7 พ.ค. เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์

“การวางแผนการเงิน" ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยเท่านั้น คนไม่มีเงินยิ่งต้องทำ!

เคยไหมครับเวลาที่อ่านบทความเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน แล้วรู้สึกว่าเราจะทำได้จริง ๆ เหรอ บางครั้งก็คิดว่า “ใช่สิ คนรวยก็พูดได้นี่ เพราะพวกเขามีเงินเหลือกินเหลือใช้ จะวางแผนล่วงหน้าได้ก็ไม่แปลก”
1
ช้าก่อนครับ...จริงๆ แล้วการมีเงินเก็บออมเนี่ย ส่วนหนึ่งก็มาจากการวางแผนการเงินนี่ล่ะ ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
📣 ทำไมเราถึงต้องวางแผนการเงิน?
aomMONEY ขอยกตัวอย่างจากสถานการณ์ Covid-19 ที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ต้องระงับกิจการชั่วคราว หรือปิดตัวถาวร ทำให้สถานะทางการเงินของหลายๆ คนเข้าขั้นวิกฤต มีรายจ่าย แต่ไม่มีรายรับ เรายิ่งเห็นได้ชัดเลยครับว่าคนที่วางแผนทางการเงินมาตลอด ยังพอเอาตัวรอดได้ เพราะมีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรวางแผนการเงิน
ส่วนคนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน จนไม่มีเงินเก็บเลยสักบาท แถมยังมีหนี้สินพะรุงพะรัง แบบนี้ยิ่งต้องวางแผนการเงินเลยครับ เพราะถ้าเราไม่คิดวางแผน เงินก็จะไหลออกจากกระเป๋าเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว แบบนี้ทำงานอีกกี่สิบปีก็ไม่มีเงินเก็บแน่ๆ
📣 ทำงานหนักก็ต้องใช้เงิน เพราะไม่อยากใช้เงินตอนแก่ ตอนที่ไม่มีแรงจะทำอะไร?
aomMONEY เข้าใจเพื่อนๆ ทุกคนนะครับ เราทำงานหาเงินมาด้วยน้ำพักน้ำแรง การซื้อความสุขหรือให้รางวัลตัวเองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดครับ ถ้าการซื้อนั้นเป็นไปอย่างมีสติ และอยู่ในงบประมาณที่ตัวเองจ่ายไหว ไม่ได้เกินตัว แต่อย่าตามใจตัวเองบ่อยเกินไป เดี๋ยวจะไม่เหลือเงินเก็บไว้ใช้ยามบั้นปลายเลย ของบางอย่างก็ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ถึงอย่างไรก็ต้องเก็บออมเผื่อไว้ในยามเกษียณด้วยครับ
📣 อยากเริ่มวางแผนการเงินต้องทำอย่างไร?
aomMONEY ขอเสนอ 5 วิธีวางแผนการเงิน สำหรับมือใหม่หัดออม ดังนี้ครับ
1.หยุดก่อหนี้
อันดับแรกคือทำเช็กลิสต์ออกมาเลยว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญแล้วทยอยสะสางให้หมด โดยเฉพาะหนี้ที่ก่อให้เกิดรายจ่ายเพิ่ม เช่น หนี้บัตรเครดิตที่จ่ายขั้นต่ำทุกเดือน ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ ยิ่งต้องเคลียร์ให้จบเร็วที่สุด และ “หยุดก่อหนี้เพิ่ม” จะได้เริ่มเก็บเงินกันสักทีครับ
2.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
เรื่องพื้นฐานที่เราทำกันตั้งแต่สมัยประถมฯ อย่างการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายนี่ล่ะครับ จะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้อย่างราบรื่น หมั่นจดบันทึกให้เป็นนิสัย แล้วคอยสังเกตว่ารายจ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็น ก็ให้ตัดออก ...ไม่ใช่ว่าให้ลบรายการออกจากบัญชีนะครับ แต่หมายถึงให้ลด ละ เลิกการใช้จ่ายอันนั้น (ฮา) หลักการง่ายๆ คือรายรับต้องมากกว่ารายจ่าย การเงินของเราจึงจะไม่มีปัญหา
3.เงินเดือนออกปุ๊บ หักออกไว้เก็บทันที
บางคนยังเข้าใจผิดว่าเงินออมก็คือเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายแต่ละเดือน แต่จริงๆ แล้วเงินออมต้องถูกหักออกจากรายรับ แล้วส่วนที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายต่างหาก ท่องไว้ครับ “รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย” ดังนั้นพอเงินเดือนเข้าแล้ว ให้หักออกไปเข้าบัญชีเงินออมทันที แรกๆ หากยังมีภาระหนี้สินเยอะก็หักสัก 10% แต่ถ้าเริ่มบริหารจัดการได้แล้วก็เพิ่มเป็น 20% ได้ครับ
1
4.ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
หลังจากที่เริ่มมีเงินออมแล้ว สเต็ปต่อไปก็คือการจัดสรรเงินออมและตั้งเป้าหมายครับ เช่น เงินออมสำรองยามฉุกเฉิน เงินออมเพื่อการลงทุน เงินออมเพื่อซื้อบ้าน/รถ เงินออมเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศ เงินออมในยามเกษียณ ฯลฯ เป้าหมายเหล่านี้จะช่วยให้การออมเงินของเราแน่วแน่มากขึ้น
1
5.ลงทุนให้เงินเก็บงอกเงย
เมื่อการเงินของเราเริ่มมีสภาพคล่องแล้ว ก็สามารถนำเงินออมส่วนหนึ่งมาลงทุนได้ครับ ซึ่งก็มีหลากหลายประเภททั้งการฝากบัญชีออมทรัพย์ ซื้อสลาก กองทุนรวม พันธบัตร หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ความเสี่ยงน้อยก็ได้ผลตอบแทนน้อย ความเสี่ยงมากก็ได้ผลตอบแทนมาก แล้วแต่ว่าใครจะเลือกแบบไหน แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
คำแนะนำจาก aomMONEY
ใครที่ไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อน เริ่มวันนี้ก็ยังทันครับ “ไม่มีคำว่าสาย สำหรับการออมเงิน” แต่ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี ทำตอนนี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย ครั้งหน้า aomMONEY จะนำเสนอบทความทางการเงินเกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่าลืมติดตามกันนะครับ
#aomMONEY #การเงิน #วางแผนการเงิน
โฆษณา