4 พ.ค. เวลา 23:00 • ยานยนต์

ประกาศมาตรการดึงดูดนักลงทุนระดับโลก ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ราชกิจจาฯ ประกาศมาตรการดึงดูดผู้ประกอบการชั้นนําของโลก ลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ในไทย ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยาว 15 ปี นําเข้าคนต่างด้าว-ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน-ส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรได้
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ ๑/๒๕๖๗ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน
เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบกิจการชั้นนําของโลกที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตระดับต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 มาตรา ๑๖ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. ๒๕๖๐ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จึงกําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
ข้อ ๑ คุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริม
๑.๑ ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนํา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
๑.๒ ต้องเป็นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า แต่จะผลิตแบตเตอรี่ ในระดับเซลล์สําหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยก็ได้
๑.๓ ต้องผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ทีมีค่าพลังงานจําเพาะ (Specific Energy Density ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ Wh/Kg)
๑.๔. ต้องมีจํานวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 9,000 รอบ โดยนับจาก ร้อยละ ๗๐ ของ Nominal Capacity ที่ Depth of Discharge ไม่ต่ํากว่าร้อยละ ๘๐ ณ อุณหภูมิทดสอบ ๒๐ - ๒๕ องศาเซลเซียส
๑.๕ ต้องยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในวันทําการสุดท้ายของปี ๒๕๗๐
ข้อ ๒ กําหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิและประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
๒.๑ สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
(๑) เงินสนับสนุนจากกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน
(๒) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาไม่เกิน ๑๕ ปี โดยไม่กําหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้น
(๓) ยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
๒.๒ สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
(๑) ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับเครื่องจักร
(๒) ยกเว้นอากรขาเข้าสําาหรับของที่นําเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง
(๓) ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับวัตถุดิบและวัสดุจําเป็นที่น่าเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก
(๔) ลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ ๘๐ ของอัตราปกติสําหรับวัตถุดิบ หรือวัสดุจําเป็นที่นําเข้ามาผลิตเพื่อจําหน่ายภายในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยจะอนุมัติให้คราวละ ๑ ปี
(๕) อนุญาตให้นําคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และทํางานในตําแหน่งที่ได้รับความเห็นชอบ
(๖) อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
(๗) อนุญาตให้นําหรือส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗
ปานปรีย์ พหิทธานุกร
รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ
ในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โฆษณา