Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 ก.ย. 2018 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
อธิบายเรื่อง สินทรัพย์ทางการเงิน แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าคำว่าสินทรัพย์นั้นมีกี่ประเภท
ปกติเราจะแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ นั่นคือ
สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Assets) เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ทองคำ เครื่องประดับ หรือแม้แต่ของสะสมและงานศิลปะ เป็นต้น
อีกประเภทเราเรียกว่า สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ซึ่งก็มีหลายชนิด แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยจะประกอบไปด้วยเงินสด ตราสารหนี้ และหุ้นสามัญ
ในบทความนี้จะอธิบายถึงสินทรัพย์ทางการเงิน
เริ่มต้นที่ เงินสด ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด มีสภาพคล่องสูงมาก คนจำนวนมากยังนิยมนำเงินสดไปฝากไว้กับธนาคารในลักษณะฝากประจำ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับก็คือ อัตราดอกเบี้ย
ระยะเวลาของเงินฝากประจำที่คนนิยมฝากนั้นมีตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 24 เดือน โดยรับอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.25% - 2.55% ต่อปี
แต่ความเสี่ยงของการฝากเงินกับธนาคารคือ การที่มูลค่าของเงินมีโอกาสที่จะลดลง และถ้าในอนาคตอัตราเงินเฟ้อนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยจะทำให้การฝากเงินกับธนาคารได้ผลตอบแทนสุทธิติดลบ
สินทรัพย์ทางการเงินตัวต่อมาก็คือ ตราสารหนี้ ซึ่งก็แบ่งออกเป็นตราสารหนี้ของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยก็คือ พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน เป็นต้น
ผลตอบแทนของตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็น 3 แบบคือ ดอกเบี้ยรับ ส่วนลดรับ และกำไรที่เกิดจากส่วนต่างของราคาตราสารหนี้ กรณีที่ขายตราสารหนี้ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา
สำหรับดอกเบี้ยรับ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้จะได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำ เช่น ทุก 6 เดือนหรือทุก 1 ปี ตลอดอายุของตราสารหนี้ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน หมายความว่า ผู้ซื้อจะได้ดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้งๆ ละ 25 บาท ตลอดช่วงที่ลงทุนในตราสารหนี้ และเมื่อครบกำหนดก็จะได้เงินลงทุนคืน 1,000 บาท
สำหรับส่วนลดรับนั้นหมายถึง ผู้ซื้อได้ซื้อตราสารหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าจำนวนเงินหน้าตั๋ว แต่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยระหว่างที่ถือตราสารหนี้
เช่น ตราสารหนี้ระบุจำนวนเงินหน้าตั๋วไว้ที่ 1,000 บาท แต่ผู้ซื้อซื้อที่ราคา 900 บาท และถ้าถือจนครบกำหนดจะได้เงินคืนจำนวน 1,000 บาท ส่วนต่าง 100 บาทก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ชนิดนี้
ผลตอบแทนของตราสารหนี้ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนต่างราคาของตราสารหนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนตัดสินใจขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หมายความว่า ถ้าไม่ขายตราสารหนี้จนวันครบกำหนดไถ่ถอน กำไรหรือขาดทุนจากส่วนต่างราคาของตราสารหนี้จะไม่เกิดนั่นเอง
ตราสารหนี้นั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความสภาพคล่องน้อยกว่าเงินฝาก จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้นั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของเงินฝาก
ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 2.7% ขณะที่อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนเฉลี่ยในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 3.3% - 6.5%
ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนนั้นเกิดจากใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้ ถ้าผู้ออกตราสารหนี้เป็นรัฐบาลหรือบริษัทที่มั่นคง มีชื่อเสียง ปกติจะสามารถเสนออัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงหรือมีชื่อเสียงน้อยกว่า
สินทรัพย์ทางการเงินตัวสุดท้ายคือ หุ้นสามัญ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝากและหุ้นกู้ แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวที่สูงกว่า โดยผลตอบแทนของหุ้นสามัญนั้นเกิดจาก 2 ส่วนคือ กำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาขาย และเงินปันผล
สมมุติว่า ถ้าเราซื้อหุ้น A ที่ราคา 100 บาท อีก 1 ปีต่อมาหุ้น A ขึ้นไป 110 บาท พร้อมจ่ายเงินปันผลอีก 5 บาท หมายความว่า เราจะกำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย 10 บาท และได้รับเงินปันผลอีก 5 บาท สรุปแล้วเราจะได้ผลตอบแทนการจากการลงทุนทั้งหมด 15% นั่นเอง
ซึ่งในปี 2560 ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เท่ากับ 16.4% โดยกำไรส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาขายเท่ากับ 13.7% และเงินปันผล 2.7%
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญ จะมีความไม่แน่นอนสูงกว่ากรณีการฝากเงินและการซื้อหุ้นกู้
ทั้งนี้ เพราะในระยะสั้นราคาหุ้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ แต่ในระยะยาวราคาหุ้นมักขึ้นกับผลประกอบการของบริษัท ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลต่อการจ่ายเงินปันผลด้วยเช่นกัน
จากตัวอย่างของสินทรัพย์ทั้ง 3 ประเภท จะพบว่าสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุดอย่าง เงินฝาก ก็จะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับ หุ้นสามัญ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากที่สุด แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากที่สุดเช่นกัน
ก็เหมือนกับประโยคคลาสสิกตลอดกาลที่ว่า High Risk High Return ที่หลายคนคงเคยได้ยินมาแล้วนั่นเอง..
ถ้าชอบเรื่องนี้ ติดตามเรื่องน่ารู้อื่นๆ ได้ที่ แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่
blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้
lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ
instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว
twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง
line.me/R/ti/p/%40longtunman
References
-
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=544
-
https://www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/in_rate.aspx
-
https://www.bot.or.th/Thai/DebtSecurities/IntroToGovtDebtSecurities/Pages/default.aspx
-
http://www2.bot.or.th/statistics/ReportPage.aspx?reportID=223
-
http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2018/07062018.aspx
-
https://www.thaimutualfund.com/AIMC/aimc_about.jsp?pg=8
45 บันทึก
135
1
5
45
135
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย