30 ม.ค. 2019 เวลา 04:07 • การศึกษา
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อชีวิตที่ควรมีท่ามกลางวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5
เมื่อสักครู่ ผมทำกิจวัตรประจำวันอย่างนึงที่ต้องทำทุกๆเช้านั่นคือการเปิดแอป “AirVisual” ขึ้นมาเพื่อเช็คค่าคุณภาพอากาศ และผลที่ได้อยู่ในรูปที่แนบมาครับ
“181 US AQI = เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”
ค่าคุณภาพอากาศที่วัดได้แถวบ้านผมนี้ถือว่า
“แย่ที่สุด” เท่าที่เคยวัดได้ในรอบเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ชีวิตแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะผมเริ่มมีอาการแสบตา แสบจมูกแม้ว่าจะใส่หน้ากากกันฝุ่นแล้วก็ตาม
ในเมื่อนาทีนี้รัฐบาลยังไม่ช่วยประชาชน และพยายามเสนอข่าวว่าเรื่องฝุ่นนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต (แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่)
Edit. แม้กทม.จะเพิ่งประกาศปิดโรงเรียนหนีฝุ่น แต่คนทำงานก็ยังต้องออกไปเสี่ยงตายทุกวัน
ผมคิดว่าประชาชนอย่างเราควรจะหาทางแก้กันเองแล้วครับ
มาถึงตอนนี้ เพลงอยู่ดีๆก็อยากร้องไห้ของตอง ภัครมัยก็ลอยขึ้นมาในหัวผม
วันนี้ผมจะมาแนะนำอุปกรณ์จำที่เป็นต่อชีวิตควรมีท่ามกลางวิกฤตฝุ่น PM2.5
มาเริ่มกันเลยครับ
1. หน้ากากอนามัย N95
ภาพ: flickr.com
คนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพอากาศที่แย่แบบผม จำเป็นที่ต้องมีหน้ากากชนิดนี้ ส่วนตัวผมเองจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาไปชั่วคราวก่อนเพราะหน้ากาก N95 ขาดตลาด และตอนนี้อยู่ในระหว่างสั่งทางออนไลน์และรอของมาส่งที่บ้านครับ
สนนราคาที่สมเหตุสมผลของหน้ากาก N95 (แบบไม่มีวาล์ว)​ นั้นไม่ควรจะเกิน35-45บาทต่อชิ้น แต่ผมเห็นพ่อค้าแม่ค้าหลายเจ้าที่ขายโก่งราคาไปถึง2-3เท่าของราคานี้ ผมคิดว่านี่เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อนและเราไม่ควรไปสนับสนุนคนพวกนี้ครับ
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาร่วมกับทิชชู่2ชั้น เพราะคิดว่าป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ถึง90% แต่ทว่า ความเชื่อนี้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับครับ และฝุ่นชนิดนี้ขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง20เท่า แม้คุณจะยัดทิชชู่เข้าไป2ชั้นก็อาจมีช่องว่างระหว่างหน้ากากและสันจมูกของเราเสมอซึ่งฝุ่นชนิดนี้อาจลอยเข้าไปในปอดได้อย่างง่ายดาย
ฉะนั้น หน้ากากอนามัยชนิด N95 คือคำตอบสุดท้ายครับ
2. เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน
ภาพ: flickr.com
มีคนดังบางท่านเช่น ดร.นิเวศน์ (นักลงทุนแนววีไอชั้นแนวหน้าของประเทศไทย) หรืออาจารย์เจษฎา (อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยาที่จุฬาฯ) ได้ซื้อเครื่องฟอกอากาศภายในบ้านมาใช้แล้วมาแชร์ให้ฟังว่าดี และยังช่วยกรองฝุ่นในบ้านได้เกือบ100%อีกด้วย
ผมคิดว่าอุปกรณ์ชนิดนี้ค่อนข้างจำเป็นต่อชีวิตประจำวันโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ทว่า มีหลายยี่ห้อบางรุ่นกลับขายดีจนขาดตลาดไปแล้ว
ส่วนสนนราคาของเครื่องฟอกอากาศภายในบ้านที่กรองฝุ่น PM2.5 ได้นั้นค่อนข้างมีช่วงราคาที่กว้าง พอสมควรคือ ตั้งแต่ 4พันกว่าบาทไปจนถึง3หมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว
3. เครื่องวัดค่าคุณภาพอากาศแบบพกพา
เครื่องวัดค่าคุณภาพอากาศแบบใช้ wifi ภาพ: flickr.com
ที่ผ่านมามีข่าวว่ารัฐบาลใช้วิธีเอาน้ำฉีดไปที่ “เครื่องวัดค่าคุณภาพอากาศ” รวมถึงพิกัดของเครื่องวัดที่รัฐบาลติดตั้งนั้น บางทีมันไกลจากบ้านของเราเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ทำให้ค่าที่แสดงในเว็บไซต์หรือในแอปของหน่วยงานของรัฐไม่ตรงกับความเป็นจริง
มาถึงตอนนี้ ผมเลยไม่แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม คนดังทั้งสองท่าน (ดร.นิเวศน์และอ.เจษฎา) ที่ผมพูดถึงนั้น รู้สึกไม่มั่นใจกับค่าที่ได้จากเว็บไซต์หรือแอปของรัฐบาลจึงทำให้ทั้งสองท่านได้ลองซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้มาใช้เอง
และได้ลองทดสอบค่าคุณภาพอากาศเทียบกันระหว่างค่าจากเว็บไซต์/แอปของรัฐบาลกับค่าที่ได้จากเครื่องวัดแบบพกพา ปรากฏว่าค่าคุณภาพอากาศที่วัดได้นั้นบางครั้ง “แตกต่างกัน” เกิน50% (แต่บางครั้งก็ใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ลมและความถี่ในการเปิด-ปิดประตู)
ผมขอสรุปว่าการมี “เครื่องวัดค่าคุณภาพอากาศแบบพกพา” ติดตัวไว้ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และสามารถใช้ทดสอบร่วมกับเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน (และรถยนต์)​ ว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหน เช่น การเปรียบเทียบค่าคุณภาพอากาศในห้องนอนช่วง “ก่อน” และ “หลัง” การเปิดเครื่องฟอกอากาศดังกล่าว
นอกจากนี้ ค่าคุณภาพอากาศที่แสดงในแอปต่างๆ เช่น AirVisual จะเป็นค่าเฉลี่ยของ24ชั่วโมงที่ผ่านมา ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะรู้ค่าที่แม่นยำในตอนนี้เลย การใช้เครื่องวัดแบบพกพาจะแสดงค่าที่แม่นยำกว่าครับ
ส่วนสนนราคาเครื่องวัด (ที่มีคุณภาพสูง) นี้ มีตั้งแต่ราคาพันกว่าบาทไปจนถึงสามพันกว่าบาท
4. แผ่นดักจับสิ่งแปลกปลอมสำหรับแอร์
เครดิตภาพ: https://th.chocap.club
สำหรับคนงบน้อยที่ไม่อยากซื้อเครื่องฟอกอากาศ อุปกรณ์นี้สามารถช่วยได้ครับ
เราสามารถนำแผ่นกระดาษนี้ไปติดตั้งในกรองแอร์เพิ่มอีกชั้นเพื่อช่วยดักฝุ่น PM2.5 แต่ข้อเสียคือ ลมแอร์จะเบาลงนิดนึง
ส่วนสนนราคาของแผ่นดักจับสิ่งแปลกปลอมก็อยู่ที่ประมาณ 200กว่าบาทครับ
ก่อนจะจากกันไป ผมขอทิ้งท้ายเหมือนเคยว่า
อย่าลืมดูแลสุขภาพของคุณและคนที่คุณรักด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ อย่าลืมกด “Follow” กด “Like” หรือกด “Share” เพจนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความดีๆ ต่อไปด้วยครับ
ติดตาม​ Netflix Addict จากช่องทางอื่นและแวะมาพูดคุยกันได้ที่​ Facebook: https://www.facebook.com/netflixaddict1
โฆษณา