5 ม.ค. 2019 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
จะอยู่หรือจะไป? การปรากฏตัวของ ICONSIAM ในวันที่กรุงเทพฯ เอ่อล้นไปด้วยศูนย์การค้า
ถ้าถามว่าตอนนี้มีสถานที่เช็กอินที่ไหนที่ฮอตสุด แน่นอนคงหนีไม่พ้นศูนย์การค้า เปิดใหม่ในอภิมหาโครงการ “ไอคอนสยาม”เป็นแน่แท้ ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่ารวมกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท
ไอคอนสยามถือเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แล้วตอนนี้ ด้วยพื้นที่ของตัวศูนย์การค้า ที่ใหญ่ถึง 525,000 ตารางเมตร (พื้นที่โครงการทั้งหมดคือ 750,000 ตารางเมตร) ตัวศูนย์การค้า มีจุดเด่นดึงดูดขาช้อปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้าง Takashimaya จากญี่ปุ่น ร้าน Apple Store แห่งแรกของไทย รวมถึงร้านอาหารร้านแบรนด์เนมมากมายที่พร้อมใจกันมาเปิดที่นี่ เรียกแขกเรียกลูกค้ากันอย่างครึกครื้น
แต่ไอคอนสยามกำลังเผชิญความท้าทายเงียบอยู่รึเปล่า?
ศูนย์การค้ากำลังครองเมือง
เจ้าของไอคอนสยามคือบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
ก่อนอื่น ใครที่ไม่คุ้นกับชื่อสยามพิวรรธน์ เล่าคร่าวๆ ละกันว่าบริษัทนี้เป็นเจ้าของศูนย์การค้าตระกูล “สยาม” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังเป็นผู้สร้างโรงแรมห้าดาวแห่งแรกของเมืองไทย นั่นก็คือโรงแรมสยามอินเตอร์คอนทิเนนตัล (Siam Intercontinental) แต่สุดท้ายบริษัทก็มุ่งเน้นทำธุรกิจศูนย์การค้ามากกว่า จึงยุติการดำเนินงานของโรงแรมดังกล่าวแล้วเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นเป็นสยามพารากอนอย่างที่เราๆ รู้จักกันดีวันนี้
ทางด้านไอคอนสยาม พิกัดของศูนย์การค้านี้ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความแหวกแนวตรงที่ตัวศูนย์การค้าไม่ได้อยู่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเหมือนศูนย์การค้าอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ใครมา BTS สถานีที่ใกล้ที่สุดยังต้องเดินอีกประมาณ 1 กิโลเมตร อาจดูเหมือนไม่ไกลแต่ด้วยสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ก็รู้กันว่ามันช่างไม่อ่อนโยนเลย
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องกังวล เพราะคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2019 จะมี BTS สายสีทอง ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังศูนย์การค้าโดยตรง ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น
ทีนี้ลองมาดูความคิดเห็นของผู้บริโภคบ้าง ชาวกรุงส่วนใหญ่ดูจะยินดีกับการมาของไอคอนสยาม โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่แถบนั้น พวกเขามองว่าการไปช้อปปิ้งที่สยามหรือสุขุมวิทนั้นไกลไป การมาของไอคอนสยามจึงตอบโจทย์พวกเขามากกว่า
นอกจากลูกค้าชาวไทยแล้ว แน่นอนว่าอีกกลุ่มลูกค้าหลักย่อมหนีไม่พ้นชาวต่างชาติ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 30-35% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 10% หากเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ก็มีจุดเสี่ยง เพราะอาจได้รับผลกระทบมากหน่อยหากการท่องเที่ยวเกิดภาวะซึมเซาขึ้นมา
นอกจากความเสี่ยงเรื่องภาวะการท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องการแข่งขันสูง รู้กันอยู่ว่ากรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าเยอะแยะมากมายขนาดไหน ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลมีมากกว่า 30 แห่ง เครือเดอะมอลล์กรุ๊ปมีมากกว่า 10 แห่ง ในขณะที่เครือสยามพิวรรธน์มีเพียง 4 แห่งหากนับรวมถึงไอคอนสยามด้วย การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่นี้ของสยามพิวรรธน์ดูๆ ไปแล้วจึงเหมือนการเดิมพันว่าจะสู้เซ็นทรัลกับเดอะมอลล์ที่มีจำนวนศูนย์การค้าเยอะกว่าได้ไหม
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ศูนย์การค้าครองเมืองไม่ได้หยุดแค่นี้เพราะแต่ละบริษัทต่างมีแผนสร้างโครงการเพิ่มมากมายในอนาคตอันใกล้ เช่น เดอะมอลล์กรุ๊ปวางแผนจะเปิด EmSphere ในปี 2020 ส่วนทีซีซีกรุ๊ป บริษัทที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างไทยเบฟเวอเรจ กับ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ก็วางแผนจะลงทุน 1.2 แสนล้านบาทในโปรเจ็กต์ One Bangkok ซึ่งจะมีทั้งศูนย์การค้า ออฟฟิศ และที่อยู่อาศัย มีแผนเปิดในปี 2021
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากรุงเทพฯ คือสวรรค์ของนักช้อปจริงๆ
แต่ก็เพราะมีศูนย์การค้ามากมายนี่แหละ ทำให้นักช้อปมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ศูนย์การค้าบางแห่งไม่ได้มีคนคึกคักเท่าที่ควร เช่น ศูนย์การค้า High-End อย่าง Central Embassy และ Gaysorn Village ที่ถ้าใครเคยไปคงจำได้ว่ามีคนเดินไม่เยอะเท่าไร
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าบริษัทในธุรกิจค้าปลีกยังไม่หมดหวังซะทีเดียว ตัวอย่างเช่น เซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งบริหารศูนย์การค้า CentralWorld มีอัตรากำไรสุทธิเติบโตกว่า 40% ทั้งปีที่แล้วและปีนี้
ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เราจะเห็นว่าหลายๆ บริษัทเริ่มหาทางอื่นๆ นอกเหนือไปจากค้าปลีกเพื่อให้บริษัทอยู่รอดอย่างยั่งยืน เช่น เซ็นทรัลพัฒนากำลังจะลงทุน 2 พันล้านบาทไปกับการรีโนเวต CentralWorld โดยโฟกัสที่ฟู้ดคอร์ตเป็นหลัก ทางด้านเดอะมอลล์กรุ๊ปก็ได้ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าจะจับมือกับบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง Anschutz Entertainment Group เพื่อสร้างสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่น่าติดตามความคืบหน้าทั้งนั้น
แต่แล้วความน่าตื่นตะลึงเหล่านี้จะสามารถเอาชนะ E-Commerce ที่กำลังเบ่งบานได้หรือไม่?
เมืองไทยถือว่าตามหลังประเทศอื่นๆ พอสมควรกับการซื้อของออนไลน์ โดยอีคอมเมิร์ซนั้นนับเป็น 1% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมดตอนนี้ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีอยู่ที่ประมาณ 20% ถึงอย่างนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่าตัวเลขการทำธุรกรรมบน อีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าตัวเลขจะถึง 3.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% จากปีก่อน
ทว่าร้านค้าออฟไลน์ก็ยังไม่ตายง่ายๆ เพียงแต่ร้านค้าเหล่านี้ต้องรู้จักวิธีใช้งานระบบออนไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์แบบหลายช่องทาง (Omnichannel) ให้แก่ผู้บริโภค ในวันที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมอย่างสะดวกสบายผ่านช่องทางออนไลน์แบบนี้
ต้องคอยติดตามกันต่อไปท่ามกลางศึกศูนย์การค้าและอีคอมเมิร์ซ ไอคอนสยามจะเป็นยังไงต่อ จะเป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นศูนย์การค้าฮอตฮิตตลอดกาล เวลาเท่านั้นจะพิสูจน์ได้ ใครมีความคิดเห็นและมุมมองยังไงต่อไอคอนสยามก็มาแชร์กันได้นะ
โฆษณา