13 มี.ค. 2019 เวลา 21:13 • สุขภาพ
ชักโครกโรคกระจาย
4
บนแปรงสีฟันของคุณทุกคน​มีอุจจาระติดอยู่!
แล้วมันมาอยู่บนแปรงของคุณได้ยังไง?
1
หรือจะมีใครแกล้งเอาแปรงสีฟันคุณไปขัดส้วมแทนแปรงขัดส้วม​ เพราะเห็นว่าปากกับส้วมสะอาดพอกัน
ไม่หรอก​ อุจจาระมันมีวิธีเดินทางที่มีสไตล์กว่านั้น
1
มันบินมา!
ทุกครั้งที่คุณกดชักโครก​ แรงปะทะของน้ำ​ จะทำให้เกิด​ "ละอองส้วม" (toilet plume) ฟุ้งกระจายไปทั่ว
ละอองส้วม​ (toilet plume) ที่มา: Innovationsupplychain
ภายในหยดละออง (aerosol droplet) จิ๋วนี้​ สามารถมีเชื้อที่อยู่ในอุจจาระ​ ปะปนมาด้วย
จะปลิวไปไกลแค่ไหนก็ขึ้นกับแรงปะทะของชักโครก​ อาจกระจายได้ในระยะไม่กี่ฟุตจนถึงเป็น​ 10 ฟุต
1
ถ้าแบบพักน้ำในถังแล้วใช้แรงโน้มถ่วงเหมือนชักโครกตามบ้าน​ ก็อาจไปไม่ไกลนัก​ แต่ถ้าแบบตามห้างที่แรงดันสูง​ ๆ​ (บางทีรู้สึกได้ถึงแรงลมปะทะหน้าแสนสดชื่น)​ ก็กระจายได้ไกลขึ้นอีก
หยดละออง​ (droplet) ที่เกิดขึ้นก็มีขนาดหลากหลาย​ ถ้าละอองใหญ่มีน้ำในหยดเยอะก็จะหนักและไปได้ไม่ไกลก็ตกลงมาตามแรงโน้มถ่วง​ ถ้าละอองเล็กเบาก็ปลิวไปได้ไกลขึ้น​
ถ้าละอองนั้นเล็กพอ​และสภาพแวดล้อมเหมาะสม​ น้ำในหยดละอองอาจระเหยไปจนแหลือแต่แก่นของหยดละออง​ (droplet nuclei) ซึ่งก็คือกลุ่มเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อนอื่น​ ๆ​ ที่อยู่ในหยดละอองนั้น​ ๆ
Droplet nuclei นี้เบามาก​ จึงไม่ตกลงมาง่าย​ ๆ​ มันล่องลอยไปตามกระแสอากาศได้นานเป็นชั่วโมง​ และไปได้ไกลมาก
คุณอาจจะสูดละอองส้วมนี้โดยไม่รู้ตัว​ หรือมันอาจลอยละลิ่วไปฉาบอยู่ตามพื้นผิวต่าง​ ๆ​ ทุกซอกทุกมุม​ ทุกตารางนิ้ว​ รวมถึงแปรงสีฟันที่คุณยัดเข้าปากทุกวันนั่นเอง
1
เวลาไปโรงแรมบางแห่งก็จะเอาผ้าเช็ดตัววางไว้บนตะแกรงเหนือชักโครก​ คุณก็จะได้ผ้าเช็ดตัวเคลือบละอองส้วม​ เอามาประพรมผิวเวลาเช็ดตัว
ตัวอย่างเชื้อก่อโรคที่พบในละอองส้วม​ เช่น​ เชื้อซีดิฟ​ [Clostridium difficile] จอมแสบ​ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน​ แบคทีเรียจรจัด​ ตอนที่​ 2 และ​ ตอนที่​ 7) หรือเชื้อ​ ซาลโมเนลลา​ [Salmonella] ที่เป็นญาติกับเชื้อไทฟอยด์​ พบว่าเชื้อนี้สามารถเกาะกลุ่มกันแล้วสร้างสารมาเคลือบ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า​ ไบโอฟิล์ม​ (biofilm)
ไบโอฟิล์ม​ ทำให้เชื้อซาลโมเนลลา​ ยึดเกาะตามซอกหลืบต่าง​ ๆ​ ของโถส้วม ได้เป็นอย่างดี​ ฆ่าหรือทำลายได้ยาก​ บางครั้งมันไปฝังตัวในคราบตะกรันใต้ผิวน้ำ​​ คงอยู่ในโถส้วมได้เป็นเดือน​ ทุกครั้งที่กดชักโครก​ ก็จะเกิดละอองส้วมที่มีเชื้อ​ซาลโมเนลลาปนเปื้อนออกมา
ไม่ต้องตกใจไป​ ถึงเราจะรู้ว่าเชื้อโรคมันเดินทางไปพร้อมกับละอองส้วมจริง แต่ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์สามารถติดเชื้อจากละอองส้วมได้
มองโลกในแง่ดี​ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปริมาณเชื้อในละอองมันไม่เข้มข้นพอที่จะก่อโรคได้
หรือเชื้อที่ล่องลอยอยู่น้อย​ ๆ​ อาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็เป็นได้​ สะอาดไปใช่ว่าจะดี
แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย​ อาจมีการติดเชื้อโดยวิธีนี้อยู่เรื่อย​ ๆ​ แต่ไม่มีใครรู้ เพราะมันตามสืบยากมาก​ ใครจะไปรู้หรือจำได้ว่าตัวเองไปอยู่ในส้วมสาธารณะ​ ในขณะที่ดันมีคนป่วยในส้วมห้องข้าง​ ๆ​ กำลังกดชักโครกพอดี​
หรือเวลาเราไปจับนู่นนี่นั่นแล้วได้เชื้อก่อโรคติดมือมา​ เราจะรู้ได้ไงว่าเชื้อมันมาอยู่ที่นี่เพราะละอองส้วมพามา​ หรือมาด้วยวิธีอื่น​ เช่น​ คนที่ล้างก้นแล้วไม่ล้างมือมาจับเลยทิ้งเชื้อไว้​ หรือแม่บ้านใช้แปรงอันเดียวขัดทั้งส้วม​ ทั้งอ่าง​ ทั้งก๊อก
ยกตัวอย่างถ้ามีคนเป็นวัณโรคลำไส้​ มาถ่ายในห้องน้ำสาธารณะ​ ปล่อยอุจจาระที่เต็มไปด้วยเชื้อวัณโรคลงไปแล้วกดชักโครก!
เชื้อวัณโรคแฝงอยู่ในละอองส้วมที่ปลิวกระจายไปทั่วห้องน้ำ
เผอิญคุณยืนฉี่อยู่ใกล้ห้องที่คนป่วยนั้น​อยู่ ซึ่งอาจกำลังกดชักโครกพอดี​ หรือกดเสร็จและเดินจากไปแล้ว​ แต่ละอองส้วมจากเขายังคงลอยเคว้งคว้างอยู่ คุณก็สูดละอองส้วมที่มีเชื้อวัณโรค​ เข้าไปเต็มปอด
แต่คนปกติส่วนใหญ่แม้จะติดเชื้อวัณโรคก็ไม่เกิดอาการเจ็บป่วย​ แค่ประมาณ​ 1 ใน​ 10 ที่จะมีอาการป่วย​ ซึ่งก็มักจะเกิดหลังได้รับเชื้อไปนานพอควรแล้ว
ถ้าอีก​ 2 ปีถัดมา​ คุณมีไข้​ ไอเป็นเลือดเรื้อรัง​ วินิจฉัยได้ว่าเป็นวัณโรค​ปอด เวลาหมอถามว่าคุณไปอยู่ใกล้ใครที่เป็นวัณโรคหรือเปล่า
คุณจะระลึกถึงเหตุการณ์ในส้วมสาธารณะเมื่อ​ 2 ปีก่อนได้ไหม หน้าคนแพร่เชื้อคุณยังไม่ทันได้เห็นด้วยซ้ำ​
ถ้าผมเป็นนักระบาดวิทยา​ คงต้องกุมขมับว่าจะสืบหรือพิสูจน์ยังไง
1
หลักฐานทางอ้อมว่าละอองพวกนี้อาจจะก่อโรคได้​ ก็พอมีตัวอย่างให้เห็นบ้าง​ เช่น
พบการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส​ (Norovirus) ในบริเวณปิด​ (confined space) เช่น​ รถ​ หรือ​ ห้องปิด เมื่อคนไข้รายแรก​ (index case) ปล่อยอาเจียนซึ่งเต็มไปด้วยไวรัสออกมา​ คนที่อยู่รอบ​ ๆ​ ก็ติดเชื้อกันไปหลายคน​ เกิดอาการปวดท้อง​ อาเจียน​ ท้องเสีย​เหมือน​ ๆ​ กัน​ ในเวลาต่อมา​
แม้ว่าจะคนที่ป่วยทีหลังเหล่านี้จะไม่ได้เข้ามาสัมผัสผู้ป่วยรายแรกโดยตรงเลยก็ตาม​ โดยโอกาสติดเชื้อมากหรือน้อยแปรผกผันกับระยะที่คนคนนั้นอยู่ห่างจากผู้ป่วยรายแรก
แสดงให้เห็นว่าเชื้อที่อยู่ใน​ "ละอองอ้วก" ก็สามารถปลิวไปก่อโรคในคนที่อยู่ห่างออกไปได้
เนื่องจากเชื้อนี้เจอได้ทั้งในอาเจียนและอุจจาระ​ จึงน่ากังวลว่า​ "ละอองส้วม" จะก่อโรคในแบบเดียวกันได้หรือไม่
มีการศึกษายืนยันว่าเราสามารถตรวจพบโนโรไวรัสนี้ได้ในละอองส้วมจริง​ ๆ​ แต่ยังไม่มีใครยืนยันว่ามีการติดเชื้อด้วยวิธีนี้แล้วป่วยจริง​ ๆ
ข้อแตกต่างคือ​ กรณี​ "ละอองอ้วก" นั้นเป็นการระบาดในหมู่คณะเดียวกัน​ การอ้วกก็เกิดขึ้นกลางวง​ ทุกคนรับรู้​ ตอนเจ็บป่วยคนในคณะนี้ก็ไปโรงพยาบาลเดียวกัน​ จึงสืบสวนการระบาดได้ง่าย
ส่วนในกรณี "ละอองส้วม" ถ้าเกิดเหตุก็น่าจะเกิดในห้องน้ำสาธารณะ​ ไม่มีใครรับรู้ว่าคนในห้องกำลังท้องเสียอยู่​ แต่ละคนในห้องน้ำก็ไม่ได้รู้จักกัน​ ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกระจายกันไป​ ถ้าป่วยก็ไปโรงพยาบาลคนละแห่ง​ จึงยากที่จะมีใครเอะใจว่าเกิดการระบาดขึ้น​ หรือถึงจะเอะใจ​ ก็ยากที่จะสืบสวน
ยังมีอีกตัวอย่างอันลือลั่น​ คือการระบาดของเชื้อไวรัสซาร์ส (SARS - Severe Acute Respiratory Syndrome) ที่ฮ่องกงในปี​ 2003 ซึ่งทำให้ระบบหายใจล้มเหลว​ จนเสียชีวิตได้
ที่น่าสนใจมากคือการระบาดของโรคนี้ในอพาร์ทเมน​ท์ อมอย การ์เด้น​ (Amoy Gardens ไม่รู้ออกเสียงถูกหรือเปล่า)​ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงถึง​ 329 คนและเสียชีวิตไป​ 33​ คน
พบว่ามีรูปแบบการระบาดที่แปลกประหลาด​ คือมันระบาดในแนวตั้งข้ามชั้นได้
จากการสืบสวนได้ข้อสรุปว่า​ เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการท้องเสีย​ ถ่าย​ ​และกดชักโครก​​ ในท่อน้ำทิ้งนี้ก็จะอบอวลไปด้วยละอองส้วมที่เต็มไปด้วยไวรัสซาร์ส​ซึ่งเป็นแหล่งของโรคได้
แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ​ จะให้​ละอองส้วมปนเปื้อนนี้เดินทางไปทักทายเพื่อนบ้านต่างชั้นได้​ ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายประการ​ ได้แก่
1. ท่อน้ำทิ้งใหญ่ถูกวางในแนวตั้ง​ ซึ่งเชื่อมท่อน้ำทิ้งของแต่ละห้องน้ำ​ที่อยู่คนละชั้นเข้าด้วยกันในแนวดิ่ง
2. ท่อระบายน้ำจากพื้น​ (floor drain) ของอพาร์ทเมนท์นี้ ไปต่อรวมกับท่อน้ำทิ้งของชักโครก
3. การแห้งของน้ำ​ (water seal) ในตัวข้องอดักกลิ่น/แมลง​ (trap) รูปตัวยูของ​ floor drain ทั้งนี้เนื่องจากคนนิยมทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ​ (ส่วนแห้งของห้องน้ำ​ที่ไม่ใช่โซนฝักบัว)​ ด้วยการเช็ดถู​มากกว่า​ ไม่ค่อยมีใครฉีดน้ำล้าง​ น้ำใน​ U-trap จึงแห้ง​ ไม่สามารถทำหน้าที่ดักกลิ่นหรือละอองส้วมที่อยู่ในท่อน้ำทิ้ง​ นั่นคืออากาศในท่อน้ำทิ้งจะเชื่อมกับอากาศในห้องน้ำโดยตรง
4. พัดลมดูดระบายอากาศ​ (exhaust fan) ซึ่งเอาไว้ดูดกลิ่น​ ดูดความชื้นออกไปจากห้องน้ำ​ โดยเฉพาะห้องน้ำในตึกหรืออพาร์ทเมนท์ที่ห้องน้ำมักไม่มีหน้าต่างระบาย
1
5. ห้องน้ำที่มีขนาดเล็ก
ระบบน้ำทิ้งใน​ Amoy Gardens; รูปบนมีน้ำใน​ trap น้ำไหลลงอย่างเดียว​ อากาศย้อนกลับขึ้นไปไม่ได้​; รูปล่างแสดง​ trap แห้ง​ ทำให้อากาศในท่อน้ำทิ้งที่มีละอองเชื้อซาร์สถูกสูบย้อนกลับเข้าห้องน้ำ​ ที่มา: Lee Shiu Hung. J R Soc Med. 2003 Aug; 96(8): 374-8.
เมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อมแล้ว​ เรามาสมมุติให้ตัวคุณอยู่ห้องชั้นบน​ ในขณะที่ผู้ป่วยซาร์สอยู่ห้องใต้คุณพอดี
ผู้ป่วยท้องเสียก็เข้าห้องน้ำบ่อยมาก​ ถ่ายแล้วก็กดชักโครก​ ซ้ำไปมาหลายรอบ​ ละอองส้วมที่มีเชื้อซาร์สก็ล่องลอยในห้องน้ำผู้ป่วย​ ซึ่งมันข้ามมาที่ห้องคุณไม่ได้​ แต่ละอองที่มีเชื้อก็กระจายอยู่ในท่อน้ำทิ้ง​ด้วยเช่นกัน และมันเฝ้ารอคุณอย่างใจจดใจจ่อ
เมื่อคุณซึ่งอยู่ชั้นบน​ เข้าห้องน้ำ​บ้าง​ คุณปิดประตู​อย่างแน่นหนา แล้วเปิดพัดลมดูดอากาศ​ แล้วก็นั่งส้วมอ่าน​ Blockdit​ อย่างเพลิดเพลิน
พัดลมดูดระบายอากาศ​ จะทำให้แรงดันในห้องน้ำติดลบ​ (negative pressure) ซึ่งปกติอากาศนอกห้องน้ำจะถูกสูบเข้ามาชดเชยผ่านช่องระบายเล็ก​ ๆ​ ที่ประตูห้องน้ำ
ทีนี้ห้องน้ำคุณดันมีช่องทางอื่นที่อากาศถูกสูบเข้ามาได้ง่ายกว่าทางประตู​ นั่นก็คือทางรูท่อระบายน้ำที่พื้น​ (floor drain) ซึ่งตอนนี้​ไม่มีน้ำใน​ U-trap มาขวาง​
พัดลมดูดอากาศ​ จึงสูบอากาศที่อยู่ในท่อระบายซึ่งเชื่อมต่อกับท่อน้ำทิ้งจากชักโครกของห้องน้ำทุกชั้นในแนวตั้ง​
ละอองส้วมที่อุดมด้วยเชื้อไวรัสซาร์สจึงถูกสูบขึ้นมายังห้องน้ำ​แคบ​ ๆ​ ที่คุณอยู่​
คุณจึงกลายเป็นมนุษย์รมส้วมโดยไม่รู้ตัว​ และติดเชื้อซาร์สในที่สุด​ ซึ่งอันตรายถึงตายได้​
พอเขียนเรื่องนี้ผมก็นึกขึ้นได้ว่า​ ห้องน้ำที่หอพักผมเนี่ย​ เวลาอาบฝักบัว​ น้ำมันขังระบายช้า​ เลยตามช่างมาแก้
พอแก้เสร็จน้ำก็ระบายดีไม่ขังแล้ว​ แต่ทำไมห้องน้ำมันมีกลิ่น​แปลก​ ๆ
นอกจากนี้ยังมีน็อตตัวนึงวางไว้ให้ดูต่างหน้า​ เราก็งงว่ามันมาจากไหน
ตอนนี้ก็เลยถึงบางอ้อ​ ว่าช่างใช้วิธีไขน็อตเอาถ้วยดักกลิ่นของตะแกรงระบายน้ำออกไป​ น้ำก็ไหลง่ายขึ้น​ แต่ก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรกั้นอากาศห้องน้ำกับท่อน้ำทิ้ง​ กลิ่นมันเลยโชยขึ้นมา
เอาถ้วยดักกลิ่นคืนมา!
ส่วน​ floor drain ที่เป็นตะแกรงระบายน้ำโซนแห้ง​ ยังมีถ้วยดักอยู่​ แต่ก็แห้งสนิทไม่มีน้ำเหลือเลย​ แสดงว่าละอองส้วมจากชักโครกห้องอื่นอาจผ่านมาทางนี้ได้​ เพราะไม่มีน้ำกั้น​ (water seal) ในถ้วยดักกลิ่น​ คงเป็นเพราะผมไม่ค่อยฉีดล้าง​ แต่ใช้วิธีเช็ดถู​ เหมือนคนที่ฮ่องกง
ตะแกรงระบายโซนแห้งยังมีถ้วยดักกลิ่นอยู่​ แต่ไม่มีน้ำเหลือเลย
หันไปมองรอบ​ ๆ​ ห้องน้ำเราก็เล็ก​ มีพัดลมดูดอากาศ​เหมือนกัน ระบบท่อน้ำทิ้งเป็นยังไงก็ไม่รู้​ แต่คงไม่ดีไปกว่าที่ฮ่องกง​
ดูท่าเราจะมีปัจจัยเสี่ยงครบ​ 5 ข้อ​ ถ้ามีใครเป็นซาร์สมาถ่ายในห้องข้างบนหรือข้างล่าง​ ผมอาจไม่รอด
ว่าแล้วก็รีบเอาน้ำมาเติมตรงตะแกรงระบายของโซนแห้งก่อนเลย​ เห็นว่าควรเติมทุกสัปดาห์จะได้ไม่แห้ง
ห้องเราเอง​ เวลาเข้าห้องน้ำก็เปิดแง้มประตูไว้หน่อยให้อากาศเข้าง่าย​ ๆ​ พัดลมจะได้ไม่ไปสูบอากาศจากท่อระบาย​ขึ้นมา
แต่เอ๊ะ​ ถ้าไม่ปิดประตูให้สนิท​ เวลากดชักโครก​ ละอองส้วมมันก็จะกระจายออกนอกห้องน้ำ​เข้าไปในห้องนอนได้สิ​
หรือเราจะทำตามที่เวปหรือวารสารวิชาการ​ต่าง​ ๆ แนะนำว่า​ ปิดฝาโถส้วมซะ เวลากด​ชักโครก ละอองส้วมจะได้ไม่ฟุ้งกระจาย
อันนี้ผมกังขามากว่าจะเป็นวิธีที่ดีจริงหรือเปล่า
แน่นอนว่าเราปิดฝา​ ละอองส้วมก็ออกมาได้น้อยลง​ (ขึ้นกับว่าฝาปิดสนิทแค่ไหน)
แต่สสารย่อมไม่สูญหายง่าย​ ๆ​ ละอองพวกนี้จะไปไหนได้
ถ้าให้เดา​ มันก็อบอวลอยู่ใต้ฝาปิดนั่นแหละ​ แทนที่จะกระจายไปทั่วห้องน้ำ​
พื้นที่ผิวหรือปริมาตรด้านในของโถส้วมที่ต้องรองรับละอองส้วมหลังปิดฝา​ มันเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับห้องน้ำ​ทั้งห้อง​
นั่นหมายความว่า​ ฝาชักโครก​ที่คุณต้องเอามือไปจับเพื่อเปิด​ กับฝารองนั่งที่บั้นท้ายคุณต้องสัมผัส จะฉ่ำ​ไปด้วยละอองส้วมจากคนก่อนหน้าที่ปิดฝาแล้วกดชักโครก
อุปมาเหมือนคนเอามือป้องปากก่อนจาม​ คุณก็ชื่นชมว่าดีเชื้อโรคจะได้ไม่ฟุ้งกระจาย​
แต่พอจามเสร็จ​ ดันเอามือที่ป้องปาก​ (ที่มีละอองเหนอะหนะจากการจามติดอยู่เต็ม​ ๆ)​ มาขอจับมือทักทายคุณ
ดังนั้นการปิดฝาน่าจะดีต่อคนที่ไม่ได้ไปใช้ชักโครก​ เช่น​ แค่มายืนปัสสาวะ​ หรือมาล้างมือที่อ่างน้ำเฉย​ ๆ​ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จะได้ไม่ต้องโดนพรมหัวจรดเท้าด้วยละอองส้วม
แต่กับคนที่ต้องไปนั่งชักโครกต่อ​ การปิดฝาตอนกดชักโครกอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก​ เว้นแต่ว่าจะติดหลอด​ยูวีฉายแสงฆ่าเชื้อในโถ​ หรือเอาน้ำยาฆ่าเชื้อมาขัดถู​ ก่อนที่คนถัดไปจะมาใช้
อันที่จริงความรู้เรื่องนี้ก็เป็นวิธีปลงสังเวชที่ดี​ ต่อให้สวยหล่อระดับดารายังไง​ ตัวทุกคนก็เคลือบด้วยละอองส้วมทั้งนั้น
1
หรือคุณอาจจะตายด้านไปเลย​ เวลาดูภาพยนตร์​บางเรื่องที่มีคู่หนุ่มสาวไปเล่นจ้ำจี้กันในส้วม​
แต่ถ้าไปถามพวกสัตว์​ หรือแมลงหลาย​ ๆ​ ชนิด​ มันก็คงงงว่ากลัวทำไมกับละอองส้วม​ พวกชั้นกินอึกันเป็นล่ำเป็นสัน​ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน​ แบคทีเรียจรจัด​: ตอนที่​ 7 อุจจาระคือทอง)
ปัจจุบันเราคงยังหลีกเลี่ยงละอองส้วมเหล่านี้ได้ยาก​ ถ้าเป็นห้องน้ำของเราเอง​ ผมเฉย​ ๆ​ มันก็เชื้อที่ออกมาจากก้นเราเอง​ กินกลับเข้าไปก็ไม่ได้อันตรายอะไรนัก​
ซึ่งอันที่จริงเชื้อในอุจจาระเราก็ปนเปื้อนไปทั่วบ้านอยู่แล้ว​ ไม่เฉพาะในห้องน้ำ​ โดยเฉพาะของที่เราเอามือจับบ่อย​ ๆ​ หรือของที่เปียกชื้นอยู่ตลอด
1
ส่วนห้องน้ำสาธารณะก็รีบเข้ารีบออก​ อย่าจับอะไรโดยไม่จำเป็น​ และที่สำคัญที่สุดก็คือการล้างมือให้สะอาด
ฟังดูตรงไปตรงมา​ แต่ยังก่อน​ ถ้าชักโครกเป็นตัวกระจายละอองส้วม​ ในห้องน้ำยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่รวบรวมละอองส้วมกลับมาละเลงบนตัวคุณ
1
สิ่งนั้นคือ...?
มาติดตามเฉลยในตอนถัดไปครับ
โฆษณา