3 ม.ค. เวลา 08:14 • การเมือง

โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งไต้หวัน ชี้ชะตาการเมืองโลก - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ประเดิมปีใหม่กับการเลือกตั้งใหญ่ไต้หวันที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคม ตอนนี้ผลโพลโค้งสุดท้ายสูสีมาก คะแนนพรรครัฐบาล DPP นำอยู่ที่เสียงประมาณ 35% แต่ทิ้งห่างจากพรรค KMT ที่หายใจรดต้นคอมาอันดับ 2 ไม่เกิน 2-4% ส่วนพรรคที่สามอย่างพรรค TPP ห่างออกไปได้เสียงราว 15% ในขณะที่ยังมีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจอีกมากกว่า 10%
1
การแข่งขันสามเส้าในครั้งนี้ทำนายยากมาก แม้ในโค้งสุดท้าย จะเหมือนบีบชัดขึ้นว่าเหลือเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่มีโอกาสชนะ แต่คำถามคือ คะแนนของพรรคที่สามและของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจนั้น ในวินาทีสุดท้ายจะเลือกเทไปข้างไหน
เพราะฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรคที่สาม TPP มีทั้งคนที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับจีนให้ดีขึ้น (ซึ่งถ้าไม่เลือก TPP ก็คงหันไปเลือก KMT) กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันสูง เพียงแต่ผิดหวังกับพรรครัฐบาล DPP ที่ไม่สามารถแก้ปัญหารายได้และโอกาสของคนรุ่นใหม่ได้ (กลุ่มนี้ถ้าไม่เลือก TPP ก็คงหันไปเลือก DPP แทน)
1
แปลว่า ในมุมของ Strategic Voting เมื่อถึงโค้งสุดท้ายของสุดท้ายที่ผู้ลงคะแนนจะถูกบีบให้เลือกระหว่างสองขั้ว และจะเกิดกระแสรวมเสียงอย่าให้เสียงแตก ผู้สนับสนุนพรรคที่สามจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ไม่แน่ว่าคะแนนจากพรรค TPP จะเทไปที่พรรค KMT อย่างเดียว (ดังที่พรรค KMT คาดหวัง) เพราะฐานเสียงคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรค TPP อาจจะเลือกเทคะแนนไปให้พรรค DPP มากกว่าถ้าต้องเลือกระหว่าง DPP กับ KMT
1
บางคนบอกว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการเมืองไต้หวันตอนนี้อาจไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์กับจีนหรือเรื่องปากท้อง แต่เป็นเรื่องของความเบื่อ เพราะพรรครัฐบาลเดิม DPP ครองอำนาจมายาวนานถึง 8 ปี แล้ว ถ้าตั้งแต่แรกขั้วฝ่ายค้านสองพรรคสามารถตกลงส่งผู้สมัครร่วมกันได้ ก็คงชนะพรรค DPP แน่ แต่เมื่อฝ่ายค้านแตกเป็นสองพรรค การเลือกตั้งจึงสูสีกันแบบนี้
4
คนไม่น้อยแปลกใจกับจุดยืนของพรรค KMT ที่ครั้งนี้กล้าประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นมิตรกับจีน (หลายคนคิดว่าจุดยืนนี้ต่างจากกระแสคนรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันและไม่ชอบจีนสูง) แต่กลยุทธ์พรรค KMT ตอนนี้คือต้องการปลุกฐานเสียงเดิมของพรรคให้ออกมาเลือกตั้งให้มากที่สุด จึงใช้สโลแกน “เลือกเราไม่มีสงคราม” เล่นกับความรู้สึกหวาดกลัวสงครามของผู้คน
1
กลายเป็นการเลือกตั้งที่คนจะออกไปใช้สิทธิเลือกว่าเกลียดใครน้อยกว่ากัน คนที่เลือก KMT อาจไม่ได้ชอบ KMT มาก แต่เพราะเบื่อหน่ายกับแปดปีของพรรค DPP และหวาดกลัวสงคราม ขณะที่คนที่เลือก DPP ส่วนหนึ่งแม้จะเบื่อกับ DPP แต่ก็เกลียดกลัวการที่ KMT จะกลับมามากกว่า โดยเฉพาะกลัวจุดยืนเรื่องจีนเดียวของ KMT ที่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันถูกด้อยค่าไปในมุมมองของคนกลุ่มนี้
2
ดังนั้น ไม่ว่าสุดท้ายพรรคใดจะชนะ ก็คงไม่ได้บริหารงานง่ายๆ เพราะจริงๆ แล้ว รัฐบาลใหม่จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ไม่ว่าใครชนะรอบนี้น่าจะชนะอย่างฉิวเฉียด แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปี ที่แล้วที่พรรครัฐบาล DPP ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
1
นับถอยหลัง 10 วัน ยังต้องจับตาดูว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะแสดงท่าทีอะไรออกมาไหม เพราะเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว ท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน ทำให้สุดท้ายกระแสเทไปที่พรรครัฐบาล DPP เพราะคนไต้หวันต้องการแสดงให้เห็นว่าขู่เราไม่ได้ หรือยิ่งขู่เรา เรายิ่งจะโหวตสวนตบหน้าคุณ รอบนี้กองเชียร์พรรค KMT จึงลุ้นให้จีนแผ่นดินใหญ่อยู่เงียบๆ ดีกว่า อย่าแสดงจุดยืนหรือท่าทีอะไรอึกทึกครึกโครมก่อนเลือกตั้งอีกเลย
1
บางคนสงสัยว่า หากพรรครัฐบาล DPP ชนะอีกครั้ง จะเสี่ยงมากขึ้นอย่างไรต่อการเมืองโลก เพราะพรรค DPP ก็เป็นรัฐบาลมาแล้ว 8 ปี ถึงกระแสทะเลาะกับจีนจะหวือหวามีข่าวให้เราเสียวไส้เป็นระยะๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดสงครามจีน-ไต้หวัน ถ้ารักษาตัวรอดมา 8 ปี ก็น่าจะทำให้คนไต้หวันวางใจได้บ้างไหม
2
แต่ 8 ปี ที่ผ่านมา เป็นการนำภายใต้หญิงเหล็กช่ายอิงเหวิน ซึ่งถึงแม้เธอจะแข็งกร้าวต่อจีนเพียงใด เธอก็ยังไม่เคยล้ำเส้นแดงของจีน แต่ผู้นำพรรค DPP รอบนี้อย่างล่ายชิงเต๋อเคยประกาศในอดีตอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน และผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคก็เป็นอดีตตัวแทนไต้หวันประจำสหรัฐฯ
2
แม้ล่ายชิงเต๋อจะประกาศชัดเจนว่านโยบายต่อจีนจะไม่เปลี่ยนแปลงจาก 8 ปี ที่ผ่านมา แต่หลายคนมองว่า จีนจะต้องมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไต้หวันอย่างแน่นอนหากเขาชนะ หากคนที่เคยประกาศว่ามีความเชื่อเรื่องการประกาศเอกราชของไต้หวันชนะเลือกตั้ง คงเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้บางกลุ่มในปักกิ่งเริ่มเชื่อว่าหากปล่อยเวลาต่อไป เวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างจีน เพราะนับวันกระแสมวลชนในไต้หวันมีแต่จะห่างจากจีนออกไปเรื่อยๆ
หากพรรค KMT กลับมาเป็นรัฐบาล หลายคนเชื่อว่าความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันจะกลับมาดีขึ้น มีคนคิดถึงยุคฮันนีมูนระหว่างจีนกับไต้หวันในช่วง 8 ปี ของรัฐบาลหม่าอิงจิ่วในอดีต แต่แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งจะดีขึ้น แต่ก็คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบริบทตอนนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับในอดีต
1
ทั้งกระแสคนรุ่นใหม่ในไต้หวันที่มีความเป็นอัตลักษณ์ไต้หวันสูงขึ้น และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตกต่ำที่สุด การบริหารความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันจะยากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณกว่าในอดีต แม้จะเป็นยุคของรัฐบาลพรรค KMT ก็ตาม
2
การเลือกตั้งไต้หวันรอบนี้ชี้ชะตาการเมืองโลก เพราะหากพรรค DPP ชนะ ช่องแคบไต้หวันคงถึงจุดที่ร้อนที่สุดในรอบหลายปี และอาจร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเดินไปสู่สงครามในอนาคตข้างหน้า ซึ่งความเชื่อนี้จะยิ่งเร่งเครื่องการแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและตะวันตก เพราะตะวันตกต้องการกระจายความเสี่ยงออกจากจีนหากเกิดสงครามไต้หวันในอนาคต
ส่วนหากพรรค KMT กลับมาคว้าชัย ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันน่าจะราบรื่นขึ้น แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่าอาจยากที่จะกลับมาชื่นมื่นดังในอดีตอีกแล้ว และต้องตามลุ้นจุดสำคัญต่อไปคือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน และนโยบายต่อไต้หวันของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ด้วย
1
โฆษณา