1 พ.ค. เวลา 04:59 • ความคิดเห็น

กระดุมเม็ดแรกของคุณสัตยาแห่งไมโครซอฟท์

วันนี้มีบุคคลระดับโลกมาเยือนไทย ซีอีโอของบริษัทที่ใหญ่อันดับต้นๆในโลกและเป็นบริษัทที่เราคุ้นเคย
คุณซาเทียร์ (Satya Nadella) หรือที่ผมชอบเรียกแบบไทยๆว่าคุณสัตยามารอบนี้เพื่อพบปะลูกค้าและนักธุรกิจที่งาน Microsoft Build AI Day ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนทุกสายของผู้บริหารไทยมุ่งน่าจะมุ่งสู่งานนี้กันอย่างคึกคัก
ทำไมคุณสัตยาถึงเป็นซีอีโอระดับซุปเปอร์สตาร์โลก เรื่องราวที่เขาเปลี่ยนไดโนเสาร์เป็นบริษัทสุดคูล เขาเริ่มต้นอย่างไร วางรากฐานยังไง ใครที่จะไปงานนี้ลองอ่านเรื่องนี้ดูแล้วน่าจะฟังและมองคุณสัตยาได้ลึกซึ้งขึ้นนะครับ…
2
ผมได้มีโอกาสฟังผู้จัดการกองทุนระดับโลกจากนิวยอร์คคุยเรื่องการลงทุนใน AI และเทรนด์ใหม่ๆในโลก แต่มีประโยคหนึ่งที่สะดุดหูผมมากที่เขาบอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Microsoft เป็นเบอร์หนึ่งด้านการเติบโตของความมั่งคั่งมากที่สุด
ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์อาจจะมีบริษัทขนาดเล็กและกลางที่โตเป็นหลายสิบเป็นร้อยเท่า แต่ถ้านับมูลค่าเป็นดอลล่าร์นี่ไมโครซอฟท์คือผู้ที่กอบโกยคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้มากสุด
2
ไมโครซอฟท์ในตอนนี้มี market cap เป็นอันดับสองของโลก จ่อติด apple แบบหายใจรดต้นคอ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าไมโครซอฟท์น่าจะขึ้นอันดับหนึ่งโลกในไม่ช้า ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อสิบปีก่อนมีแต่คนบอกว่าไมโครซอฟท์เป็นไดโนเสาร์ตกยุค ไม่ทันยุคอินเตอร์เนท สมาร์ทโฟน และกำลังจะกลายเป็นอดีต
สิบปีหลังจากนั้น ไมโครซอฟท์อยู่ดีๆก็โตเอาๆ market cap ใหญ่ขึ้นสิบกว่าเท่า ไล่ซื้อกิจการต่างๆเป็นว่าเล่น กลายเป็นบริษัทเทคชั้นนำและกำลังเป็นผู้เล่นสำคัญในเมกะเทรนด์อย่าง AI ผ่านการถือหุ้น 49% ใน OpenAI มีคนบอกว่าในสิบปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์คือต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงตัวเองของยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้
2
เป็นสิบปีที่คุณ Satya Nadellya รับตำแหน่งซีอีโอพอดี….
ในสำเนียงที่ฝรั่งเรียกคุณ satya จะฟังออกประมาณว่าซาเทียร์ แต่ด้วยความที่คุณ Satya เป็นชาวอินเดีย เกิดที่ไฮเดอร์ราบัด ภาษาสันสกฤตก็น่าจะอ่านว่าสัตยาที่แปลว่าผู้มีความซื่อสัตย์ ซึ่งก็ตรงกับคุณสัตยาผู้ทำงานที่ไมโครซอฟท์เป็นลูกหม้อของบริษัทมากว่าสามสิบปี ในตอนที่สตีฟ บาลเมอร์ ซีอีโอก่อนหน้าจะลงจากตำแหน่ง บอร์ดของบริษัทก็มีการสรรหาคนเก่งๆจากข้างนอกหลายคนเพื่อมาพลิกฟื้นไมโครซอฟท์แต่ในที่สุดบอร์ดและสตีฟก็เลือกคุณสัตยาที่เป็นคนใน อันนำมาซึ่งความแปลกใจให้กับวงการ
5
ที่ผมสนใจมากๆคือจุดเริ่มต้นหรือกระดุมเม็ดแรกที่คุณสัตยากลัดหลังจากรับตำแหน่งซีอีโอ เพราะการกลัดกระดุมเม็ดแรกถูกนั้น จะนำมาซึ่งกระดุมเม็ดต่อๆมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไมโครซอฟท์จากไดโนเสาร์ อุ้ยอ้าย และกำลังจะสูญพันธุ์ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่สุดล้ำได้อย่างน่าทึ่ง
2
ผมก็เลยไปค้นไปอ่านไปฟังและได้พบกับบทสัมภาษณ์คุณสัตยาของ Stanford Graduate School เมื่อสี่ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่น่าสนใจที่จะเข้าใจความคิดของคุณสัตยาได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่หลักการและวิธีคิดของคุณสัตยาเปลี่ยนไมโครซอฟท์มาไกลมากและกำลังอยู่ในช่วงกำลังจะลงทุนขนานใหญ่ใน AI พอดี
1
คุณสัตยาเล่าในการให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตอนที่รับตำแหน่งใหม่ๆนั้นเขารู้ตัวดีว่าเขาไม่ได้มีแต้มต่อเหมือนกับบิลเกตส์หรือ สตีฟ บาลเมอร์ สองซีอีโอก่อนหน้าที่มีบารมีและเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง (founder) ที่เป็นเหมือนตำนานเป็นวิธีคิดของไมโครซอฟท์มาอย่างยาวนาน เขาเลยต้องสร้างความชัดเจนของภาวะผู้นำให้ทุกคนรู้ว่า sense of purpose และ culture ของไมโครซอฟท์ในยุคต่อไปว่าคืออะไร
4
คุณสัตยาบอกว่าตั้งแต่เริ่มต้น ไมโครซอฟท์มีเป้าประสงค์ใหญ่คือต้องทำให้ทุกบ้านมี PC ให้ได้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป้าประสงค์นั้นก็บรรลุไปแล้วและไม่รู้ว่าเป้าประสงค์หรือ purpose ใหม่ของบริษัทคืออะไรและกำลังหลงทางไม่รู้จะไปทางไหนต่อดี
คุณสัตยาก็เลยกลับไปทบทวนว่าจุดกำเนิดที่แท้จริงของไมโครซอฟท์ที่เริ่มจากโปรแกรมพื้นฐานใน PC นั้นก็คือการที่ไมโครซอฟท์สร้างเทคโนโลยีเพื่อให้คนอื่นสามารถสร้างเทคโนโลยีได้ต่อ ( we build technology so that other can build more technology) แทนที่จะมัวแต่อิจฉาคู่แข่ง เราควรจะกลับไปหารากเดิมของเราก็คือสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานที่ช่วยคนอื่นให้สามารถสร้างของ สร้างงาน สร้างธุรกิจจากเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ได้
1
เราควรจะภูมิใจกับรากของเราก่อนเป็นอย่างแรกว่าเราเกิดมาเพื่อช่วยคนอื่นให้เก่งขึ้น
3
เรื่องอิจฉาคู่แข่งนี้ คุณไซมอน ซิเนคเคยเอามาเล่าในช่วงที่ไมโครซอฟท์แย่ๆว่า เขาไปบรรยายที่ไมโครซอฟท์ พนักงาน ผู้บริหารก็เอาแต่พูดถึงแอปเปิ้ล ด่าบ้าง ดูถูกบ้าง อิจฉาบ้าง แต่เวลาไปบรรยายที่แอปเปิ้ล ไม่มีใครพูดถึงไมโครซอฟท์เลย พูดแต่ลูกค้าและนวัตกรรมที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่ดีขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องที่แสดงปัญหาที่คุณสัตยาเห็นได้ดี
1
นอกจาก sense of purpose แล้ว สิ่งที่ทำควบคู่กันเป็นอย่างแรกที่คุณสัตยาเป็นซีอีโอก็คือ culture ซึ่งแต่เดิมไมโครซอฟท์มีความหลงในความยิ่งใหญ่ในอดีตว่าเราเจ๋งสุด เราเคยเปลี่ยนโลกมาแล้ว และหยุดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คุณสัตยามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนคนไมโครซอฟท์ให้มี growth mindset และเป็น learning organization จาก know it all เป็น learn it all
3
ซึ่งคุณสัตยาทุ่มเทกับการเปลี่ยน culture เป็นอันดับหนึ่ง พี่เจี๊ยบ ปฐมา จันทรักษ์ ผู้ที่ทำงานที่ไมโครซอฟท์ในช่วงนั้นเคยเล่าให้ฟังถึงความเข้มข้นในการเทรนและสอนเรื่อง growth mindset ในทุกระดับขององค์กรอย่างจริงจังมากๆ
1
Sense of purpose ใหม่ของไมโครซอฟท์ที่ต้องการช่วยคน ช่วยองค์กรต่างๆให้เก่งขึ้นนั้นชัดเจนในทุกระดับ ( empower every person and every organization on the planet to achieve more )
ตั้งแต่องค์กรใหญ่ ภาครัฐ SME ช่วยให้การศึกษาดีขึ้น ง่ายขึ้น productivity สูงขึ้น ในตอนนี้อาจจะเห็นได้ชัดผ่านสิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำสำเร็จในระยะหลัง รวมถึงการลงทุนใน OpenAI ที่เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการต่อยอดเทคโนโลยีอื่น แม้กระทั่ง AI tool ล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่ตั้งชื่อว่า Copilot ก็แสดงถึงจิตวิญญานและเป้าประสงค์ที่ชัดเจนมากๆอีกเช่นกัน
2
แต่สิ่งที่คุณสัตยาเริ่มจิตวิญญาณใหม่นั้นไม่ใช่แค่สโลแกนสวยๆแต่เขาลงรากลึกในทุกระดับขององค์กรที่จะทำให้ทุกคนช่วยเหลือคนอื่น ทำให้คนอื่นดีขึ้น ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ sense of purpose ถึงจะทำงาน พี่เจี๊ยบ ปฐมา จันทรักษ์ที่อยู่ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเล่าว่า คุณสัตยาปรับวิธีการประเมินแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
จากที่เคยประเมินว่าปีที่ผ่านมาทำอะไรสำเร็จบ้างกลายเป็นว่า ปีที่ผ่านมาหน่วยงานได้ช่วยให้ใครสำเร็จบ้าง เอาไอเดียใครมาต่อยอดได้บ้าง ในช่วงแรกๆคนในองค์กรถึงกับไปไม่เป็น ใช้เวลาประมาณสามปีถึงจะเริ่มเข้าใจและขับเคลื่อนได้เต็มที่
4
ในระดับผู้บริหาร คุณสัตยาบอกว่าซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ปลดล็อค (unconstraint) เอาเป้าหมายที่แคบเกินไปเช่นมาร์จิ้นที่สูง กำไร หรือการมองรายได้แต่เพียงอย่างเดียวออก เพื่อให้เกิดบรรยากาศการกล้าลอง กล้าทำอะไรใหม่ๆ กล้าหา s curve ใหม่โดยการวัดบนเมตริกซ์อื่นเช่น ความพึงพอใจของลูกค้า usage เป็นต้น
4
นอกจากนั้นคุณสัตยายังเน้นที่จะสนับสนุนและโค้ชหัวหน้างานใหม่ (first level manager) ที่คุณสัตยาบอกว่าสำคัญกับองค์กรมากๆเพราะจะเป็นผู้นำรุ่นต่อไป แต่การเป็นหัวหน้างานใหม่นั้นไม่ง่ายเลย การมีลูกน้องไม่กี่คนที่ไม่ได้เชื่อฟังหัวหน้ามือใหม่เท่าไหร่ แถมมีนายคอยตั้งเป้ายากๆให้ ทักษะการเป็นผู้นำก็ยังไม่มีมากนัก การหาทางโค้ช ช่วยและทำให้กลุ่มหัวหน้างานใหม่มั่นใจและกล้าทำอะไรใหม่ๆนั้นสำคัญมากๆเช่นกัน
3
การที่มีจิตวิญญาณที่จะช่วยเหลือคนให้ดีขึ้นนั้นไล่ลงมาทุกระดับ แม้กระทั่งเด็กจบใหม่ที่สนใจงานที่ไมโครซอฟท์ คุณสัตยาจะบอกน้องๆที่จะมาสมัครงานว่าถ้าต้องการเท่ ต้องการเด่น (be cool) ให้ไปสมัครงานบริษัทอื่น แต่ถ้าต้องการช่วยคนอื่นให้เท่ ให้สำเร็จ (help other be cool) ให้มาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ เป็นหลักคิดแบบ empower people ที่พูดจริงทำจริง ตั้งแต่ลูกค้า ผู้บริหาร หัวหน้างาน พนักงาน จนถึงเด็กที่คิดจะสมัครงานอย่างเข้มข้นมากๆ
2
เหตุที่คุณสัตยาทุ่มเทกับเรื่อง sense of purpose และ culture มากๆนั้น คุณสัตยาเชื่อว่ากลยุทธ์หรือสภาพตลาดนั้นจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่ sense of purpose หรือจิตวิญญาณขององค์กรจะเป็นต้นทางที่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ถูก เป็น competitive advantage เป็นอัตลักษณ์ขององค์กร และเมื่อประสานเข้ากับ culture แห่งการเรียนรู้ก็จะทำให้สามารถหาโอกาสใหม่ๆได้เสมอไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
1
ผมเพิ่งอ่านเจอบทสรุปของหนังสือ hidden potential ของ adam grant ที่อาจารย์นพดล ร่มโพธิ์เขียนไว้ ข้อแรกของบทสรุปนั้นบอกว่า คนที่จะเติบโตไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่พยายามทำให้ตัวเองและคนอื่นๆฉลาดขึ้น
5
บทเรียนของไมโครซอฟท์ก็เป็นบทเรียนที่น่าคิดสำหรับเราทุกคนด้วยเช่นกัน
และนี่คือกระดุมเม็ดแรกที่คุณสัตยากลัดจนเปลี่ยนไมโครซอฟท์จากไดโนเสาร์กลายเป็นบริษัทที่เท่ที่สุดในโลกด้วยการช่วยคนอื่นให้เท่ในวันนี้ครับ
1
โฆษณา