28 เม.ย. เวลา 09:38 • ความคิดเห็น

Fluke หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024

เมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมไปเที่ยวไต้หวันกับภรรยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในไทเป
เวลาไปต่างประเทศ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแวะเวียนเข้าร้านหนังสือ เราเลยเลือกไปเดินร้าน Eslite Spectrum Nanxi
หลังจากขลุกอยู่ในร้านร่วมสองชั่วโมง ก็ได้หนังสือมา 4-5 เล่ม และหนึ่งในนั้นก็คือ "Fluke - Chance, Chaos, and Why Everything We Do Matters" เขียนโดย Brian Klaas
4
จะว่าไปก็เป็นเรื่องฟลุก ที่ผมบังเอิญเจอหนังสือเล่มนี้บนชั้นที่หันแต่สันปกออกมา แถมผมยังไม่เคยได้ยินชื่อผู้เขียนมาก่อน แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสือมาแล้วถึง 5 เล่ม อาจเพราะว่าส่วนใหญ่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมือง
Fluke ที่เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับหลายอย่างจนอธิบายไม่ถูก ถ้าจะให้เลือกธีมหลักของ Fluke สักหนึ่งเรื่อง ก็คงเป็น Chaos Theory หรือทฤษฎีไร้ระเบียบ ที่เราอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวของผีเสื้อกระพือปีกในเมืองจีนแล้วทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในอเมริกา อะไรทำนองนั้น
3
เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว "มึน" มาก โดยเฉพาะช่วง 100 หน้าแรก เพราะมันทำให้ผมต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกับหลายเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังไม่ได้เขียนถึง เพราะผมอยากทอดเวลาให้พอรู้ว่า หนังสือเล่มนี้มันจะ "ทำงานกับผม" อย่างไรบ้าง
แล้วก็ได้พบว่า ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ผมยัง "มูฟออน" จากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ เลยคิดว่าถึงเวลาต้องเขียนถึงหนังสือเล่มนี้เสียที เพราะมันดีมากๆ และอยากให้คนไทยได้อ่านกัน
5
บทความนี้จะไม่ใช่การสรุป แต่เป็นการ “พลิกดูหน้าแรกๆ” ว่าหนังสือเล่มนี้จะพาเราไปไหนบ้าง
จากนั้นผมจะทอดเวลาสัก 2 เดือนเพื่อให้ผู้ที่สนใจไปหาหนังสือมาอ่านกัน แล้วผมจะนัดพูดคุยออนไลน์เพื่อให้เราได้แลกเปลี่ยนกันในปลายเดือนมิถุนายน ใครสนใจสามารถลงชื่อเป็น waiting list ได้ในช่วงท้ายบทความครับ
3
-----
คนไทยส่วนใหญ่คงรู้ดีว่า หนึ่งในฉากจบที่สำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง คือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิม่าและเมืองนางาซากิ
6 สิงหาคม 1945: Little Boy ถูกทิ้งลงฮิโรชิมา มีผู้เสียชีวิต 140,000 ราย
9 สิงหาคม 1945: Fat Man ถูกทิ้งลงนางาซากิ มีผู้เสียชีวิต 80,000 ราย
4
แต่ทราบหรือไม่ครับว่า เป้าหมายแรกของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ไม่ใช่ฮิโรชิม่า แต่เป็นเกียวโต แถมตอนแรกเมืองนางาซากิก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของเมืองที่จะถูกทิ้งระเบิดด้วยซ้ำ
ทำไมชาวเมืองเกียวโตถึงรอดชีวิต? ทำไมชาวเมืองฮิโรชิม่ากับนางาซากิสองแสนคนถึงมอดมลาย?
1
คุณจะเชื่อหรือไม่ ถ้าผมจะบอกว่าต้นเหตุมาจากทริปของคู่รักและก้อนเมฆ
-----
ในวันที่ 30 ตุลาคมปี 1926 นายเฮนรี สติมสัน (Henry L. Stimson) และภรรยาเดินลงจากรถไฟไอน้ำที่เมืองเกียวโต และเข้าเช็คอินที่ห้องหมายเลข 56 ของโรงแรมมิยาโกะ (Miyako Hotel - ซึ่งตอนนี้ก็ยังเปิดทำการอยู่)
1
เมื่อเก็บของเรียบร้อยแล้ว พวกเขาออกไปเดินเล่นไปทั่วอดีตเมืองหลวง ดื่มด่ำกับสีสันอันสดใสของฤดูใบไม้ร่วง ต้นเมเปิลญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และต้นแปะก๊วยเบ่งบานเป็นสีเหลืองทอง ทั้งสองเยี่ยมชมสวนสวยบริสุทธิ์ของเกียวโตที่ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาหินตะกอนที่โอบล้อมเมือง และชื่นชมวัดวาอารามอันเก่าแก่และมรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามแห่งนี้
1
ในสัปดาห์ถัดมาทั้งสองก็เก็บกระเป๋าและเช็คเอาท์จากโรงแรมมิยาโกะ
ไม่มีใครคาคคิดว่า การมาเที่ยวเกียวโตของสามีภรรยาคู่นี้จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไปตลอดกาล
-----
19 ปีผ่านไป ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 หลังจากนาซีประกาศยอมแพ้สงครามได้ไม่นาน และระเบิดนิวเคลียร์ใกล้จะสำเร็จ สหรัฐได้ตั้งคณะกรรมการ 13 คนขึ้นเป็น Target Committee เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในเมืองใดของญี่ปุ่น
โตเกียวนั้นเสียหายจากศึกสงครามจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว คณะกรรมการจึงเห็นตรงกันว่าเกียวโตคือเมืองที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นเมืองหลวงเก่า มีโรงงานผลิตอาวุธสงคราม มีมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เต็มไปด้วยปัญญาชน การทิ้งระเบิดที่นี่ย่อมทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียขวัญอย่างแน่นอน
นอกจากเกียวโตแล้ว ยังมีอีกสามเมืองที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นเมืองเป้าหมายสำรอง คือ ฮิโรชิมา (Hiroshima) โยโกฮาม่า (Yokohama) และ โคคุระ (Kokura) รายชื่อของทั้งสี่เมืองถูกส่งไปให้ประธานาธิบดีทรูแมน (Harry S. Truman) อนุมัติ
แต่ในช่วงเวลานั้น นาย Henry Stimson - ผู้เคยมาเที่ยวเกียวโตกับภรรยาเมื่อ 19 ปีก่อนหน้า - ดำรงตำแหน่งเป็น Secretary of War ซึ่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน และเขาไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงที่จะทิ้งระเบิดในเกียวโต จึงเข้าพูดคุยกับ Target Committee เพื่อโน้มน้าว แต่เมื่อคณะกรรมการยืนกรานว่าเกียวโตต้องเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง นายสติมสันจึงขอเข้าพบประธานาธิบดีทรูแมนถึงสองครั้งเพื่อขอให้ทรูแมนพิจารณาเสียใหม่
4
สุดท้ายทรูแมนจึงยอมทำตามที่สติมสันขอ เกียวโตถูกถอดชื่อออกจากเมืองเป้าหมาย ฮิโรชิม่าถูกเขยิบขึ้นมาเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง และเมืองนางาซากิถูกเพิ่มชื่อเข้ามาเป็นเมืองสำรองในนาทีสุดท้าย
2
วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 1945 เวลา 8:15 ระเบิดนิวเคลียร์นาม Little Boy ก็ถูกปล่อยลงเมืองฮิโรชิม่า
สามวันถัดมา ในวันพฤหัสที่ 9 สิงหาคม เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ถูกส่งไปที่เมืองโคคุระ (อยู่ไม่ไกลจากฟูกุโอกะ) แต่เนื่องจากขณะนั้นเมืองโคคุระมีเมฆปกคลุมหนาแน่น มองไม่เห็นพื้นดิน สุ่มเสี่ยงว่าจะโจมตีไม่โดนจุดสำคัญ กองทัพจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เมืองนางาซากิ ซึ่งขณะนั้นก็มีเมฆปกคลุมเหมือนกัน เครื่องบินบินวนอยู่อย่างนั้นจนน้ำมันจวนเจียนจะหมดถัง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจล้มเลิกภารกิจ ฟ้าก็เปิดพอดี ระเบิด Fat Man จึงถูกปล่อยลงเมืองนางาซากิเมื่อเวลา 11:02
3
ชาวเมืองนางาซากินั้นถือว่าโชคร้ายซ้ำซ้อน ตอนแรกเมืองนางาซากิไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่ดันถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อเพราะนายสติมสันไปขอให้ถอดเกียวโตออก และแม้กระนั้น เหตุผลเดียวที่นางาซากิโดนบอมบ์ ก็เพราะว่าเมืองโคคุระมีเมฆบัง
1
ส่วนชาวโคคุระเองก็โชคดีมาก และไม่เคยรู้เลยว่ารอดชีวิตมาได้เพราะโชคช่วยจนกระทั่งเรื่องราวถูกเปิดเผยโดยสหรัฐในหลายปีต่อมา จนชาวญี่ปุ่นเองก็มีสำนวน "โชคของโคคุระ" (Kokura's Luck) เอาไว้อธิบายถึงเวลาที่เราแคล้วคลาดโดยไม่รู้ตัว
5
------
กลับไปที่คำถามที่ผมเกริ่นเอาไว้ก่อนหน้า
ทำไมชาวเมืองเกียวโตถึงรอดชีวิต? ทำไมชาวเมืองฮิโรชิม่ากับนางาซากิสองแสนคนถึงมอดมลาย?
มันเมคเซนส์หรือ ที่ชีวิตคนนับแสนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายของทริปเมื่อ 19 ปีก่อนหน้า
บางคนอ่านเรื่องราวนี้แล้วอาจเกิดปฏิกิริยาได้สองแบบ
อย่างแรก อาจจะคิดว่า ถึงไม่ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าหรือนางาซากิ ยังไงญี่ปุ่นก็แพ้สงครามอยู่ดี ประวัติศาสตร์คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่ Brian Klaas ผู้เขียน Fluke ก็ชวนคิดต่อว่า การที่คนนับแสนในเมืองหนึ่งรอด และคนนับแสนอีกเมืองหนึ่งเสียชีวิต มันจะไม่มีผลต่อประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นจริงหรือ? ญี่ปุ่นจะมีโฉมหน้าเหมือนวันนี้จริงหรือถ้าเกียวโตโดนระเบิดนิวเคลียร์และนางาซากิไม่โดน?
1
ส่วนอีกปฏิกิริยาหนึ่ง คืออาจมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องฟลุก โอกาสเกิดขึ้นแค่หนึ่งในล้าน มันเป็นเพียงแค่ noise ไม่ใช่ signal ไม่ควรให้ความสลักสำคัญกับมันมากนัก
4
หนังสือ Fluke จะบอกให้เราเข้าใจว่า เรื่องฟลุกๆ นั้นเกิดกับเราบ่อยกว่าที่เราเคยคิด
1
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเราเอง จะพบว่าชีวิตเรามาถึงจุดนี้ได้ด้วยลูกฟลุกแทบไม่ถ้วน
2
เอาแค่ตัวเราก่อน การที่ตัวเราเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะพ่อแม่เราได้เจอกันและมีลูกด้วยกัน และพ่อแม่เราเกิดมาได้ ก็เพราะว่าปู่กับย่าให้กำเนิดพ่อขึ้นมา และตายายให้กำเนิดแม่เราขึ้นมา ถ้าบรรพบุรุษตลอดเชื้อสายของเราคลาดกันแม้แต่คู่เดียว ตัวเราในวันนี้ก็จะไม่ได้ลืมตาดูโลก
ใครที่เคยดูหนังย้อนเวลาอย่าง Back To The Future ก็คงจะจำได้ว่าด็อกเตอร์ที่สร้างยานย้อนเวลานั้นเตือนพระเอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าถ้ากลับไปในอดีต พระเอกต้องห้ามคุยกับใคร เพราะมันจะเปลี่ยนอดีตจนทำลายโลกในปัจจุบันของพระเอกไปด้วย แต่พระเอกก็ดันพลาด ไปเจอกับแม่ตัวเองในวัยสาว แม่เกือบจะไม่ได้รักกับพ่อของพระเอก และพระเอกเกือบจะ "ตาย" เพราะเกือบจะไม่ได้เกิด
3
ทุกคนเข้าใจดีว่า ถ้าย้อนอดีตแล้วเปลี่ยนอะไรเพียงนิดเดียว โลกปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล
2
แต่เราอาจลืมนึกไปว่า ในทางกลับกัน ถ้าในวันนี้เราเปลี่ยนอะไรแม้เพียงนิดเดียว อนาคตก็ย่อมเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลได้เช่นกัน
8
การที่ "ตัวเรา" จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องให้ทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้าเกิดขึ้นตามนั้นเป๊ะๆ ไม่ใช่แค่การที่พ่อกับแม่ได้รักกัน แต่รวมถึงแม้กระทั่ง "เสี้ยววินาทีของการปฏิสนธิของตัวเรา" ด้วย
1
ถ้าพ่อแม่ของเราเข้าห้องนอนช้ากว่านี้หรือเร็วกว่านี้แค่ไม่กี่วินาที สเปิร์มที่ไปถึงรังไข่จะเป็นสเปิร์มคนละตัว พ่อแม่ของเราอาจจะยังมีลูกอยู่ดี แต่เด็กคนนั้นจะเป็นเด็กอีกคนที่ไม่ใช่เรา
1
การที่ "ตัวเรา" ได้เกิดมา จึงเป็นลูกฟลุกซ้อนลูกฟลุกนับครั้งไม่ถ้วน
1
และถ้ามองใน time scale ที่ยาวไกลไปกว่านั้น ก็จะเห็นได้ว่าการที่เผ่าพันธุ์ Homo Sapiens ได้ขึ้นมาครองโลกก็เป็นลูกฟลุกเหมือนกัน
1
-----
นับแต่ตั้ง 250 ล้านปีที่แล้ว เผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดบนโลกใบนี้ก็คือไดโนเสาร์
ไดโนเสาร์ครองโลกอยู่เกือบสองร้อยล้านปี จนกระทั่งเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ที่มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 14 กิโลเมตร ตกลงมาบริเวณคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán Peninsula ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน)
อุกกาบาตตกลงในจุดที่น้ำไม่ลึกนัก กระทบกับชั้นหินที่เต็มไปด้วยยิปซัมด้วยแรงทำลายล้างเทียบเท่าระเบิดที่ฮิโรชิม่า 10,000 ล้านลูก
แรงระเบิดได้ปลดปล่อยเมฆกํามะถันพิษขนาดมหึมาเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เศษหินจำนวนมากพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า สร้างแรงเสียดทานมหาศาลและนำไปสู่ “คลื่นความร้อนอินฟราเรด” (infrared pulse) พื้นผิวโลกอุณหภูมิสูงขึ้น 260 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว ไดโนเสาร์ถูกเผาราวกับไก่ย่าง
1
ความร้อนที่รุนแรงจากเหตุการณ์ครานั้น ทำให้สัตว์ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกที่สามารถขุดรูอยู่ใต้ดิน และกลุ่มที่สองคือพวกที่อาศัยอยู่ในทะเล
เมื่อเรามองไปที่สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในป่าดงดิบ ท้องทะเลทราย หรือแม้กระทั่งตอนเราส่องกระจก เราต่างกำลังมองไปยังลูกหลานของสัตว์ที่รอดชีวิตจากอุกกาบาตลูกนี้
2
ลองนึกภาพดูว่า ถ้าอุกกาบาตมาถึงช้ากว่านี้เพียงไม่กี่วินาที มันอาจจะตกลงในบริเวณน้ำลึก อุณหภูมิโลกจะไม่ได้ร้อนขึ้นมากนัก และสัตว์จะสูญพันธุ์น้อยกว่านี้หรือถ้าอุกกาบาตล่าช้าเพียงนาทีเดียว มันอาจจะไม่ชนโลกเลยก็ได้ และวันนี้ไดโนเสาร์ก็จะยังครองโลก และจะไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ Homo Sapiens เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน
4
-----
ผมรู้ว่าบทความนี้ยาวมากแล้ว แต่ขอเล่าให้ฟังอีกหนึ่งเรื่องก่อนจะปล่อยให้ไปทำอย่างอื่นนะครับ
1
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1905 ภายในบ้านฟาร์มหลังน้อยที่เมืองเจมส์ทาวน์ รัฐวิสคอนซิน นางคลาร่า แม็กดาเลน เจนเซ่น เกิดอาการ "ฟิวส์ขาด" และลงมือสังหารลูกของเธอทั้งสี่คน
4
เธอทำความสะอาดร่างกายลูกๆ บรรจงวางพวกเขาลงนอนบนเตียงอย่างนุ่มนวล จากนั้นจึงปลิดชีวิตของตัวเอง
พอล สามีของเธอกลับบ้านมาจากการทำงานในฟาร์ม และพบว่าทั้งครอบครัวเสียชีวิตอยู่ใต้ผ้าห่มบนเตียงน้อยๆ นี่คงจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้เผชิญ
Brian Klaas ผู้เขียนหนังสือ Fluke เล่มนี้ เฉลยว่า "พอล" ผู้น่าสงสาร เป็นปู่ทวดของเขาเอง
1
หลังจากเสียคลาร่าและลูกทั้งสี่ไป พอลจึงแต่งงานกับภรรยาใหม่ในเวลาต่อมา ซึ่งภรรยาใหม่คนนั้นก็คือย่าทวดของไบรอันนั่นเอง
4
ตอนไบรอันอายุยี่สิบปี พ่อของไบรอันเปิดแฟ้มหยิบคลิปข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับปี 1905 ที่พาดหัวว่า “การกระทำอันเลวร้ายของหญิงวิกลจริต” มาให้ไบรอันดู
3
ข่าวชิ้นนั้นเปิดเผยเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของตระกูล Klaas ในภาพข่าวคือหลุมฝังศพ ด้านหนึ่งเป็นของเด็กๆ ทั้งสี่คน อีกด้านเป็นของคลาร่า วันตายของพวกเขาถูกจารึกไว้บนหลุมศพเดียวกัน
แน่นอนว่ามันทำให้ไบรอันช็อคที่เคยมีเรื่องราวเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับตระกูลของเขา แต่สิ่งที่ทำให้ไบรอันช็อคยิ่งกว่า ก็คือการได้รับรู้ว่า ถ้าคลาร่าไม่ฆ่าตัวตาย และไม่ได้ฆ่าลูกๆ ของเธอ ตัวเขาเองก็คงไม่ได้เกิดมา
1
ชีวิตของไบรอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะการฆาตกรรมหมู่ที่น่าสยดสยอง เด็กไร้เดียงสาสี่คนต้องเสียชีวิต ในขณะเดียวกันไบรอันกลับได้มีชีวิตอยู่ และได้เขียนหนังสือ Fluke เล่มนี้
2
(ซึ่งถ้าไบรอันไม่ได้เขียน Fluke คุณผู้อ่าน Anontawong's Musings ก็จะไม่ได้มานั่งอ่านบทความชิ้นนี้เหมือนกัน)
1
ทุกสิ่งดีๆ ในชีวิตเรา เกิดขึ้นจากทั้งเรื่องดีงามและเรื่องเลวร้ายทั้งหมดที่ผ่านมาในอดีต
2
และสิ่งที่เราทำวันนี้ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็จะนำไปสู่เรื่องดีงามและโศกนาฎกรรมในอนาคตเช่นกัน
1
------
เรื่องราวทั้งหมดที่ผมกล่าวมา เป็นเพียงเนื้อหา 15 หน้าแรกของหนังสือ Fluke
ผมคงไม่คิดที่จะสรุปหนังสือเล่มนี้ออกมาทั้งเล่ม เพราะทำไม่ได้และไม่ควรทำ นี่คือหนังสือที่เนื้อหาแน่นและหลากหลายที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยได้อ่านในชีวิต จนผมเสียดายว่าทำไมหนังสือถึงไม่ดังกว่านี้ จริงๆ แล้วมันมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสังคมและชีวิตในระดับเดียวกับ Sapiens ของ Yuval Harari และ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman เลยด้วยซ้ำ
3
และนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมขอยกให้ Fluke เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024
3
หนังสือเพิ่งออกมาในเดือนมกราคม 2024 จึงยังไม่มีแปลไทย แต่ใครที่ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ไปหาซื้อมาอ่านกันได้แล้วครับ ผมเห็นว่า AsiaBooks เริ่มนำมาวางเป็นหนังสือแนะนำแล้ว ส่วนที่คิโนะยังไม่เห็นวางโชว์ แต่เช็คทางเว็บก็มีขายแล้วเหมือนกัน
1
ผมยังไม่ขอเฉลยว่า Fluke ทำให้มุมมองและการกระทำของผมเปลี่ยนไปอย่างไร แต่อยากให้ผู้ที่ติดตามบล็อกนี้ไปลองไปหามาอ่านดู แล้วอีกสองเดือนผมอยากนัดเจอแบบ online meeting เพื่อมาแชร์สิ่งที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้กัน ใครสนใจ สามารถลงชื่อผ่านลิงค์ในช่องคอมเม้นท์ได้เลย
ขอรับรองว่าอ่าน Fluke แล้ว เราจะมองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปครับ
โฆษณา