2 พ.ค. เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น

Matthieu Ricard ชายผู้มีความสุขที่สุดในโลก

แมทธิว ริคารด์ (Matthieu Ricard) เกิดในครอบครัวปัญญาชน เป็นบุตรของนักปรัชญามีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ตั้งแต่เด็กบ้านของเขาหัวกระไดไม่เคยแห้ง มีปัญญาชนไปเยี่ยมเสมอ ตั้งแต่นักคิด นักเขียน จิตรกร นักดนตรี หลายคนเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล ทั้งหมดชอบไปถกคุยกัน
ปี 1972 แมทธิวเรียนจบปริญญาเอกสาขาพันธุกรรมโมเลกุลจากสถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส ในวัย 26 เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตในสภาพแวดล้อมนั้น เขารู้สึกว่ามีบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต เขาเชื่อว่ามีคำตอบในโลกตะวันออก
เขามุ่งหน้าไปที่อินเดีย
บิดาของเขาไม่พอใจนักที่เขาไปค้นหาคำตอบในโลกตะวันออก แต่เขาก็ไปจนได้ นักพันธุกรรมโมเลกุลหนุ่มละทิ้งทุกอย่างไปศึกษาพุทธทิเบต ณ อารามแห่งหนึ่งที่กาฐมาณฑุ เนปาล เทือกเขาหิมาลัย
ผ่านไปราว 26 ปีใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แมทธิวก็กลับบ้าน และมีโอกาสถกปรัชญาชีวิตกับพ่อ บทสนทนาของทั้งสองกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ชื่อ The Monk and the Philosopher หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง
เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียงทันที
และกลายเป็นคนดังอีกครั้งในปี 2007 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทางประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ทดลองสแกนสมองของเขา และประกาศว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก
ในช่วงที่ แมทธิว ริคารด์ ศึกษาพุทธที่เนปาล เขาฝึกสมาธิคนเดียวในกระท่อมบนภูเขานานห้าปี
เขาเรียนจากพระทิเบตว่า เราต้องรับรู้การผูกพัน อัตตาเป็นตัวขับเคลื่อนการยึดมั่นถือมั่น แต่เราสามารถขจัดมันทิ้งด้วยการอยู่กับปัจจุบันและความเมตตา
อาจารย์ของเขาสอนว่า “ขบวนรถไฟแห่งความคิดและสภาวะจิตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนรูปทรงของก้อนเมฆบนท้องฟ้า แต่เราชอบยึดมั่นให้ความสำคัญกับมัน”
2
การทำสมาธิเป็นทางหนึ่งที่จะ ‘ขโมย’ จิตของเราคืนมา
เขาใช้หลักสามอย่างในการทำสมาธิ นั่นคือความเมตตา การเจริญสติ และการวิเคราะห์
รากฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขามองโลกแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นรากของพุทธศาสนาเช่นกัน เขาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต
“ภายในตัวเราทุกคนคือการออกแบบของโลก เรามีความสามารถที่จะเข้าถึงและเข้าใจจักรวาล เพื่อกลายเป็นรูปแบบอื่น ๆ”
2
สรรพสิ่งในโลกเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนรูปของสิ่งเดิม
เขาบอกคนที่มาเยือนว่า “เธออาจมีโมเลกุลของ เจ็งกิส ข่าน ในตัวเธอ”
สรรพสิ่งและชีวิตเชื่อมโยงกันในรูปแบบต่าง ๆ
บางครั้งเขาชี้ที่ถ้วยชาแล้วกล่าวว่า “นี่คือน้ำชาที่เธอดื่มตอนนี้ อีกหกชั่วโมงมันจะกลายเป็นเธอ”
คนจำนวนมากไม่มีความสุขเพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
“การเปรียบเทียบคือตัวฆ่าความสุข เราไม่เปรียบตัวเรากับ บิล เกตส์ แต่เปรียบกับเพื่อนบ้าน เรามักสังเกตว่าเพื่อนบ้านใช้รถอะไร ไปเที่ยวที่ไหน”
เราเปรียบเทียบเสมอ แม้ว่าไม่พูดอะไรออกมา แต่ก็อาจเปรียบเทียบโดยจิตใต้สำนึก
2
เขาบอกว่าเราต้องเข้าใจวิธีคิดและความคิดของเรา เช่น เราคิดว่าเราสามารถควบคุมโลก แต่ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นความวุ่นวาย เราทำได้เพียงเปลี่ยนจิตของเราเกี่ยวกับมัน
บางครั้งเราไปซื้อรถ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. แต่เราจดจ่อที่รถจนเราลืมไปแล้วว่าจุด ก. จุด ข. อยู่ที่ไหน
เขากล่าวว่า การแสวงหาความสบายหรือที่เขาใช้คำว่า pleasant sensations (ความรู้สึกสุขสบาย) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความสงบสุข แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธความรู้สึกสุขสบายเมื่อมันมาหา เพียงแต่ต้องระวังว่าความรู้สึกสุขสบายไม่ใช่สิ่งถาวร และไม่ได้รับประกันความสุขโดยธรรมชาติ
4
“เมื่อเรารื้ออัตตาของเราออก เราก็จะเริ่มมองเห็นโลกจริง ๆ... การยึดมั่นถือมั่นกับอัตตาเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับความทุกข์ที่เรารู้สึก และความทุกข์ที่เราให้คนอื่น อิสรภาพเป็นเรื่องตรงกันข้าม”
(ท่อนหนึ่งจากบทความ ชายผู้มีความสุขที่สุดในโลก / หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ ชุด S10 ชีวิตที่ดี + หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ + แถมเป่ย ฉบับทดลองอ่าน
สั่งจาก Shopee คลิกลิงก์ https://shope.ee/1LIFbnHXOK?share_channel_code=6
สั่งจากเว็บ คลิกลิงก์ https://www.winbookclub.com/.../%28S10%29%20%E0%B8%8A%E0...
โฆษณา