18 ม.ค. 2020 เวลา 09:32 • ความคิดเห็น
วันนี้นึกมุกเก่าได้ล่ะ... ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำโขง 1 ในเครื่องรางของขลังในยุคเก่าก่อน...
” หมากดี ที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลัง วัดนายโรง ไม้ครู คู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบิน วัดหนองโพ พิสมร วัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้าย วัดโตนดหลวง ราหู คู่วัดศรีษะ แหวนอักขระ วัดหนองบัว ลูกแร่ ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน เก้าสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหาติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ้วพานฯ ”
บทโคลงกลอนที่นักสะสมเครื่องรางของขลังในยุคเก่าก่อนได้กล่าวถึง 9 เครื่องรางของขลังทรงคุณค่าที่ควรมีไว้คู่กาย อันได้แก่ 1. หมากทุยหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 2. เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง 3. ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู วัดอินทร์ 4. มีดหมอ (มีดบิน) หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ 5. ตะกรุดพิสมรหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ู6. ตะกรุดอุดครั่งหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง 7. ราหูหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง 8. แหวนอักขระหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว 9. ลูกสะกดเนื้อแร่บางไผ่ หลวงปู่จันทร์ วัดโมลี…ใครที่มีชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็ว่าดีแล้ว ยิ่งใครมีครบนี่นับว่าเป็นมงคลมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไม้ครู”ที่ทำจากต้นไม้ที่เชื่อกันว่าในโลกนี้มีเพียงแค่...ต้นเดียว ต้นมณีโคตร หรือ ต้นแก้วมะนีโคด เป็นชื่อต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่ามีเพียงต้นเดียวในโลก เติบโตท่ามกลางตำนานมากมาย...
เกิดอยู่บนแง่หินที่เป็นเหมือนเกาะเล็กๆ ที่กล่าวกันว่าไม่เคยมีผู้ใดได้ไปถึง อยู่กลางน้ำตกคอนพระเพ็ง ซึ่งถือเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและถูกเรียกขานว่าเป็นไนแองการ่าแห่งเอเชีย
1
ด้วยความกว้างกว่า 1 กิโลเมตรและสูงกว่า 15 เมตร กลางแม่น้ำโขง สายน้ำที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ทางตอนใต้ของประเทศลาว (Laos) ริมชายแดนกัมพูชา
ชาวบ้านบางส่วนที่นี่เรียกต้นมณีโคตรแห่งนี้ว่า “ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น”
หากเอาด้านหัวของกิ่งชี้ไปหาใคร คนนั้นจะตาย แต่กลับกัน หากใช้ด้านปลาย...
ซึ่ง....ใครจะรู้ว่าไม้เท้าประจำตัวของขุนพันธ์ ...
บรรจุผ้ายันต์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงคาถาอาคมเอาไว้
เชื่อกันว่าหากนำหัวไม้เท้าชี้ผู้ใด ผู้นั้นจะมีอันเป็นไป! ...เนื้อไม้นั้นล่ะทำด้วยวัสดุอะไร???
จากตำนานของลาวที่เล่าขานกันว่า เป็นต้นไม้วิเศษ หากปลายชี้ไปทางไหนก็จะมีแต่ความเจริญ โดยมณีโคตรมีปลายอยู่สามกิ่ง
กิ่งหนึ่งชี้ไปทางแผ่นดินกัมพูชา เขมร เชื่อว่าใครกินผลของกิ่งนี้จะกลายเป็นลิง
กิ่งหนึ่งชี้มาทางแผ่นดินลาว ชาวลาวเชื่อว่าใครได้กินผล (หมาก) ที่เกิดจากกิ่งนี้จะแก่ชราขึ้น
และปลายที่ใหญ่ที่สุดชี้มาทางแผ่นดินไทย เชื่อว่าใครที่ได้กินผลจากกิ่งนี้ จะหนุ่มขึ้น เยาว์วัยขึ้น
บ้างก็ว่าไม่ว่ากินจากกิ่งไหนก็จะมีกำลังวังชาเหนือมนุษย์
และบ้างก็เชื่อว่าปลายกิ่งทั้งสามที่ชี้ไปทางกัมพูชา ไทยและลาว หมายถึงว่าทั้งสามประเทศจะเจริญเป็นมรกตแห่งอินโดจีน
แต่ก็ยังไม่เคยมีใครได้กินผลจากกิ่งใดเลย เพราะไม่มีผู้ใดเคยเข้าใกล้ต้นมณีโคตรได้
เล่ากันว่าฝรั่งเศสเคยเอาเรือมาฉุดเพื่อโค่นให้ต้นไม้มณีโคตรนี้ล้ม และเพื่อทำลายความเชื่อภูตผีและตำนานของคนลาว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ
บางคนเล่าว่า ทหารที่โรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์ทั้งจากฝรั่งเศสและรัสเซียที่ต้องการพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ ล้วนพลัดตกลงไปตายกลางน้ำตก ไม่มีใครสามารถลงไปเหยียบเกาะหินเล็กๆ ที่เป็นที่ตั้งของต้นมณีโคตรได้เลย รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งของฝรั่งเศสที่บินไปใกล้ๆ ก็ตกลงอย่างไม่รู้สาเหตุด้วยเช่นกัน
ด้วยความเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการสร้างศาลไว้ให้คนบูชาไว้ที่ฝั่งบริเวณใกล้ๆ กับน้ำตก
ลักษณะของ ต้น “มณีโคตร” เป็นต้นไม้ใหญ่เกิดอยู่กลางน้ำ ซึ่งไหลต่อลงมาบนน้ำตก “พระเพ็ง” ขึ้นอยู่ตรงกลางระหว่างต้นไทร 2 ต้น
ลักษณะของกิ่งและใบไม่ดกหนานัก แต่ที่ประหลาดพิสดารที่สุดก็คือ แทนที่ต้นมณีโคตรจะตั้งอยู่ตามธรรมชาติเหมือนต้นไม้ทั่วไปที่เติบโตพุ่งขึ้นสู่ฟ้า แต่กลับแหวกกฎธรรมชาติโดยปล่อยให้รากแก้ว รากฝอยพุ่งขึ้นไปในอากาศ และให้กิ่งก้านสาขาหยั่งลงบนพื้นน้ำแทน โดยยังเจริญงอกงามอยู่ได้ไม่เฉาตาย
2
มีตำนานเล่าขานจากคนแก่คนเฒ่าว่า แต่เดิมต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้มีความประหลาดพิสดารแบบนี้แต่อย่างใด...
ทว่า คราวหนึ่งมีสามเณรน้อยผู้เคร่งครัดรูปหนึ่งได้ขึ้นไปนั่งจำศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ซึ่งยังมีลักษณะปกติอยู่ ตกเช้าก็ออกบิณฑบาตไปตามป่าเขา แม้บริเวณนั้นไม่มีผู้คนอยู่เลยแต่มีสามเณรก็มีอาหารเต็มบาตรทุกเช้า
ว่ากันว่าสามเณรได้บิณฑบาตมาจาก “ผีบังบด” ซึ่งเป็นชาวทิพย์หนึ่งที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีซึ่งสามารถรับบุญที่พวกมนุษย์อุทิศให้ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาวันหนึ่งสามเณรท่านนี้ก็ได้เดินลุยน้ำเข้าไปในโพรงใต้ต้นไม้หายไปแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย รุ่งขึ้นอีกวันต้นไม้นั้นก็มีอันผิดกฎธรรมชาติ และคงอยู่ในลักษณะนั้นตลอดมา
อีกตำนานของ " ต้นมณีโคตร" นั้นมีเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวลาวและชาวลาวอิสานด้านติดชายแดนอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยครั้งหนึ่งเมื่อ 60-70 ปีก่อน มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ธุดงค์โปรดสัตว์อยู่แถบนี้ ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ใดก็มักจะกล่าวกับผู้คนที่พบพานอยู่เสมอว่า "ผู้ใดไปถึงหลี่ผี หากเป็นผู้ไม่มีบุญบารมีแล้วอย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นต้นมณีโคตร" ผู้คนจึงหลั่งไหลมาเพื่อพบเห็นต้นมณีโคตรในที่สุด ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ต้นไม้ต้นนี้ขึ้นอยู่กลางน้ำใหญ่ที่นี่มานานเท่าใดแล้ว
นอกจากนี้ยังมีตำนานโบราณของลาวเล่าตำนานของมณีโคตร มาจากเรื่อง รามายณะ อีกว่า “ทศเศียร (ทศกัณฐ์) ได้มาต่อสู่กับพระลักพระลาม (พระลักษณ์ – พระราม) ที่น้ำของ ทหารของทศเศียรโดนหุลละมาน (หนุมาน) ฆ่าตายถึง 4,000 ตน นอนตายกลางน้ำของกลายเป็นเกาะเรียกว่า สี่พันดอน
เมื่อฆ่ายักษ์เสร็จจึงหักเอากิ่งไม้มณีโคตรมาช่วยรักษาชีวิตฝ่ายตน โดยไม้มณีโคตรมีสองกิ่ง คือกิ่งทางทิศตะวันออกชี้เป็น คือ ชี้คนตายให้ฟื้นได้ ส่วนกิ่งทางทิศตะวันตกชี้ตาย คือ ชี้คนให้ตายได้ จึงทำให้ฝ่ายพระลักพระลามมีชัยชนะ”
แต่มาบัดนี้ต้นไม้มณีโคตรแห่งน้ำตกคอนพะเพ็ง คงเหลือเพียงชื่อและตำนานให้เล่าขานกันเท่านั้น
เพราะเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 ต้นมณีโคตรได้โค่นล้มลงแล้ว สาเหตุที่ต้นไม้ล้มเชื่อว่าเนื่องมาจากต้นไม้อายุมากแล้ว และก่อนหน้านั้นก็มีพายุลมแรงและฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ทำให้ต้นไม้ทานกระแสลมและกระแสน้ำไม่ไหว
แต่มีบางกระแสข่าวเล่าว่า เหตุที่ต้นมณีโคตรโค่นล้มเนื่องมาจากการบวงสรวงที่ต้องกระทำทุกปีนั้น ในปีนี้ได้กระทำผิดวิธี ทำให้ต้นไม้โค่นลง โดยหลังจากเริ่มทำพิธีเมื่อเวลา 1 ทุ่ม จากนั้นตอน 4 ทุ่มต้นไม้ก็ล้มลง เป็นที่ฮือฮาน่าตกใจสำหรับชาวลาวเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลลาวได้พยายามหลายครั้งที่จะไปกอบกู้เอาต้นมณีโคตรมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโขง แต่ก็ไม่สามารถทำได้
ก่อนหน้านี้ทางการลาวได้ใช้เฮลิคอปเตอร์หย่อนคนลงมา เพื่อนำเชือกมามัดต้นไม้ไว้กับแก่งหินเพื่อไม่ให้ลอยหายไป
แต่ไม่สามารถนำต้นขึ้นมาบนฝั่งได้เนื่องจากต้นไม้มีขนาดใหญ่และกระแสน้ำรุนแรงจนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556 ทางการลาวได้ปฏิบัติ ภารกิจนี้อีกครั้ง..
โดยทหารต้องใช้เวลาทั้งวันตั้งแต่เช้าถึง 5 โมงเย็น เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญครั้งนี้ โดยนำเฮลิคอปเตอร์ทางทหารของลาวนำเจ้าหน้าที่หย่อนลงไป 2-4 คนเพื่อช่วยกันนำเอาต้น “มณีโคตร” ขึ้นมาจนได้
ท่ามกลางพลังแรงดันน้ำมหาศาลที่กดอากาศแปรปรวนในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโขง เพื่อให้ประชาชนศึกษาต่อไป...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา