21 ธ.ค. 2023 เวลา 12:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ใครแทนใครในภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลก - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

เมื่อนักประวัติศาสตร์ในอนาคตมองย้อนกลับมาในยุคนี้ คงได้ข้อสรุปว่าจุดพลิกภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกกลับไม่ใช่สงครามการค้า ไม่ใช่วิกฤตโควิด (ที่แต่ละประเทศต่างล็อคดาวน์จนซัพพลายเชนโลกปั่นป่วน
แต่กลับเป็นสงครามยูเครนต่างหากที่เป็นตัวตอกฝาโลงโลกาภิวัตน์ ชนิดโลกเศรษฐกิจใบเก่าไม่มีวันย้อนคื
งงไหมครับ ในเมื่อสงครามยูเครนเกิดเฉพาะในยุโรป วิกฤตพลังงานก็ผ่อนคลายลงแล้ว และตอนนี้ก็ดูเหมือนผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จำกัดวงพอสมควร
1
แต่สงครามยูเครนได้เปลี่ยนการจัดวางแผนที่เศรษฐกิจโลกทั้งหมด หลังเกิดสงครามยูเครน หากเราเปิดฟังการเสวนาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมักเริ่มด้วยคำถามว่า หากต่อไปสหรัฐฯ รบกับจีนเรื่องเกาะไต้หวัน และจำเป็นต้องคว่ำบาตรจีน เหมือนที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรรัสเซีย สหรัฐฯ เองจะอยู่ได้ไหมในทางเศรษฐกิจ
2
รัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของโลก ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจจีนคิดเป็นร้อยละ 18 ของโลก
เศรษฐกิจรัสเซียกับสหรัฐฯ ไม่มีความเชื่อมโยงกันมากเท่าไหร่ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนนั้นเชื่อมโยงกันสูงมาก
3
ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทุนจากสหรัฐฯ ไปใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกและห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่ครบถ้วนในจีน ทำการผลิตสินค้าส่งออกไปขายทั่วโลก อยู่ๆ สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรเมืองจีน คงไม่ใช่จีนพินาศคนเดียว แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองจะพินาศไปด้ว
1
ข้อเสนอแนะทางนโยบายของผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ คือต้องค่อยๆ ถอดรื้อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ออกจากกัน ขั้นแรกสุดคือต้องไม่เพิ่มความเชื่อมโยงขึ้นมากกว่านี้ จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มลดความเชื่อมโยง บริษัทสหรัฐฯ แม้ยังไม่ออกจากจีน แต่หยุดขยายการลงทุนในจีน และในอนาคตคงค่อยๆ ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นเท่าที่จะทำได้
1
การถอดรื้อหรือ Decoupling เป็นศิลปะที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากถอดรื้อเด็ดขาดจากกันทันที ธุรกิจคงปรับตัวไม่ทัน ที่อื่นทางเลือกอื่นก็ยังไม่พร้อม แต่ในระยะยาวการค่อยๆ ถอดค่อยๆ รื้อความเชื่อมโยงระหว่างกันนั้นเกิดขึ้นแน่นอน
1
ในมุมสหรัฐฯ แผนที่ใหม่ก็คือ เอาอินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มาแทนจีนในเรื่องการเป็นฐานการผลิตและตลาด ทั้งสามประเทศมีประชากรมหาศาลและมีแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก (อินเดียประชากร 1.4 พันล้านคนเท่าจีน เวียดนาม 100 ล้านคน และอินโดนีเซีย 270 ล้านคน)
เวียดนามสามารถเป็นฐานการผลิตแรงงานราคาถูกและห่วงโซ่ซัพพลายเชนก็เชื่อมโยงใกล้ชิดกับจีน สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อกับฐานการผลิตและซัพพลายเชนชิ้นส่วนจากจีนได้ ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียนั้น แม้การเป็นฐานการผลิตจะยังไม่สามารถแทนจีนได้ด้วยคุณภาพแรงงาน กฎระเบียบ ความยากของการทำธุรกิจ แต่ด้วยตลาดผู้บริโภคขนาดมหึมา ย่อมมีศักยภาพที่จะแทนที่ตลาดผู้บริโภคจีนที่เริ่มอิ่มตัว
ที่น่าสนใจกว่านั้น ในวงนโยบายของจีน ก็ตั้งคำถามคล้ายกัน ถ้าไปดูคลิปงานเสวนาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ นักวิชาการจีนจะถามว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรจีนเหมือนที่คว่ำบาตรรัสเซียในกรณีที่เกิดสงครามไต้หวัน เศรษฐกิจจีนเองจะอยู่ได้ไหม
4
คำตอบก็คือ จีนพังแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงมาก และจีนเองก็เอาเงินสำรองไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ห้ามจีนใช้ดอลล่าร์ ฐานะการคลังจีนคงพินาศแน่
1
ข้อเสนอแนะทางนโยบายจากผู้เชี่ยวชาญของจีนจึงไม่ต่างจากผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ นั่นก็คือ ต้องค่อยๆ ถอดรื้อความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตก ในมุมของจีนนั้น ต้องเอาตลาดประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา เอเชียกลาง อาเซียนมาแทนตลาดตะวันตก
2
ขณะเดียวกัน ก็ต้องหยุดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพยายามกระจายสินทรัพย์ต่างประเทศของจีนที่อยู่ในรูปดอลล่าร์สหรัฐฯ ออกไปเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นเช่นทองคำ และต้องพยายามสร้างระบบการชำระเงินใหม่ขึ้นมาท้าทายระบบของฝรั่ง แน่นอนในระยะสั้นคงไม่สามารถแทนที่ระบบของฝรั่งได้ แต่ระยะยาวจีนต้องพยายามสร้างระบบทางเลือกขึ้นมาแข่งขันกับระบบการเงินของตะวันตก
3
สภาพของภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกตอนนี้ จึงไม่ใช่คำถามว่าจีนหรือสหรัฐฯ ใครโดดเด่นกว่ากัน เพราะต่างอ่อนแอลงทั้งคู่ จากเดิมที่จีนและสหรัฐฯ ค้าขายกันได้ประโยชน์และค้าขายไปได้ทั่วโลก ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างเตะขัดขากันเองและแบ่งโลกเป็นฝักเป็นฝ่าย การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งคู่จึงไม่อาจหวือหวาได้เหมือนในยุคโลกาภิวัตน์ช่วงฟ้าเปิดก่อนหน้านี้
3
ตรงกันข้าม ดาวรุ่งพุ่งแรงดวงใหม่จะกลายเป็นประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะได้ประโยชน์จากแผนที่เศรษฐกิจใหม่ เพราะทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างต้องการกระจายการลงทุนและสินทรัพย์มายังประเทศเหล่านี้แทน สำหรับสหรัฐฯ ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากจีน และสำหรับจีน ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดสหรัฐฯ และตะวันตก ในยุคที่ไม่รู้สงครามระหว่างสองยักษ์จะปะทุขึ้นเมื่อไหร่
1
แต่ในกลุ่มประเทศอื่นๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ทุกคนจะชนะหรือได้ส่วนแบ่งการค้าการลงทุนเท่าเทียมกัน ปัจจัยตัดสินย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทที่เอื้อต่อธุรกิจของแต่ละประเทศ
จึงน่าคิดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ หรือไทยจะตกขบวนเพราะแพ้ภัยตัวเองเนื่องจากไม่พร้อมไม่น่าดึงดูดพอ และกลับกลายมาเป็นอ่อนแอลงไปพร้อมกับสองยักษ์คือจีนและสหรัฐฯ ที่ต่างหดตัวลงทั้งคู่
1
โฆษณา