6 พ.ค. เวลา 14:30 • การศึกษา

"Algebra of Wealth"

สูตรพีชคณิตแห่งความมั่งคั่งจาก Scott Galloway นักธุรกิจพันล้านที่เชื่อว่าการใช้ชีวิตที่ดีคือ 'วิธีแก้แค้นต่อโชคชะตา'
ไม่ว่าใครก็อยากมีความมั่งคั่งในชีวิต แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย
สก็อตต์ แกลโลเวย์ (Scott Galloway) โค้ชและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับหลายพันล้านบาท ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัย New York University Stern School of Business เล่าไว้ในช่องยูทูบของเขาว่า
การไปลอกเลียนแบบวิธีการของคนที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates), วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett), อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละคนก็จะมีเส้นทางไปสู่ความมั่งคั่งที่แตกต่างกัน เจอชุดปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างแกลโลเวย์เอง ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จก็ต้องพบกับความล้มเหลวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ธุรกิจล้มละลาย ปัญหากับครอบครัว หย่าร้างกับภรรยา ก่อนที่จะพลิกสถานการณ์กลับมาได้ โดยเขาบอกว่า
“คุณจะเจอความล้มเหลว คุณจะถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมในที่ทำงาน คุณจะถูกไล่ออก ธุรกิจของคุณจะล้มเหลว ก่อนที่ผมจะอายุ 40 ธุรกิจหลายแห่งของผมก็ล้มละลาย การแต่งงานที่ล้มเหลว และสูญเสียคนคนเดียวที่ในจังหวะนั้นที่ผมรู้สึกว่ารักผมจริงๆ อย่างคุณแม่ไป”
เขาพูดต่อว่า “แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็แค่ความพ่ายแพ้ แต่ไม่ใช่ความอุปสรรคขวางกั้น”
ชีวิตเราจะพบกับเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ สิ่งสำคัญที่แยกระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จคือวิธีการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ต่างหาก
“เพราะฉะนั้นอย่าไปโฟกัสว่าชีวิตเรามีอะไรที่ไม่ดีบ้าง แต่ให้โฟกัสไปยังสิ่งที่จำเป็นที่จะนำเราไปสู่จุดที่เรามีชีวิตที่ดีจะดีกว่า นั่นคือการแก้แค้นที่ดีที่สุดต่อโชคชะตาและใครก็ตามหรือองค์กรใดก็แล้วแต่ที่เอาเปรียบคุณ”
📌 [[ #Algebra_of_Wealth (พีชคณิตแห่งความมั่งคั่ง) ]]
แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวไปสู่ความสำเร็จและความมั่งคั่งในชีวิต แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีตัวช่วยหรือหลักการที่เราทุกคนสามารถใช้เพื่อจะเป็นเข็มทิศให้ไปถึงยังจุดนั้นได้
ในวิดีโอชื่อว่า “The Algebra of Wealth” บนช่องยูทูบ “The Prof G Show” แกลโลเวย์ได้แชร์เทคนิคหนึ่งที่เขาทั้งใช้เองและสอนให้กับคนรอบๆ ตัวจนประสบความสำเร็จได้
อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจัยหลายๆ อย่างในชีวิตนั้นอยู่นอกเหนือจากความควบคุมของเรา เหมือนที่เราบอกว่าต้นทุนชีวิตของทุกคนไม่เท่ากัน แกลโลเวย์เองก็เชื่อว่าสถานการณ์ของแต่ละคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เกิดมา ครอบครัว สังคม ผิวสี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป
บางส่วนของความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็จะมีอีกหลายๆ ส่วนที่เราสามารถทำเพื่อให้เรามีโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งและความสำเร็จให้กับชีวิตได้ โดยเขาให้สูตร “Algebra of Wealth” (พีชคณิตแห่งความมั่งคั่ง) เอาไว้ว่า
“ความมั่งคั่ง = โฟกัส + (แนวคิดแบบสโตอิก * เวลา * การกระจายความเสี่ยง)”
3
เดี๋ยวลองมาเข้าใจและดูว่าแต่ละส่วนทำงานร่วมกันยังไง
📌 [[ #โฟกัส (Focus) ]]
- รู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไร : ความสำเร็จมักมาพร้อมกับทักษะหรือความสามารถบางอย่าง แต่ความมุ่งมั่นหรือโฟกัสอันแน่วแน่ก็เป็นส่วนที่สำคัญเช่นเดียวกัน การค้นพบจุดแข็งของตัวเองหรือเข้าใจว่าเราทำเรื่องไหนได้ดี สิ่งที่คนอื่นๆ ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่า นั่นคือรากฐานของความสำเร็จ
- พาตัวเองไปอยู่ในจุดที่จะประสบความสำเร็จ : ทักษะความสามารถที่เรามีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการไปสู่ความสำเร็จ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือการเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่จะใช้ความสามารถนั้นได้อย่างเต็มที่ เจอคนเก่งๆ คนอื่น อยู่ในสนามแข่งขันที่จะช่วยยกระดับเราไปอีกขั้น
- โอกาสที่จะเติบโตอยู่ที่ไหน : ติดตามว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจไหนที่กำลังมีโอกาสจะเติบโตในอนาคต วางกลยุทธ์เพื่อให้ตัวเองไปอยู่ตรงนั้น หาคลื่นลูกใหม่ๆ ที่กำลังเกิดเป็นเทรนด์ที่จะไปต่อในอนาคต เช่นในตอนนี้ก็ AI, ESG, สุขภาพ, การศึกษา หรือ fintech
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น : การสร้างและดูแลความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัวและอาชีพคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคู่ชีวิตถือว่าสำคัญมากๆ จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าคู่รักที่แต่งงานจะมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้สูงกว่าคนที่เป็นโสด
📌 [[ #หลักคิดปรัชญา ‘สโตอิก’ (Stoicism) ]]
สโตอิก (Stoicism) คือปรัชญาที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ คอยเตือนให้รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต (โดยเฉพาะสิ่งที่ควบคุมไม่ได้) อย่างมีวุฒิภาวะและด้วยจิตใจที่สงบ
- ขอบเขตการควบคุม : หลักการพื้นฐานของแนวคิดสโตอิกคือการแยกให้ออกว่าสถานการณ์ไหนอยู่ในการควบคุมของเราบ้าง ถ้าเป็นสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป แต่ถ้าสิ่งไหนที่เราควบคุมได้อย่างเช่นการใช้จ่ายของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เราต้องจัดการกับความอยากหรือความต้องการของตัวเองให้ดี
- รู้ว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเป็นยังไง : สุขภาพทางการเงินของเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยเงินเดือน แต่เป็นนิสัยการใช้เงินของเราต่างหาก ถ้าได้เงินเยอะ แต่ใช้เงินเยอะกว่าที่ได้ สุดท้ายและยังไงก็ไม่เหลือเก็บ รู้จักหักห้ามใจและแยกให้ออกว่าอะไรคือความต้องการหรือจำเป็นคือบทเรียนที่สำคัญมากๆ
📌 [[ #เวลา (Time) ]]
- ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ : เวลาสามารถเป็นได้ทั้งเพื่อนและศัตรูในโลกของการสร้างความมั่งคั่ง การลงทุนระยะสั้นได้ผลตอบแทนสูงๆ อาจจะดูน่าดึงดูด แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่สูงมาก แต่การลงทุนระยะยาวนั้นปลอดภัยกว่า ดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยให้ดอกผลของเงินทุนเติบโตได้ดี แต่ก็ดูน่าเบื่อด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น เริ่มสร้างความมั่งคั่งให้เร็วและสม่ำเสมอถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากๆ
- ผลกระทบของดอกเบี้ยทบต้น : พลังของดอกเบี้ยทบต้นนั้นสำคัญมากๆ ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ในสถานการณ์ของคนสองคน A, B
โดย A ลงทุนตอนอายุ 20 ปี ไปจนถึง 40 ปีแล้วหยุดลงทุน แล้วปล่อยให้เงินตรงนั้นทบต้นไปเรื่อยๆ ส่วน B ลงทุนตอนอายุ 40 ปี ไปจนถึง 65 ปี หากผลตอบแทนของการลงทุนอยู่ที่ 10% ต่อปีเท่ากันทั้งสองคน พออายุ 65 ปี ผลตอบแทนของ A จะสูงกว่า B ถึง 600%
เพราะฉะนั้นลงทุนให้เร็ว ทำจนเป็นนิสัยอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้เยอะขึ้นด้วย
📌 [[ #การกระจายความเสี่ยง (Diversification) ]]
- ลดความเสี่ยง : การกระจายความเสี่ยงคือเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็น ปกป้องความเสียหายจากการตัดสินใจแย่ๆ ว่าจะไม่ส่งผลเสียที่มากจนเกินไปต่อการเงินของเรา
- อย่ามั่นใจอะไรมากเกินไป : การเสี่ยงโดยคาดเดาความเสียหายไว้แล้ว (Calculated Risk) สามารถสร้างผลกำไรได้เป็นอย่างดี แต่อย่ามั่นใจกับการลงทุนหรือทำธุรกิจอะไรที่มากจนเกินไป อย่าลืมกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่นๆ อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพื่อปกป้องความมั่งคั่งของเราในอนาคต
📌 [[ #สรุป ]]
ทุกคนล้วนอยากไปถึงเป้าหมายความสำเร็จและความมั่งคั่งทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะไปลอกการบ้านของคนอื่นที่สำเร็จมาแล้วก็ไม่ได้ เพราะอย่างที่แกลโลเวย์บอกว่าสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่พีชคณิตแห่งความมั่งคั่งคือหลักการที่เราทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ในทุกสถานการณ์ เป็นกรอบความคิดที่ผสมผสานระหว่างโฟกัส หลักคิดสโตอิก เวลา และการกระจายความเสี่ยงเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้เราเดินไปสู่ทิศทางของความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน
แกลโลเวย์ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “คำถามที่เราถามตัวเองตลอดว่า จะสร้างชีวิตที่เต็มไปด้วยความรักยังไง? สร้างชีวิตที่มีความมั่นคงทางการเงินยังไง? เราจะร่ำรวยได้ยังไง?”
คำตอบคือ “ทำอย่างช้าๆ” นั่นแหละครับ
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#AlgebraofWealth #ScottGalloway #การเงินส่วนบุคคล #PersonalFinance #การเงิน #stoic #diversification
โฆษณา