25 เม.ย. เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Shōgun | 10/10

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โชกุน (Shōgun)​ โดย เจมส์ คลาเวลล์ ตีพิมพ์ในปี 1975 หนังสือโด่งดังทันที เพราะเป็นงานสนุก ผู้เขียนรีเสิร์ชอย่างละเอียด ผูกเรื่องอิงกับเหตุการณ์จริงและบุคคลจริงในประวัติศาสตร์
โชกุน เป็นเรื่องของศึกชิงอำนาจของขุนศึกญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลาที่อำนาจตะวันตกเริ่มเข้าไปยุ่มย่าม
ตัวละครที่เดินเรื่องคือ จอห์น แบล็คธอร์น ชาวอังกฤษผู้เดินทางหลงเข้าไปในญี่ปุ่นราวปี 1600 ตัวละครแบล็คธอร์นจำลองชีวิตของนักสำรวจชาวอังกฤษ วิลเลียม อดัมส์ หลวมๆ
แบล็คธอร์นไปเกี่ยวข้องกับตัวละครแม่ทัพ โยชิอิ โทรานางะ ซึ่งจำลองชีวิตของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ (1543–1616) โดยมีล่ามสาวชื่อมาริโกะ (ซึ่งจำลองชีวิตของ อเคชิ ทามะ) เป็นตัวประสานเรื่อง
ในโลกของความจริง อเคชิ ทามะ ย่อมไม่มีทางได้พบกับ วิลเลียม อดัมส์ แต่ในโลกของนิยาย ทั้งสองผูกพันกันด้วยบทบาทที่เกี่ยวพันกับการชิงอำนาจ
หนังเวอร์ชั่นนี้ไม่ได้เล่าเรื่องผ่านสายตาของ จอห์น แบล็คธอร์น เหมือนฉบับก่อน หนังให้น้ำหนักของบทที่ตัวละครญี่ปุ่นมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจบริบทต่างๆ ในเรื่องชัดขึ้น บริบทที่มองผ่านคนต่างชาติไม่ชัด
เรื่องจบที่สงครามเซกิกาฮาระที่ทำให้โทรานางะ (อิเอยาสึ) กลายเป็นโชกุน แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับสงครามเซกิกาฮาระ แต่คือการเมืองที่นำไปสู่สงครามเซกิกาฮาระ ดังนั้นฉากสงครามจึงไม่จำเป็น เพราะมันไม่ใช่หนังบู๊ มันเป็นหนังประลองปัญญากัน มันคือการเล่นหมากรุกการเมืองที่เดิมพันด้วยชีวิต
ซีรีส์เวอร์ชั่นนี้ใส่รายละเอียดมากมาย ทำให้สนุกและน่าสนใจ ย่อยเรื่องทั้งหมดลงในสิบตอน จะว่ายาวก็ยาวพอ จะว่าสั้นก็สั้น เพราะอยากจะรับความบันเทิงยาวอีกหน่อย!
หนังกระชับ ถ่ายทำสวยงาม ฉากยอดเยี่ยม จุดดีอีกเรื่องคือหนังเสียบปรัชญาเข้าไป ทำให้มีความลึกขึ้น บางตอนได้คะแนน 11/10 บางตอนก็ไม่ถึง โดยรวมเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงสูง และให้ความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ดี จนทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมหนังอิงประวัติศาสตร์และซามูไรญี่ปุ่นที่ฝรั่งทำ จึงออกมาดีได้ขนาดนี้ (อีกเรื่องคือการ์ตูน Blue Eye Samurai ไม่นานมานี้)
2
คำตอบคือการเล่าเรื่องเป็นเรื่องสากล และประวัติศาสตร์มนุษย์มีแค่ประวัติศาสตร์เดียว ไม่ว่าประวัติศาสตร์ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ถ้าคนสร้างหนังเข้าใจ ก็สามารถทำหนังประวัติศาสตร์ของทุกชาติได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนทำหนังเล่าเรื่องเป็นหรือไม่ รู้ว่าจะเล่าสาระหลักอะไรหรือไม่ และเห็นชัดว่าทีมงานโชกุนชุดนี้รู้ว่าจะทำอะไร
การเมืองของมนุษย์คือเรื่องการแย่งชิงอำนาจ และประวัติศาสตร์ทุกท่อนในอารยธรรมโลก ล้วนเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคืออำนาจเป็นเหมือนความฝันที่หลายคนไขว่คว้า หมายให้กลายเป็นความจริง แต่อาจไม่รู้ว่าตนอยู่ในโลกของความจริงหรือไม่
1
(ย่อหน้าถัดไปเป็นสปอยเลอร์)
ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ (A Dream of a Dream) เราเห็นแบล็คธอร์นในวัยชราที่ประเทศอังกฤษรำลึกถึงประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่เราไม่รู้ว่าแบล็คธอร์นได้กลับอังกฤษจริงหรือไม่ มันเป็นความจริงหรือความฝัน? หรือความฝันในความฝัน?
บางทีอำนาจที่ใครๆ ปรารถนา เป็นเพียงภาพลวงตาในความฝัน
เมื่อลืมตาตื่นจากความฝัน ก็อาจยังอยู่ในอีกความฝันหนึ่ง
แต่ผู้ที่จมในหลุมอำนาจก็มักเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง และเชื่อว่าอำนาจในมือตนอยู่คู่ฟ้า
ท้ายที่สุดเขาก็จากโลกไป เหมือนดอกไม้ที่ร่วงปลิวเพราะสายลมแห่งกาลเวลา
10/10
ฉายทาง Disney+
1
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา