Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Axdaman
•
ติดตาม
20 ส.ค. 2019 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
ผลประกอบการของการบินไทย บริษัทสายการบินแห่งชาติของเรา รวม Q1-Q2 ขาดทุน 6,438 ล้านบาท
ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนในระดับวิกฤตเสี่ยงต่อการล้มละลาย ด้วยหนี้สินรวม 245,133 ล้าน มีอัตราหนี้สินต่อทุน (debt to equity) สูงมากถึง 14.55 เท่า หนี้สินต่อกระแสเงินสด (debt to EBITDA) 86.43 เท่าตัว
ในขณะที่อัตราส่วนความสามารถชำระภาระผูกพัน (debt service coverage ratio) ลดต่ำลงเพียงเหลือแค่ 0.62 เท่า อธิบายง่ายๆได้ว่าไม่มีเงินจ่ายหนี้ตอนนี้ ต้องเพิ่มทุน หรือ ชะลอการจ่ายหนี้
แล้วถ้ายังจะซื้อเครื่องบินอีก 150,000 ล้านบาท การบินไทยจะเป็นสายการบินที่มีหนี้มากที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้
แต่ก่อนหน้านี้ยังมีสายการบินแห่งชาติของอีกประเทศ ที่มีหนี้สินสูงกว่าการบินไทยตอนนี้หลายเท่าที่ 700,000 ล้าน ที่สามารถพลิกฝ่าวิกฤตจนกลับมาทำกำไรได้ถึงปีละ 35,000 ล้านบาท นั่นคือสายการบิน Japanese Airline ( JAL ) สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น
ในปี 2010 สายการบิน JAL เข้าสู่ภาวะล้มละลายด้วยหนี้สินสูงถึง 700,000ล้านบาท ทำให้ต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์
แน่นอนว่าด้วยความเป็นสายการบินแห่งชาติ ถือเป็นหน้าตาของประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นคงไม่ปล่อยให้ล้มละลายไปต่อหน้าต่อตาได้ เพราะนั่นจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศและสภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นไม่เติบโตมาเป็นสิบปีแล้ว GDP แทบไม่ขยับมานาน จนกระทั่งตกมาเป็นเบอร์ 3 ของโลกถูกจีนแซงขึ้นไปนานแล้ว
นั่นจึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจช่วยด้วยการใส่เงินจำนวนมหาศาลถึง 350,000 ล้านบาทเข้าไป แต่ต้องรับเงื่อนไขสำคัญให่้ได้เสียก่อน
เพราะการเอาเงินถมเข้าไปโดยปัญหายังอยู่ วิธีการแบบเดิม ไม่ต่างกับการสุมฟืนเข้าไปดับไฟ โดยหวังว่าไฟมันมอดลง ซึ่งในความเป็นจริงไฟก็คงไหม้จนหมดอย่างรวดเร็ว
การตัดสินใจของไทยที่จะซื้อเครื่องบินอีก 150,000 ล้านบาทในตอนนี้คงไม่ต่างกันสักเท่าไหร่
เงื่อนไขสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นคือจะต้องให้คุณ คาซูโอะ อินาโมริ เข้าไปบริหารงานของ JAL แทน แล้วคุณคาซูโอะ เป็นใคร รัฐบาลญี่ปุ่นถึงมอบหมายหน้าที่สำคัญยิ่งนี้ให้
ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ ทำให้กิจการเติบโต จนกลายเป็นเศรษฐีมีเงินหลายหมื่นล้านบาท และอายุ 78 ปี คุณจะทำอะไร
แน่นอนว่า คุณคงใช้ชีวิตบั้นปลายแบบมีความสุข ท่องเที่ยว เลี้ยงหลาน ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องมาทำงานอีก
คุณคาซูโอะเป็นผู้ก่อตั้งของ “เคียวเซร่า” แบรนด์ชั้นนำของญี่ปุ่นแบรนด์หนึ่ง ที่เราเองก็อาจเคยได้ยินกันบ้าง เมื่อคนทั่วไปทราบว่าคุณคาซูโอะจะมาบริหาร ทุกคนคิดว่าเจ๊งหนักกว่าเดิมแน่นอน เพราะแกไม่เคยทำธุรกิจสายการบินเลย และด้วยวัยมากถึง 78 ปี
อย่างแรกที่คุณคาซูโอะทำคือการแจ้งว่าจะรับตำแหน่งบริหารนำพาวิกฤตินี้ โดยไม่รับเงินเดือน ค่าตอบแทนทุกอย่าง เพื่อแสดงความจริงใจว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อหาประโยชน์อะไร
เมื่อเข้ามาศึกษา คุณคาซูโอะได้วิเคราะห์และแจกแจงปัญหาใหญ่ของ JAL ออกมาได้ดังนี้
1.เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานแบบราชการ คือทำงานช้า การบริหารไม่มีประสิทธิภาพ คนที่ทำงานในระดับต่างๆแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง เล่นพรรคเล่นพวก คนเก่งไม่ได้ทำงาน ไม่มีโอกาสเติบโต
2.มีคนมากจนเกินความจำเป็น ในตอนนั้นมีจำนวนพนักงานมากถึง 50,000 คน
3.มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์อยู่มากและเป็นมายาวนาน เช่นเส้นทางการบินมากมาย เส้นทางไหนที่ขาดทุนก็ยังเปิดบินอยู่
เมื่อเห็นปัญหาก็มาสู่กระบวนการแก้ไข แต่ปัญหาที่สะสมมานานไม่ใช่แก้ง่ายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจะไปไล่คนที่ทำอยู่ออกทั้งหมด มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หรือถ้าเลือกทางนั้น คนที่จะเดือดร้อนก่อนก็คือตัวเอง
อันดับแรกที่คุณคาซูโอะทำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก คือต้องเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของแม่ทัพเสียก่อน เพื่อจะได้ถ่ายทอดต่อลงไปยังระดับต่างๆ ( Cascade ) เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น องค์กรจะไม่เปลี่ยน
มีการพบปะพูดคุยอย่างใกล้ชิดเป็นกลุ่ม เป็นการส่วนตัว สนทนากันถึงเรื่องต่างๆทั้งชีวิต การทำงาน ความคิดต่างๆ จนเริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
อันดับต่อไป เมื่อผู้บริหารระดับสูงเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ให้ไปถ่ายทอดต่อในระดับต่อไป ในองค์กรใหญ่ๆนั้นการสื่อสารสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ CEO ประกาศวิสัยทัศน์ประจำปีแล้วพนักงานทุกคนจะเข้าใจได้
ดังนั้นผู้บริหารระดับต่างๆจึงมีหน้าสำคัญที่จะถ่ายทอดต่อในระดับรองลงมาเรื่อยๆ และต้องแน่ใจว่าเขาเข้าใจ จนถึงพนักงานระดับต่อๆไป เพื่อให้เข้าใจเรื่องนั้นๆ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วการทำงานของทุกคนในองค์กรจะเริ่มเปลี่ยน จะเห็นเป้าหมายเดียวกัน
อันดับต่อไป หาว่าปัญหาของการทำงานมาจากไหน เพราะหลายส่วนก็บอกฉันทำงานดีแล้ว ส่วนงานแกต่างหากที่ทำให้ขาดทุน คุณคาซูโอะก็เลยจับมาทำงานด้วยกันแบบเป็นทีมย่อยๆหลายร้อยทีม ให้บริหารงาน ทำบัญชี กำไรขาดทุน ของแต่ละทีม สร้างการแข่งขันระหว่างทีมต่างๆขึ้นมา
จากนั้นเมื่อเห็นแล้วว่าปัญหาการทำงานอยู่ที่ไหน ก็เริ่มปรับโครงสร้าง ลดจำนวนพนักงาน เพิ่มหน้าที่รับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่นลูกเรือ ( แอร์โฮสเตส,สจ๊วต ) จะต้องทำความสะอาดหลังจากผู้โดยสารลงจากเครื่องหมดแล้ว ซึ่งปกติแล้วจะมีหน่วยงาน Cleaner เพื่อเข้ามาเก็บกวาดเป็นต้นครับ
จำนวนพนักงานที่ลดลงคาดว่ามากถึง 15,000 คนจากจำนวน 50,000 คน จึงเหลือเพียง 35,000 คน ส่วนของรายจ่ายค่าจ้างลดลงไปประมาณ 30,000 ล้านบาท
ได้ตัดเส้นทางบินที่ไม่คุ้ม ขาดทุนออก เพิ่มเส้นทางที่ทำกำไร เปิดเส้นทางใหม่ๆที่สร้างรายได้ เมื่อเริ่มทำทุกอย่างแล้ว ภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น JAL ก็กลับมาผงาด พลิกฟื้นกิจการได้ จนกลับเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2012
แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความสามารถของคุณคาซูโอะคนเดียว หากมาจากทุกคนในองค์กร พร้อมใจช่วยกันอย่างเต็มที่และรับรู้ว่าองค์กรเรามีปัญหาและต้องแก้ไข และทำอย่างเต็มที่
ย้อนกลับมาดูการบินไทยแล้ว ก็คงทำได้เพียงแต่เอาใจช่วย และหวังว่าจะมีคุณคาซูโอะคนที่สอง ที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ได้เสียที
ขอบคุณครับ
Cr : ผมอ่านหลายแหล่งทั้งไทยและเทศเพื่อมาสรุปให้ท่านอ่าน ดังนั้นขอยกเครดิตให้ทุกท่านที่เขียนบทความเรื่องนี้ครับ
เพิ่มเติมอีกหน่อย
1.ท่านทำให้ทุกคนในองค์กร รับรู้และยอมรับว่าเราล้มละลายแล้ว ทำอย่างไรจะฟื้นกลับมาได้
2.ท่านเปลี่ยนสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนในองค์กร
3.ท่านลงไปถึงหน้างาน พูดคุยกับพนักงานระดับต่างๆด้วยตนเอง ตลอดจนขอร้องพนักงานให้ทำงานเต็มที่ ด้วยความจริงใจ
4.ท่านไม่ได้รับเงินเดือน หรือผลประโยชน์อะไรเลยจากการเข้ามาช่วยวิกฤตครั้งนี้
5 บันทึก
34
8
20
5
34
8
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย