3 พ.ค. เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น

แสงเซน (3)

(บทความอาจารย์แสงอรุณตอนต่อ)
เพื่อนคนหนึ่งของอาจารย์แสงฯเล่าว่า "แสงอรุณรักชีวิตชนบท สมัยเรียนมัธยม 5-6 ทั้งสองมักไปสูดไอดินหลังฝนตก ชอบดูต้นไม้ในป่าหลังฝนตก แสงอรุณบอกว่ามันทำให้เขา เบิกบานอิ่มเอิบหัวใจ"
ตอนเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ฝีมือการวาดเขียนของแสงอรุณก็ล้ำหน้าเพื่อน ๆ อย่างทาบไม่ติด มือของเขาอ่อนนุ่ม หมุนแท่งดินสอในมืออย่างคล่องแคล่ว นิ้วที่ยาวเกือบเท่ากันทุกนิ้วเคลื่อนไหวตลอดเวลาและมีชีวิตเมื่อได้แตะดินสอหรือพู่กัน เขาบอกว่าถ้าได้นวดมือด้วยน้ำข้าวอุ่น ๆ ตอนเช้า จะดีขึ้นมาก
วทัญญู ณ ถลาง เพื่อนร่วมชั้นมัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบเล่าว่า แสงอรุณนั่งหลังชั้นแถวสุดท้ายเพราะร่างสูง เขาเป็นคนเงียบแต่ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ เขียนรูปได้ดี ฝีมือสเก็ตช์ของเขาเฉียบขาด ชอบฟังดนตรีคลาสสิก
ตอนเรียนสถาปัตย์ปีที่ 5 นิสิตต้องไปเรียนวิชาประติมากรรมที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเรียนกับปรมาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ก็จดจำศิษย์ฝีมือดีคนนี้ได้ดี
วันหนึ่งแสงอรุณติดธุระไม่ได้ไปเรียน ท่านก็ถามนิสิตคนอื่นว่า "นายคนที่ชอบปั้นนั่นหายไปไหนนะ ?"
กาลต่อมาเมื่อเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในวิชาที่เขาถ่ายทอดก็คือประติมากรรม เพราะเล็งเห็นความสำคัญของวิชานี้ วิชาประติมากรรมทำให้เข้าใจวิชาสถาปัตยกรรมดีขึ้น เพราะทั้งสองวิชานี้ใช้หลักเดียวกันคือการรักษาสมดุลของ solid กับ void (ความไม่ว่างกับความว่าง)
เขาชอบความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ครั้งหนึ่งขณะผ่านไปที่เยาวราช สะดุดตากับรูปปั้นควายตัวหนึ่งบนแผงลอย มันเป็นควายในน้ำ ศิลปินปั้นตัวควายเฉพาะส่วนที่พ้นน้ำ ดังนั้นพื้นโต๊ะที่วางควายก็คือผิวน้ำ เขาชอบความสดใหม่แบบนี้
แสงอรุณมีฝีมือในการเขียนภาพลายเส้นและภาพวาดสีน้ำ เขาเขียนว่า "...เส้นสีดำสีเดียวเท่านั้น เราสามารถถอดความอลังการของธรรมชาติ ถ่ายจินตนาการ และความบันดาลใจ ตลอดจนความคิดปรารถนาของเราออกมาให้ปรากฏเป็นภาพได้อย่างสมบูรณ์ ได้ผลอภิรมย์ทางใจอย่างสูง"
ความสนใจทั้งทางด้านออกแบบอาคาร ประติมากรรม และความรักงานจิตรกรรม หล่อหลอมชายหนุ่มให้เป็นผู้ที่เข้าใจศิลปะแต่ละแขนงในเชิงลึก ทว่าความชอบศิลปะก็มีราคาของมัน เขาสอบได้ที่โหล่ในวิชาคำนวณ!
ในชั้นมัธยมปลาย อาจารย์ประจำชั้นตั้งระเบียบว่า ใครที่สอบคำนวณได้ที่โหล่ต้องนำของมาฝากให้คนที่สอบได้ที่หนึ่ง แสงอรุณก็นำรางวัลไปมอบให้คนที่ได้ที่หนึ่ง เป็นนิตยสารศิลปะจากอังกฤษ Illustrated London Times ราวกับจะบอกเพื่อนว่า "เฮ้ย ! เรียนศิลปะสนุกกว่าโว้ย!"
การได้ศึกษากับอาจารย์ระดับปรมาจารย์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ทำให้แสงอรุณในวัยหนุ่มเห็นคุณค่าของการสอนที่ดี มีเมตตา มีวิญญาณความเป็นครู
นี่คือที่มาของครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะของไทย ผู้ที่ลูกศิษย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เรียกสั้น ๆ ว่า อาจารย์แสงฯ ตั้งแต่นั้นเงาร่างนี้ก็ปรากฏในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
นิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคนต้องผ่านการเรียนกับอาจารย์แสงฯ ในวิชาสเก็ตช์ภาพ ใช้ดินสอดำเป็นหลัก อาจารย์สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ ศิษย์คนหนึ่งเล่าว่า ตอนเรียนปีหนึ่ง นิสิตรุ่นพี่คนหนึ่งแอบมาบอกคนทั้งชั้นว่าอาจารย์แสงฯเป็นคนดุมาก อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ดังนั้นเวลาอาจารย์เข้ามาในห้อง ให้ทุกคนลุกขึ้นยืนต้อนรับอย่างดี
เวลานั้นไม่มีนิสิตใหม่คนใดรู้ว่าหน้าตาอาจารย์แสงฯเป็นอย่างไร รุ่นพี่ก็บอกว่าเป็นคนร่างใหญ่ ตัวดำ
ไม่นานคนร่างใหญ่ ตัวดำ ท่าทางดุก็เดินเข้ามาในชั้นเรียน นิสิตทั้งชั้นก็ลุกขึ้นต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน ชายคนนั้นมีสีหน้างุนงงอย่างยิ่ง ปรากฏว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ฉายสไลด์ หัวเราะอย่างขำ ๆ กันทั้งห้อง
ครั้นนิสิตใหม่พบอาจารย์แสงฯตัวจริง กลับตรงข้ามกับสิ่งที่รุ่นพี่อำ อาจารย์แสงฯบอกศิษย์ว่า "พวกคุณไม่ต้องทำความเคารพผม ไม่ต้องยกมือไหว้ผม เพราะผมไม่สนใจ สาระอยู่ที่เรียน"
อาจารย์แสงฯไม่ชอบให้วาดรูปในห้องเรียน มักพานิสิตออกไปทำกิจกรรม 'ศิลป์สัญจร' นอกมหาวิทยาลัย วาดรูปตามสวนสาธารณะ วัดวาอารามต่าง ๆ บางครั้งพานิสิตไปต่างจังหวัด เช่น อ่างศิลา บางแสน บุรีรัมย์ ฯลฯ
หลังจากวาดรูปเสร็จแล้วก็ถึงเวลาตรวจการบ้าน โดยการวิจารณ์งานหน้าชั้น ว่าไปทีละชิ้น ฝีปากของอาจารย์คมกริบเหมือนใบมีดโกน แต่ก็สอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปเสมอ
หัวใจของการวิจารณ์ของอาจารย์แสงฯคือการชี้แนะ ชี้ให้เห็นว่างานชิ้นนั้น ๆ ดีหรือไม่ดีอย่างไรด้วยการวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม การวิเคราะห์ วิจารณ์งานศิลปะแบบนี้ทำให้นิสิตเรียนรู้ได้เร็วกว่าการตรวจการบ้านธรรมดา เป็นการพัฒนางานไปโดยปริยาย
ในชั่วโมงแรกของการวิจารณ์ อาจารย์แสงฯหยิบงานชิ้นหนึ่งของนิสิตขึ้นมา ถามว่า "นี่เป็นของใคร"
เพื่อนชื่อ เศรษฐวัฒน์ หาญศิริวัฒนา ตอบว่า "ของผมครับ"
อาจารย์แสงฯบอกว่า "วิชานี้คุณได้เกรด A ไม่ต้องมาเรียนอีก"
แต่ไม่มีใครที่ได้ A แล้วไม่โผล่หน้ามาอีก เพราะการได้ดูชมอาจารย์วิจารณ์งานนั้นเป็นภาคบันเทิงที่ไม่มีใครอยากพลาด
สำหรับผมเอง งานสเก็ตช์ของผมในชั้นปีที่ 1 อยู่ในเกณฑ์ธรรมดา ภาพแรกๆ ได้ C บ้าง B บ้าง ก็ฝึกจนพอจับเคล็ดได้ ท้ายเทอมจึงได้ A มาชิ้นหนึ่ง
แต่สิ่งที่ดีที่สุดมิใช่คะแนน หากคือประสบการณ์การวิจารณ์ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมความรู้ ความเมตตา และอารมณ์ขัน
(รูปประกอบ ภาพสเก็ตช์ฝีมือเพื่อนร่วมชั้น เศรษฐวัฒน์ หาญศิริวัฒนา)
โฆษณา