5 พ.ย. 2019 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
สาเหตุอะไรที่ทำให้การบินไทยขาดทุน?
Source: Positioning Magazine
จากข่าว “การบินไทย” เบรกรับลูกเรือเพิ่ม จากปัจจุบันมี 6,000 คน แต่มีเครื่องบินใช้งานได้ 80 ลำ” และ ข่าว ชำแหละ “การบินไทย-นกแอร์” กอดคอ #ขาดทุนเท่าฟ้า “แอร์เอเชีย” กำไรลดฮวบ
เป็นข่าวที่น่าตกใจสำหรับบริษัทสายการบินแห่งชาติของไทย ที่ดูจากภายนอกแทบจะมีความได้เปรียบทุกสายการบินที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย
ทั้งเป็นเจ้าของพื้นที่ มีรายได้จากทรัพย์สินให้เช่า มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ เป็นสายการบินที่ในภาพของคนไทยและผู้ใช้บริการว่าเป็นสายการบินที่มีบริการอยู่ในลำดับต้นๆของโลก รวมถึงมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
"ทว่ายังประสบกับสภาวะการขาดทุน"
ครั้งนี้จะนำมาวิเคราะห์สาเหตุในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่เคยทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการใกล้เคียงกับการบินไทยมาก่อน และองค์กรที่เคยทำงานก็ประสบปัญหาใกล้เคียงกันหรือจะเหมือนกันก็ว่าได้ โดยสายการบินนกแอร์ที่ดำเนินงานโดยการบินไทยจะไม่ได้ทำการกล่าวถึงโดยตรง
เรามาดูว่าสิ่งที่การบินไทยประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบันคืออะไรบ้าง
1.มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ
2.มีเครื่องบินจอดรอซ่อมกว่า 20 ลำ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้
3.มีเครื่องบินหลายรุ่น
4.การทำงานของพนักงานต้อนรับแต่ละคนก็มีทักษะความชำนาญตามรุ่นที่ตนเองทำงาน
5.มีพนักงานมากเกินกว่าเนื้องานหรือผลประกอบการที่ควรจะมี
6.มีการรับพนักงานเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีพนักงานจำนวนมากอยู่แล้ว (ที่มาจากข่าว: การบินไทยได้ประกาศรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำนวน 200 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 10 - 31 ต.ค. 2562 นั้น ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้ประชุมมีมติให้เลื่อนการรับสมัครออกไปก่อนเพื่อทบทวนในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้ครบถ้วน, Positioningmag.com)
ประเด็นที่ต้องทำการแก้ปัญหา
1.เพิ่มรายได้
2.ลดรายจ่าย
3.ทำในสิ่งที่ต่างออกไป
ทำไมมันง่ายจัง......ทั้งที่ปัญหามีมากมายแต่กลับมีการเสนอให้แก้ไขเพียง 3 ข้อแล้วจะแก้ปัญหาได้เลย
“ยุคใหม่การตลาดของไทย” ยืนยันว่ามีเท่านี้จริงๆเพราะทุกธุรกิจก็ทำเท่านี้ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ในรายละเอียดต่างกัน และทำอย่างไรให้เกิดผลประกอบการที่เติบโตและยั่งยืน
เนื่องจาก “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ไม่ได้รู้เรื่องภายในองค์กรของสายการบินไทย ถ้าจะรู้ก็รู้จากสื่อต่างๆและตัวเลขผลประกอบการณ์ที่ปรากฏ ดังนั้นการวิเคราะห์และการนำเสนอจึงจะได้ทำบนพื้นฐานตัวเลขและข่าวที่ปรากฏ
ก่อนที่จะอธิบายว่าเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายอย่างไร ขอแบ่งปันมุมมองจากผู้ที่เคยทำงานในองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่าการบินไทยมาก่อน พนักงานมากกว่าผลประกอบการพอๆกัน และปัญหาที่พบเป็นไปในทางเดียวกันด้วย
สิ่งที่พบว่าทำไมองค์กรขนาดใหญ่จึงประสบสภาวะการขาดทุน จากประสบการณ์ตรงที่พบจะได้ทำการแบ่งปันเป็นข้อๆดังนี้
1.มีการแบ่งฝ่ายรับผิดชอบเพิ่มขึ้น (ตามจำนวนงานที่กล่าวอ้าง)
2.แต่ละฝ่ายจะมีเป้าหมายหรือการดำเนินการที่เป็นเอกเทศ
3.แต่ละคนยึดถือเอกสารเป็นสำคัญหากไม่มีเอกสารยืนยันจะไม่ดำเนินการใดๆ
4.แต่ละฝ่ายยังมีการปัดความรับผิดชอบออกจากตนเอง
5.มีการประชุมและวางแผนการทำงานด้านเอกสารถี่มากแต่ไม่ได้เอาไปปฏิบัติจริง (เพราะทำแล้วต้องไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ)
6.กว่าจะทำอะไรสักเรื่องมีขั้นตอนซับซ้อนมากมาย
7.กว่าจะได้ทำเวลาก็ล่วงเลยไม่ทันกาล
8.ไม่ยึดถือผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร
9.มีวัฒนธรรมองค์กรระบบเจ้าขุนมูลนาย มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก
10.ไม่อยู่บนหลักการสมประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win)
ซึ่งทั้ง 10 ข้อข้างต้น ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขยากเลย แต่ที่พบว่ายากเพราะวิธีคิดที่ไม่ได้อยู่ในข้อที่ 10 นั่นเอง เพราะการที่จะคิดอย่างนี้ได้ไม่ใช่จู่ๆคิดได้เลย ต้องเกิดจากการสะสมแนวความคิดที่เป็นบวกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บวก
คนเหล่านี้เคยเชื่อว่ามีได้กับเสียเท่านั้น ไม่มีความเชื่อว่าทุกคนได้ทั้งหมด (เชื่อแบบไหนก็ปฏิบัติแบบนั้น) เราจึงเห็นว่าปัญหามันซับซ้อนแก้ไขยาก
ความเห็นของ "ยุคใหม่การตลาดของไทย"
คราวนี้เรามาดูกันว่าการแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อมีแนวทางอย่างไรแบบง่ายกัน (ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องสงครามทางการค้าและการประท้วงในฮ่องกงมาเป็นปัจจัยในการดำเนินการ รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่คนส่วนมากรู้แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน)
1.การเพิ่มรายได้
1.1.ในเบื้องต้นที่ทำได้คือการทำให้เครื่องบินสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพราะปัจจุบันใช้ได้เพียง 80%
1.2.เพิ่มจำนวนผู้โดยสาร เรื่องนี้การบินไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าสายการบินใดในโลกเลย
1.3.เพิ่มรายได้ต่อคน ซึ่งสามารถคัดกรองลูกค้าที่ต้องการบริการที่การบินไทยมีเหนือกว่าสายการบินอื่นเป็นพิเศษได้ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” มั่นใจมากว่าการบินไทยคืออันดับ 1 ของโลกในเรื่องนี้
1.4.สร้างรายได้จากสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ สนามบิน คลังสินค้า รถให้บริการ ของที่ระลึก การเช่าหมาลำ การให้บริการขนส่งสินค้า การให้บริการด้านการฝากสินค้า ฯลฯ
2.การลดค่าใช้จ่าย
2.1.ลดการซ่อมเครื่องบิน อาจจะใช้การขายออกไป เอาเงินที่ได้รวมกันมาซื้อเครื่องใหม่
2.2.ใช้เครื่องบินไม่เกิน 3 รุ่นหรือ 3 ยี่ห้อ ยิ่งน้อยยิ่งดี แต่อาจจะมีความเสี่ยงในด้านการบริหาร ซึ่งต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นด้วย
2.3.เมื่อใช้เครื่องบินน้อยรุ่นก็สามารถฝึกอบรมพนักงานต้อนรับให้สามารถทำงานทดแทนกันได้และยังทำให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จากกรณีที่มีพนักงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำการบินได้ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้และยังเป็นการเสียโอกาสจากพนักงานที่ต้องจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ได้ปฏิบัติงาน
2.4.สร้างการตระหนักในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นช่วยกัน จะทำให้องค์กรตระหนักถึงความจำเป็นที่ร่วมกันรับผิดชอบ สร้างให้เกิดความรู้สึกรักองค์กรรักประเทศเพิ่มขึ้น
3.ทำในสิ่งที่ต่างออกไป
ที่ต้องมีข้อนี้เพราะสืบเนื่องจากผลประกอบการที่มีสถานะเช่นนี้มาเป็นเวลานาน คาดว่าน่าจะหลายปีแล้ว นั่นก็พิสูจน์ได้แล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์การบินไทยเลย
ที่สำคัญที่จะไม่ให้เหมือนที่องค์กรขนาดใหญ่ประสบมาทั้ง 10 ข้อข้างต้น คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแบบสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Win-Win)
Source: MH Global
ทั้งหมดนี้แม้ว่าสถานการณ์โลกจะแย่อย่างไร มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งโลกอย่างไรก็ยังทำให้การบินไทยมีกำไรอย่างยั่งยืนได้ ด้วยพื้นฐานด้านการบริการของคนไทย พื้นฐานวัฒนธรรมอันดีของเรา พื้นฐานการปลูกฝังให้คนไทยเป็นคนกตัญญู สิ่งเหล่านี้ที่จะทำให้การบินไทยกลับมาผงาดมีผลประกอบการที่เป็นบวกได้ในเร็ววัน
ครั้งนี้ไม่ได้นำเอากรณีของสายการบิน JAPAN AIRLINES มาใช้เทียบเคียงแต่อย่างได
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความเห็น (ล้วนๆ) จากคนที่มองการบินไทยอย่างห่วงใยด้วยใจของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะตรงใจหรือไม่ตรงใจกับหลายคนก็เป็นได้ หากไม่ตรงใจอย่างไรต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
แต่หากท่านใดมีแง่คิดดีๆที่เป็นแนวทางให้การบินไทยเราก้าวไปสู่สายการบินระดับโลก ที่มีกำไรอย่างยั่งยืน "ยุคใหม่การตลาดของไทย” ขอเชิญชวนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันเรื่องราวดีๆกันด้วยนะครับ
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
สามารถติดตามข้อมูลแนวคิดทางการตลาดยุคใหม่ได้ที่
YouTube Channel: Modernization Marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย)
หากชื่นชอบและถูกใจบทความนี้ ฝากกด Like กด Share และติดตามเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ
โฆษณา