27 เม.ย. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ก้าวต่อไปของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้โลกที่ไม่แน่นอน

GDP ไม่ใช่คำตอบเดียวของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามุ่งเป้าไปที่ตัวเลขการเติบโตของ GDP เป็นสำคัญ แต่เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นเชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาตลอดยังคงเป็นคำตอบที่ถูกหรือไม่ ?
ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ณ เมืองดาวอส ในเดือน ม.ค. 2024 ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย WEF จึงเสนอกรอบแนวคิดการเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ประเมิน “คุณภาพ” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละประเทศใน 4 เสาหลัก ได้แก่ นวัตกรรม (Innovativeness) ความทั่วถึง (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และการล้มยากลุกเร็ว (Resilience)
เศรษฐกิจไทยกับมิติใหม่ของการเติบโตเชิงคุณภาพ
ผลการประเมิน “คุณภาพของการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทย” จากกรอบแนวคิด WEF พบว่า ไทยมีปัญหาการเติบโตเชิงคุณภาพมากที่สุดใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness (คะแนนต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมากสุด) และ Sustainability (คะแนนน้อยสุด) หากพิจารณาบริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันด้วยแล้ว จะพบว่า
(1) Inclusiveness สะท้อนจากรายได้ของคนไทยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย และมีหนี้สูง ผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง
ขณะที่ (2) Sustainability ของไทย สะท้อนจากการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนด้านนี้
การเตรียมความพร้อมเชิงคุณภาพของไทย เพื่อรับมือโลกที่เปลี่ยนไป
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพในระยะข้างหน้า จะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป SCB EIC ประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystem) สำคัญ ตามความเร่งด่วน ดังนี้
1. การยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ
โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน
2. การยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
หากปัญหาเชิงคุณภาพของระบบเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้ว ย่อมส่งผลบวกกลับมาช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณที่วัดจาก “GDP” ของไทยสูงขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน
สำหรับภาคธุรกิจไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ จึงควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไรภายใต้บริบทโลกใหม่ ผ่านการมองภาพใหญ่ว่าธุรกิจต้องการจะปรับตัวไปสู่อะไร ด้วยเหตุผลอะไร
ซึ่งจะครอบคลุมขั้นตอนการวางกรอบความคิด ขั้นตอนการดำเนินงาน และขั้นตอนการขับเคลื่อนแผนให้เกิด New business model ได้จริง ผ่านการสร้าง “ความพร้อม 4 ด้าน” คือ ความพร้อมของแหล่งเงินทุน ความพร้อมของโมเดลปฏิบัติการ
ความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูล ความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรและพนักงาน
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับออนไลน์ได้ที่…
นำเสนอบทวิเคราะห์ : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
โฆษณา