15 พ.ย. 2019 เวลา 05:35 • ธุรกิจ
"อัตราการใช้กำลังการผลิต" ที่ ส.ส. ถกกันในสภามันคืออะไรกันนะ?
เนื่องจากบทความนี้มีการลงรายละเอียดมาก ใช้เวลาอ่านประมาณ 10 - 15 นาที และมันจะเป็น 15 นาที ที่คุ้มค่ากับการที่จะช่วยให้ท่านประเมินภาพรวมเศรษฐกิจเพื่อนำมาประกอบกลยุทธ์ในการลงทุนได้แน่นอนครับ
นำรูปมาจาก https://www.manufacturingglobal.com/people-and-skills/china-does-not-see-vietnam-manufacturing-competition
สำหรับคนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจช่วงนี้ คงจะเจอข่าวประเภท
"ธุรกิจเจ๊งไม่เป็นท่า ปิดตัวโรงงานกว่า 1391 แห่ง เปิดใหม่ 2889 แห่ง มากกว่าเป็นเท่าตัว ???"
สับสนกันไหมครับ ว่าสรุปแล้วมันยังไงกันแน่เศรษฐกิจเจ๊งจริงรึเปล่า
วลีข้างบนที่จั่วหัวไว้เป็นของรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน
หลังจากนั้นไม่นานกลับมี ท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง มายอมรับออกสื่อว่า "เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เศรษฐกิจชะลอตัว"
กระผมนายหมูน้อยจะนำข้อเท็จจริงที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผยแพร่ มาให้ทุกท่าให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจกันครับ ว่า
การที่โรงงานรุ่นเก๋าๆปิดตัวไปกว่า 1391 โรงงาน เลิกจ้างไปงานไป 35,533 คน กับโรงงานใหม่ที่เปิดตัวมา 2889 โรงงาน จ้างงานเพิ่มขึ้นมา 84,033 คน มันแสดงว่าการผลิตเรากำลังขยายตัวจริงรึเปล่า
(คนที่ทำธุรกิจ ต่างก็อยากได้กำไรกันทั้งนั้น การที่มาถึงจุดนี้ได้ รับรองได้เลยว่าเค้าใช้ทุกกระบวนท่าแล้วครับ)
ส่วนนี้ขอปูพื้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่า
เจ้าตัวเลขด้านบนเรื่องปริมาณโรงงานที่ปิดตัวกับโรงงานที่เปิดใหม่มันเทียบกันตรงๆไม่ได้
เหมือนเราเอาบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนหลัก 100 ล้านขึ้นไป มาวัดกับโรงงานใหม่ๆที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้าน
ถ้าอยากรู้ว่ามันกระทบจริงขนาดไหน
ต้องนำข้อมูลที่มีความละเอียดมากกว่านี้มาวัดกัน
สมมติง่ายๆว่าถ้ามี บริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยล้มขึ้นมาสักบริษัท ผลกระทบที่ได้มันจะมากกว่าหรือน้อยกว่าโรงงานทำขนมเปิดใหม่สัก 10 โรงงานมารวมกันจริงไหมครับ?
วันนี้กระผมนายหมูน้อย จะมาแนะนำให้ทุกท่านรู้จักดัชนีตัวนึง ที่ใช้ในการวัดว่าโรงงานสามารถผลิตสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่
ดัชนีตัวนี้มีชื่อว่า "อัตราการใช้กำลังการผลิต"
กำลัง "Intrend" ขึ้นรัฐสภาไทยกันเลยทีเดียว
(ขอชี้แจงก่อนว่าบทความนี้ไม่มีอคติทางการเมืองผสมอยู่ อยากให้ทุกท่านสบายใจ การประเมินสภาพเศรษฐกิจต้องกระทำด้วยใจเป็นกลางเท่านั้น เพื่อที่จะได้ภาพที่ถูกต้องและนำไปกำหนดกลยุทธในการลงทุนต่อไป)
อัตราการใช้กำลังการผลิต(Capacity Utilization)
หรือที่เรียกกันว่าค่า CAP-U
เป็นเครื่องชี้ระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยเปรียบเทียบกำลังการผลิตจริงกับกำลังการผลิตสูงสุดของเครื่องจักร ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
คำอธิบายดูยากครับแต่จริงๆแล้วมันคือ
ถ้าหมูน้อยมีเครื่องผลิตลูกชิ้นหมูที่มีกำลังผลิตสูงสุดตามสเปคเครื่องจักรสามารถ 100 ตันต่อเดือน ณ เวลานี้ ผมใช้กำลังการผลิตเท่าไหร่(ตามปรกติก็วัดกันเป็นรายเดือนครับ) แต่ผมผลิตที่ 80 ตันต่อเดือน(เผื่อเวลาการพักและซ่อมบำรุงเครื่องจักร) ดังนั้นอัตราการใช้กำลังการผลิต ของโรงงานลูกชิ้นหมูน้อยจะอยู่ที่ ร้อยละ 80
1
โดยทั่วไปแล้วหากว่าดัชนีตัวนี้อยู่ที่อัตรา ร้อยละ 80 ขึ้นไปถือว่าโรงงานนั้นๆสามารถผลิตสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพของเครื่องจักร และ มีแนวโน้มว่า ต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ยิ่งเกิน 80 ไปมากเท่าไหร่ แสดงว่าปริมาณสินค้าของเรามีความต้องการซื้อมากขึ้นเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน หากว่าดัชนีตัวนี้ต่ำกว่า 80 มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นแนวโน้มที่ไม่ดีกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเช่นกัน โดยที่ เมื่อดัชนีกำลังการผลิตมีค่าต่ำกว่า ร้อยละ 50 ถือว่ามีการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
เมื่อคำสั่งซื้อสินค้าลดลงและโรงงานไม่สามารถหาตลาดเพื่อขายสินค้าเพิ่มได้ ก็จำเป็นที่จะต้องลดการเดินเครื่องจักรการผลิตลง
ดังนั้นมันจึงเป็นตัวที่ใช้ชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้ดีตัวนึงเลยทีเดียว
เรามาดูกันก่อนว่ากำลังการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนกี่ % เมื่อเรานำมาวัด อัตรากำลังการผลิตในภาพรวม
จากภาพจะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ มีสัดส่วนที่สูงคืออุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น
- ผลิตภัณฑ์อาหาร
- ผลิตภัณฑ์ยานยนต์
- ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี และ เคมีภัณฑ์
- ยางและพลาสติก
ผมได้ทำการเจาะลึกลงไปถึงอัตรากำลังการผลิตในรายอุตสาหกรรมว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร ในรูปแบบกราฟเพื่อความเข้าใจง่าย
(ผมได้ทำการย่อยข้อมูลให้ทุกท่านแล้ว แต่ข้อมูลก็ยังคงมีปริมาณมากอยู่ดี)
เชิญรับชมกันได้เลยครับ Bon appétit
1. กำลังการผลิตในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์อาหาร
วิธีการอ่านกราฟ สำหรับกราฟชุดนี้คือ
1. มุมซ้ายบนจะมีรหัสสี สำหรับดูว่าในกราฟมีข้อมูลของอุตสาหกรรมใดบ้าง โดยสีน้ำเงิน จะเป็นหัวข้อหลัก
ในส่วนของสีอื่นๆที่เหลือจะเป็นองค์ประกอบย่อยๆในกลุ่มอัตสาหกรรมนั้น
*ส่วนนี้สำคัญครับ ไม่เช่นนั้นเราจะอ่านกราฟไม่เข้าใจ อย่างกลุ่มนี้ก็จะมีรหัสกลุ่มเป็น TSIC 10 ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยที่มีส่วนประกอบย่อยๆเป็น
TSIC10XX
2. ในแนวนอน หรือ แกน x จะเป็นส่วนของเวลา เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม 2561 - กันยายน 2562 สาเหตุที่ใช้ระยะเวลาช่วงนี้ เพราะต้องการให้เห็นถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่ออุตสาหกรรมไทยในภาพรวมโดยที่สงครามการค้าเริ่มต้นที่ เดือนกันยายาน 2561
โดยตัวแนวโน้มหลักผมจะใส่ตัวเลขประกอบอัตรากำลังการผลิตไว้ครับ
3. แนวตั้ง คือระดับร้อยละ ของอัตรากำลังการผลิตครับ ให้สังเกตที่ระดับ 80% ถ้าอยู่ในระดับนี้ถือว่ามีกำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพ อยู่ต่ำกว่า 50% คืออาการไม่ค่อยดี
หลังจากดูกราฟแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างครับ กลุ่มอาหารที่แข็งพอจะสู้กับสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ได้มีกลุ่มใดบ้าง ถ้าลองสังเกตดูดีๆก็จะพบว่ามันไปกองอยู่ในธุรกิจบางส่วนเท่านั้นเอง...
ในส่วนของกราฟสีแดงตัวล่างสุด คือกลุ่มน้ำตาลที่มีช่วงพีคของการผลิตอยู่ในช่วง พ.ย. - มี.ค. ครับ
2. กลุ่มเครื่องดื่ม
ภาพรวมของกลุ่มนี้ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ตัวสุรา ก็ไม่สามารถดึงเพื่อนฝูงขึ้นมาได้
3. กลุ่มยาสูบ
กลุ่มนี้น่ารักครับ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มยาสูบของไทยขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันผลประกอบการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะแทนที่คนไทยจะสูบบุหรี่ที่ผลิตในประเทศราคาซองละ 60-70 บาท สู้ไปซื้อของต่างประเทศที่ราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกันดีกว่า แถมรสชาติดีกว่าด้วย
(เหล่าสิงค์อมควันมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ comment นะครับ หมูน้อยอยากรู้เหมือนกันว่ามุมมองของพวกท่านกับเรื่องนี้เป็นยังไง)
4. กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
ผมเห็นข่าวแวปๆว่ามีโรงงานเสื้อผ้าปิดโรงงานไปเจ้านึง ทั้งที่เป็นธุรกิจที่อยู่กับประเทศเรามานานพอสมควร
5. กลุ่มเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
เอาจริงๆกลุ่มนี้อาการค่อนข้างหนักครับ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราสามารถจ้างแรงงานที่มีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกกว่า ตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าโรงงานรายใหญ่ๆเริ่มพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิตออกไปด้านนอกบ้างหรือยัง คือการย้ายฐานการผลิตมันสามารถทำได้ครับแม้ว่าจะมีขั้นตอนมากมายก็ตาม ย้ายเครื่องจักร อะไรพวกนี้ ถึงจะมีขั้นตอนมากแต่ไม่ลำบากเหมือนที่เราคิดกัน
6. กลุ่มสิ่งทอ
มีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ประเด็นคือ ระดับต่ำกว่า 50%
7. กลุ่มกระดาษ
8. กลุ่มปิโตรเลียม
มีแนวโน้มทรงตัวครับ แต่ในระยะ 4-5 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวได้อย่างมีสีสันเลยอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มนี้มีการแกว่งตัว
9.กลุ่มเคมีภัณฑ์
กลุ่มนี้เราต้องจับตาในระยะหลังจากนี้เป็นต้นไปครับ เพราะเราเริ่มมีการแบนสารบางตัวออกจากระบบ แต่ไม่ได้พิจารณาโดยรอบคอบถึงผลกระทบที่แท้จริง... เอาไว้ผมจะเขียนถึงเรื่องพวกนี้ในโอกาสถัดไปครับ
10. กลุ่มเภสัชภัณฑ์
11. กลุ่มยางและพลาสติก
ยางแนวโน้มไม่ค่อยดี ตอนนี้เราโดนตลาดเพื่อนบ้านในกลุ่มที่ขายยางด้วยกันทุ่มตลาด
12. กลุ่มที่ทำจากแร่อโลหะ
13. กลุ่มโลหะพื้นฐาน
กลุ่มนี้อาการหนักครับ โดนเหล็กจากจีนมาตีตลาด
14. กลุ่มโลหะประดิษฐ์
เริ่มส่งแนวโน้มที่ไม่ดีในช่วงระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา
15.กลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเลกทรอนิคส์
หนึ่งในเส้นเลือดหลักของไทยคือกลุ่มชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ ยังยืนอยู่ได้
16. กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า
ภาพรวมระยะยาวไม่ค่อยดีครับแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
17. กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ
18. กลุ่มยานยนต์
กลุ่มนี้ยังพอยืนอยู่ได้ครับ
19. กลุ่มอุปกรณ์ขนส่ง
20.กลุ่มเฟอร์นิเจอร์
กลุ่มนี้เราสงสัยกันมั๊ยครับว่าทำไมถึงอยู่ในระดับต่ำ เราโดนสินค้าจากจีนตีตลาดไปแล้วครับ เอาง่ายๆว่าทุกวันนี้เรานอนอยู่บ้านหยิบมือถือขึ้นมากดเข้า lazada ก็เจอเฟอร์นิเจอร์ดีๆราคาไม่แพง ส่งจากจีนมาไม่กี่วันก็ถึง
21. กลุ่มเครื่องประดับและอุปกรณ์การแพทย์
จริงๆ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ของไทยมีศักยภาพสูงมาก ผมมองว่าเป็นกลุ่มที่รอแค่จังหวะและโอกาสเท่านั้นครับ
สุดท้ายนี้คือ อัตรากำลังการผลิตรวม ครับ
สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่เผยแพร่โดย สำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง (แต่ข้อมูลค่อนข้างหายากนิดนึง)
บทความนี้ คือชิ้นส่วน ชิ้นนึง ที่เราจะนำไปประกอบเป็นภาพใหญ่
สำหรับพวกเราทุกคนที่อยู่ในวงล้อของเศรษฐกิจแล้ว นี่คือหนึ่งในผีเสื้อตัวที่ใหญ่ที่สุดที่ได้สะบัดปีกขึ้นมา(Butterfly Effect Theory) ส่วนจะเกิดพายุโหมกระหน่ำเข้ามาจนส่งผลกระทบกับเราหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
ในขณะที่ผีเสื้อตัวอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเรานั้น ทยอยขยับปีกขึ้นมาทีละตัว ผีเสื้อนอกประเทศอีกหลายๆตัวก็ได้โผบินขึ้นมาเช่นกัน
ผมได้ทำการวัดคุณภาพน่านน้ำ"ส่วนหนึ่ง"ให้ทุกท่านแล้วครับ
ในทุกๆวิกฤติย่อมซ่อนโอกาสล้ำค่าไว้อยู่ เพียงแต่เราจำเป็นที่จะต้องมองให้ออกก่อนว่า นั่นคือปัญหา เราจึงจะสามารถหาทางออกได้
การมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่บางครั้งการที่เราจะระบุปัญหาได้ชัดเจน เราจำต้องมองโลกด้วยความเป็นจริง และประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน เพื่อที่จะสามารถคว้าโอกาสนั้นมาไว้ในมือได้ครับ
บทความชิ้นนี้หมูน้อยจัดทำด้วยความตั้งใจเป็นอย่างมาก หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกท่านครับ
ฝากกดไลค์กดแชร์เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ
รัก
หมูน้อย
โฆษณา