1 พ.ค. เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น

แสงเซน

อาทิตย์ก่อนผมเล่าเรื่องอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ว่าเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเซน ผู้อ่านคนหนึ่งเขียนมาถามว่าหนังสือชื่ออะไร ผมตอบว่าจำไม่ได้
รายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับอาจารย์แสงฯนั้นเลือนหายไป แต่หลักใหญ่ๆ ยังคงอยู่ ว่างๆ จะค่อยเล่าส่วนที่จดจำได้
ความจริงนอกจากเขียนเรื่องเซนแล้ว อาจารย์แสงฯยังแปลไฮกุด้วยหลายบท
สถาปนิก นักออกแบบไม่น้อยอาจมองไม่ออกว่า กวีเกี่ยวกับงานที่ทำอย่างไร อาจารย์แสงฯแสดงให้เห็นตลอดเวลาว่ามันเกี่ยวกันอย่างยิ่ง ศิลปะแต่ละสายสอดคล้องกัน บทกวีมีการใช้จังหวะ สัมผัส สมดุล ซึ่งก็คือหลักเดียวกับที่ใช้ในงานออกแบบแขนงอื่น ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี
จะเป็นนักออกแบบที่ดี ควรหัดอ่านบทกวีด้วย
อาจารย์เห็นว่าการวาดรูปก็เหมือนการเขียนบทกวีไฮกุ ดังที่อาจารย์อ้างอิงคำกล่าวของกวีบะโชที่ว่า "จะต้องเตรียมตัวไว้ด้วยการฝึกฝน และเมื่อตัวเองได้รับจินตนาการที่ผุดขึ้นในฉับพลัน จะต้องจับการผุดในชั่วขณะนั้นลงในการสร้างไฮกุของตน ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อไฮกุได้จบลงแล้ว จึงไม่ควรไปแตะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป"
ดังนั้นงานของจิตรกรจีนและญี่ปุ่นในยุคก่อนจึงเป็นแบบเซนมาก คล้ายการบรรลุซาโตริแบบฉับพลัน
อาจารย์ใช้คำว่า "ฉับพลันทันใด"
เมื่อจับพู่กัน อาจารย์แสงฯวาดภาพแบบเร็วเสมอ ไม่เคยประดิดประดอย เป็นสโตรกเร็ว แบบกระบวนท่าเดียวอยู่!
การลงสีของจิตรกรจีนก็เป็นเซนมาก คือเน้นความว่าง
บทเรียนเกี่ยวกับสีน้ำที่ผมไม่เคยเจอจากที่ใดในโลกคือเรื่องความว่าง อาจารย์แสงฯสอนว่า หัวใจของการเขียนสีน้ำอยู่ที่ความว่าง (หมายถึงส่วนที่ไม่ลงสี) เข้าใจ 'ที่ว่าง' เมื่อไร ก็เข้าใจความหมายของ 'space' ในการออกแบบสถาปัตย์ทันที
จิตรกรสีน้ำที่มีฝีมือชั้นเซียนวัดกันที่ความว่าง ใครสามารถทิ้งพื้นที่ว่างได้มากกว่ากัน
2
ภาพวาดจีนจึงเว้นพื้นว่างไว้เสียมาก ไม่จำเป็นต้องเขียนเส้นขอบฟ้า
เพราะความว่างคือความลึก ความว่างคือความไม่มี
ความว่างเป็นหัวใจของงานศิลปะทุกชนิด สิ่งที่ศิลปินทำก็คือรักษาสมดุลของความว่างกับความไม่ว่าง
1
เรียนศิลปะกับอาจารย์แสงฯ จึงเป็นการเรียนปรัชญา ธรรมะ เซน ไฮกุ ไปพร้อมกัน
1
โฆษณา