เมื่อผ่านไป 1-2 เดือน ฮงขายหุ้น CPF ได้ราคา 9.60 บาท จากต้นทุนที่ซื้อมา 7.80 บาท เพราะราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 วันติดกัน เนื่องจากนักลงทุนคิดว่างบไตรมาส 3 ปี 2552 จะขยายตัวต่อเนื่อง ช่วงนั้นโบรกเกอร์เริ่มทยอยออกมาปรับราคาเป้าหมาย CPF แต่ฮงได้กำไรเข้ากระเป๋า 400,000-500,000 บาท มูลค่าพอร์ตลงทุนพุ่งขึ้นเป็น “หลักล้านบาท” แล้ว
“จากนั้นคุณแม่ก็เติมเงิน (เพิ่มทุน) ให้อีกครั้งหลัก “ล้านบาท” คราวนี้มีทุนเยอะทำให้พอร์ตลงทุนขยับเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว หลังจากกำไรหุ้น CPF ก็ไปเข้าหุ้น VNG ตอนนั้นอัดเต็มพอร์ต เพราะเห็นว่างบไตรมาส 4 ปี 2552 มีกำไรต่อหุ้น 0.27 บาท ราคาหุ้นวันนั้น 3 บาท ถ้าวนชัย กรุ๊ป สามารถรักษาระดับกำไรต่อหุ้นได้แบบนี้ เชื่อว่ากำไรต่อหุ้นทั้งปี 2553 จะยืน 1 บาท”
ฮงถือหุ้น VNG แค่ 3 เดือน ขายออกที่ราคา 5 บาท ได้กำไร 70% ทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนของเขาพุ่งขึ้นเป็นหลัก “สิบล้านบาท” เมื่อขายหุ้น VNG เกลี้ยงพอร์ต ก็โยกเงินไปซื้อหุ้น PTL ที่ราคา 7.50 บาท ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ทยอยสะสมก่อน 30% ของพอร์ต พอราคาหุ้นขึ้นมา 15 บาท คราวนี้อัดเต็ม 100% ของพอร์ต ใช้มาร์จิ้นซื้ออีก 60% รวมเป็น 160% แล้วไปขายออกในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ราคา 45 บาท
หุ้นโพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) คือจุดหักเหครั้งสำคัญทำให้ฮงรวยขึ้นมหาศาล “หลายเท่าตัว” พอร์ตของเขาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น “หลายสิบล้านบาท” ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ฮงบอกกับทีมงานกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่าปัจจุบันมูลค่าพอร์ตของเขาเท่าไร แต่ขอไม่ให้เปิดเผยตัวเลขกับสาธารณะ
หลังจากที่ประสบความสำเร็จได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ฮงบอกว่าจากนั้นก็ซื้ออะไรไปเรื่อยเปื่อย เช่น หุ้น TVO และหุ้น STA ตอนที่ช้อนหุ้น TVO ราคาเฉลี่ย 27-29 บาท เพราะเห็นว่าราคาถั่วเหลืองในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,300 เซ็นต์ต่อบุชเชล ภายในเวลา 2 เดือน แต่ถือหุ้นตัวนี้ไม่ถึง 2 เดือน ก็ขายออกในราคา 31 บาทได้กำไรไม่เท่าไร
ส่วนหุ้น STA ซื้อมา 36 บาท เพราะเห็นว่าราคายางพาราทำจุดสูงสุดใหม่ แต่สุดท้ายก็ยอมขายขาดทุน 35 บาท เพราะราคาหุ้นไม่ขยับตัวตามราคายาง “ตัวไหนถือไว้ดูท่าจะไม่รุ่ง ผมจะขายทิ้ง”