2 พ.ค. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2024 และ 2025 ขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.2% ซึ่งการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2024 ถูกปรับเพิ่มขึ้น 30 bps เทียบกับคาดการณ์ในเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวยังคงต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ย ปี 2000-2019 ที่ 3.8% ตอกย้ำถึงผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดรวมถึงการเติบโตของ productivity เศรษฐกิจที่ต่ำ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดการณ์การเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปี 2023 เป็น 1.7% ในปี 2024 และ 1.8% ในปี 2025
โดยคาดการณ์การเติบโตปี 2024 ถูกปรับเพิ่มขึ้น 20 bps สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา คาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตแบบทรงตัวที่ 4.2% ทั้งในปี 2024 และ 2025 และคาดว่าตลาดเกิดใหม่ในฝั่งเอเชียจะโตช้าลง โดยมีปัจจัย เช่น ประเด็นความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความสามารถของธนาคารทั่วโลกที่จะพาเศรษฐกิจ “soft landing” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของ GDP โลกในปีนี้
เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ยังคงแข็งแกร่งอย่างน่าแปลกใจ รายงานยอดค้าปลีกในเดือนมีนาคมขยายตัว 0.7%MoM แม้จะลดลงกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัว 0.9%MoM นอกจากนี้ IMF ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ เป็น 2.7% ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 60 bps เทียบกับคาดการณ์ครั้งก่อน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ยังค้างอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED อาจจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
ด้านยุโรปยังคงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อเนื่อง ตามรายงานของ Eurostat อัตราเงินเฟ้อยุโรปในเดือนมีนาคมชะลอตัวลงจาก 2.6%YoY สู่ 2.4%YoY ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 เดือน คาดว่า ECB อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และจะดำเนินนโยบาย QT ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 เช่นเดียวกันกับตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.2%YoY ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2021
ด้านญี่ปุ่น GDP ไตรมาส 4 ปี 2023 ถูกปรับขึ้นเป็นการขยายตัว 0.4% จาก -0.4% และ GDP ของจีน ขยายตัว 5.3%YoY ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2024 โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเติบโต 6.1%YoY ไตรมาส 1 ปี 2024 จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของการผลิตในอุตสาหกรรม High-Tech ในขณะที่ IMF คาดเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตแซงหน้าญี่ปุ่นได้ในปี 2025 ทำให้อินเดียกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียคาดการณ์ว่า real GDP จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 7% ในปี 2024
หุ้นโลก: ตลาดเติบโตจากหุ้น 7 นางฟ้าซึ่งคิดเป็น 40% ของผลตอบ S&P500 ตั้งแต่ต้นปี เทียบกับ 60% ในปีก่อน ฤดูประกาศผลประกอบการกำลังเริ่มต้นขึ้นและแม้มีบริษัทเพียง 14% เท่านั้นที่เริ่มประกาศรายงานผลประกอบการออกมา แต่ภาพก็ออกมค่อนข้างผสมผสาน ทุกสายตาจับจ้องไปที่ผลประกอบการของหุ้น Big Tech-AI ล่าสุด คาดการณ์กำไร ปี 2024 ของ S&P 500 ปรับลดลงจาก 11% ณ สิ้นปี 2023 เป็น 9.2% โดย P/E ย้อนหลัง 12 เดือน ของ S&P500 อยู่ที่ 24 เท่าซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 20.9 เท่า
โดยธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐที่เน้น wholesale banking และ wealth management อย่างธนาคาร Goldman Sachs และ Morgan Stanley รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของตลาด อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นแรงกดดันบน NIM (Net Interest Margin) ที่ชัดในกลุ่มธนาคารที่เกี่ยวข้องกับ consumer banking อย่าง Citigroup, J.P. Morgan และ Wells Fargo จากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
การเติบโตของ EPS ที่รายงานออกมาแล้วรวมกับประมาณการ ไตรมาส 1 ปี 2024 สำหรับ S&P500 ตอนนี้ลดลงเหลือ 0.5%YoY ลดลงจาก 3.4%YoY ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2024 หากการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทที่เหลือเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างผลประกอบการตามที่รายงานจริงในไตรมาสที่ 1 กับคาดการณ์ทั้งปี 2024 เดิมกว้างขึ้นอีกและอาจกระตุ้นให้ตลาดมีการปรับฐาน จากการปรับประมาณการของนักวิเคราะห์
แม้ว่ายังมีบริษัทจำนวนไม่มากที่รายงานผลประกอบการออกมา แต่ 74% มีการรายงาน EPS ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 77% แต่เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ย 10 ปี นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ปรับการคาดการณ์กำไรต่อหุ้น YoY ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสต่อ ๆ ไป เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง
ในด้านของ NIKKEI225 เจอแรงกดดันจากการถูกเทขายของบริษัทชิป อย่างเช่น Tokyo Electron, Renesas, Advantest เช่นเดียวกับคู่แข่งในสหรัฐ ฯ ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นในอินเดียลดลงท่ามกลางการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนเกือบ 1 พันล้านคนและมีวันลงคะแนน 44 วัน โดยพรรค BJP จ่อคว้าชัยชนะ
หุ้นจีน: ข่าวดีในภาคการผลิตส่วนใหญ่ของจีนมาจากอุตสาหกรรม “new three” หรือสามอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวและยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.7%YoY ในไตรมาส 1 ปี 2024
อีกทั้ง ความคาดหวังของตลาดต่อหุ้นจีนที่ต่ำบวกกับ valuation ที่อยู่ในระดับน่าสนใจ อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนเห็นการกลับตัวขึ้นหรือเป็นม้ามืดในปี 2024 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น ปัจจุบันดัชนี HSI ซื้อขายที่ P/E 8.54 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยมีการคาดการณ์เติบโตของกำไรต่อหุ้นที่ 6.51%YoY ในปี 2024 และ 7.92%YoY ในปี 2025 ตามลำดับ
1
สำหรับดัชนี CSI300 นักวิเคราะห์มีการปรับคาดการณ์เติบโตของกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 15.64%YoY ในปี 2024 และ 13.66%YOY ในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหา ฯ ยังคงฉุดรั้งเศรษฐกิจจีน ตามข้อมูลของ NBS การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง 9.5%YoY ในไตรมาส 1 ปี 2024 ขณะที่ยอดขายอสังหา ฯ ใหม่ลดลง 27.6%YoY แม้รัฐบาลท้องถิ่นได้มีการยกเลิกข้อจำกัดบางประการในการขายที่ดิน
สินทรัพย์ทางเลือก: ราคาของสินทรัพย์ REITs อ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงสามเดือนแรกของปี 2024 หลังจากทำผลงานได้ดีในไตรมาส 4 ปี 2023 เนื่องจากนักลงทุนมีการปรับประมาณการช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่อีกครั้งจากข้อมูล CPI สหรัฐ ฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง
โดยกลุ่ม REITs จะได้รับประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินจากกองทุนตลาดเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 6 ล้านล้านเหรียญทั่วโลกซึ่งได้รับผลตอบแทนมากถึง 5% จากการถือหนี้รัฐบาลสหรัฐ ฯ ระยะสั้น หากตลาดเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน สินทรัพย์ REITs และ สินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากนักลงทุนจะต้องแสวงหาโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน
ตลาดเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ฮามาสมากขึ้น ซึ่งขยายไปถึง อิหร่าน ปากสถาน เลบานอน ซีเรีย และอิรัก ซึ่งหากการขนส่งสินค้าและพลังงานในช่องแคบฮอร์มุซ ทะเลแดง และคลองสุเอซหยุดชะงักจากประเด็นดังกล่าว อาจทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะวิกฤต
ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากอิหร่านตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลในซีเรีย ยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีของยูเครนได้ทำลายกำลังการกลั่นน้ำมันของรัสเซียถึง 16% โดยราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นนี้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน CPI ปรับสูงขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า
เรายังคงแนะนําการเพิ่มน้ำหนักการถือครองตราสารหนี้เมื่อเทียบกับตราสารทุนในกรอบเวลา 6 ถึง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในมุมมองของ Risk Premium ที่น่าสนใจกว่า โดยเราแนะนําให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานกลยุทธ์ทั้ง Strategic Asset Allocation (SAA) และ Tactical Asset Allocation (TAA) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์
โดย อรุณ ปาวา, IP, FM, IA ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาทางการเงิน Investment Strategist และ วรัท เนียมสอิ้ง, CISA, Investment Research ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ที่มา: สรุปเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน มุมมอง และ คำแนะนำการลงทุนประจำเดือนจาก Wealth Advisory by CIMB THAI Bank ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> https://www.cimbthai.com/.../Monthly%20Investment_05.pdf
ท่านใดสนใจหรือมีคำถามเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำการลงทุนได้ที่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา โทร. 02 626 7777 หรืออีกช่องทางในการติดต่อผ่าน LINE Official Account CIMB Thai Wealth & Preferred คลิก https://lin.ee/GTvhTHd
คำเตือน: ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (ผลิตภัณฑ์ลงทุน) เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา