซุปเปอร์มาร์เกตของชาวบ้านได้พึ่งพิงธรรมชาติ เช่น หาหน่อไม้ขาย มีมันแซงขาย เกิดผักป่ากินได้ เป็นต้น ชาวบ้านจะนำมาขายหรือแลกข้าวกับชุมชนใกล้เคียง
รอบเขตทุ่งพันขันมีแหล่งน้ำสำคัญๆ 2 แหล่งใหญ่ คือ ด้านทิศตะวันออกมีหนองหมากแซว และสายกุดสิ้วเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และด้านทิศเหนือติดกับแม่น้ำสงครามมีหนองคางฮุง เป็นกุดขนาดยาวทอดตามแนวแม่น้ำ น้ำทั้งสองแหล่งน้ำมีความสำคัญต่อบ้านดงสารเป็นอย่างมาก
หนองหมากแซว-สายกุดสิ้ว เป็นแหล่งหาปลา น้ำเลี้ยงวัว ควาย แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชน และมีป่าชุมชนดอนเล้าข้าวอยู่ติดกับแหล่งน้ำ ส่วนหนองคางฮุง เป็นพื้นที่บุ่งทามแม่น้ำสงครามที่มีทั้งไผ่กะซะ พืชป่าทามหลายชนิดขึ้นอยู่ทั่วพื้นที่หนอง เป็นแหล่งหน่อไม้ มันแซง เห็ด แมลง และที่สำคัญเป็นแหล่ง “ผ่าปลา” หรือ การขายบัตรจับปลาเพื่อนำรายได้ไปพัฒนาหมู่บ้านอีกด้วย
  • ปฏิทินชุมชนบ้านดงสาร
ฤดูฝน ชาวบ้านทำนาปี เฉพาะคนมีที่ทำกินด้านทางด้านทิศตะวันตก ส่วนทุ่งพันขันน้ำท่วมทั้งหมด แต่ชาวบ้านสามารถหาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ
ฤดูหนาว ชาวบ้านเริ่มทำนาปรัง หาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก รับจ้างทั่วไป
ฤดูร้อน ชาวบ้านเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง หาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป
  • การเปลี่ยนแปลงทุ่งพันขันเข้าสู่การทำนาปรัง
ช่วงปี 2518 หลังน้ำลดประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นจุดเริ่มต้นทำนาปรัง แต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกทำนาแซง หลังจากได้พื้นที่ทุ่งพันขันจากบริษัทคืนในปี 2542 จึงเริ่มจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำนาปรังมากขึ้น พอได้ผลผลิตมีข้าวกินจึงขยายเต็มพื้นที่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่พบ คือ ข้าวแข็งเป็นเมล็ดสีเหลืองขายได้ในราคาที่ถูกมากหรือเป็นอาหารสัตว์
ด้าน คุณครูสุวรรณ บงศ์บุตร ข้าราชการบำนาญและปราชญ์ชุมชน (14ก.ค.66) กล่าวว่า ในปัจจุบันปี 2566 ชาวบ้านดงสารและหมู่บ้านรอบข้าง เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทุ่งพันขัน เพื่อการเกษตรทำนาปรังช่วงหลังฤดูน้ำลดปลูกข้าวไว้บริโภค และเพื่อการดำรงชีพหาของป่า ซึ่งทรัพยากรไม่เพียงพอเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากมีชาวบ้านต่างชุมชนเช่าเหมารถเข้ามาใช้ทรัพยากรมากขึ้นทุกปี
ครูสุวรรณ บุงศ์บุตร
จากข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวบ้าน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในช่วง ปี พ.ศ.2545 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง (Google Earth) เปรียบเทียบกันในแต่ละปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในช่วงปี พ.ศ 2548 (ค.ศ. 2005 – 2006) เริ่มเห็นการปรับสภาพพื้นที่ป่าเป็นแปลงปลูกข้าว เมื่อผ่านไปอีก 8 ปี ช่วง ค.ศ. 2014 มีการจับจองพื้นที่ทุ่งพันขันทั้งหมดเพื่อทำการเกษตรปลูกข้าวนาปรัง และมีการพัฒนามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ทุ่งพันขัน
ความทาม
ป่าดอนเล้าข้าว
สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา
เรียบเรียงข้อมูลโดย : สมชาย เครือคำ
สนับสนุนจาก : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2566 โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
แหล่งอ้างอิง
1. การอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม : https://www.blockdit.com/posts/64e250c32553f8096fe4791e
2. ประวัติศาสตร์หมู่บ้านดงสาร https://www.blockdit.com/posts/6578b8abb5415074881bf320
โฆษณา