23 ม.ค. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อ้อยมาจากไหน?
อ้อยเป็นหนึ่งในพืชที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงนี้ ช่วงที่เริ่มมีการกระจายของฝุ่น pm2.5 แล้วอ้อยก็เป็นหนึ่งในพืชที่ถูกเผาเพื่อเก็บเกี่ยวในหลายพื้นที่ และเป็นต้นตอให้เกิดมลพิษทางอากาศหลายๆ ตัว
วันนี้เราลองมารู้จักอ้อยกันให้เพิ่มขึ้นดีกว่าครับ
หลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้ค้นพบทวีปอเมริกาแล้ว ได้มีการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ระหว่างโลกเก่า (ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย) และโลกใหม่ (อเมริกา) หลายชนิด เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง มะละกอ พริก และพืชอื่นๆ อีกหลายชนิดที่เรารู้จักกันในปัจจุบันที่มีต้นกำเนิดในอเมริกาได้ถูกนำมาปลูกในยุโรปและเอเชีย
แต่ก็มีพืชบางชนิดที่เดินทางจากโลกเก่า เพื่อที่ไปปลูกในโลกใหม่ โดยอ้อยก็เป็นหนึ่งในนั้น
อ้อยเป็นพืชในวงศ์ POACEAE เช่นเดียวกับ ไผ่ หญ้าและธัญพืช เช่น ข้าว และข้าวโพด อ้อยที่นิยมปลูกกันในโลกนี้คือ ชนิดพันธุ์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Saccharum officinarum] และลูกผสม (Hybrids) ของชนิดพันธุ์นี้กับอ้อยพันธุ์อื่นๆ
1
อ้อยชนิดพันธุ์ [Saccharum officinarum] (ที่มา By Ton Rulkens, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15081463)
จุดกำเนิดของอ้อยที่นำมาเพาะปลูกมี 2 แห่ง แต่ในทั้งสองแห่งนี้อ้อยที่ถูกนำมาปลูกเป็นคนละชนิดพันธุ์กัน ได้แก่ [Saccharum officinarum] ที่ถูกนำมาเพาะปลูกโดยชาวปาปวนที่อาศัยอยู่บนเกานิวกีนี และ [Saccharum sinense] ที่ปลูกโดยชาวพื้นเมืองไต้หวัน และจีนตอนใต้
1
โดยชาวปาปวนได้ทำการคัดเลือกและเพาะปลูกอ้อยชนิด [Saccharum officinarum] จากพืชชนิดดั้งเดิมในธรรมชาติที่ชื่อว่า [Saccharum robustum] ตั้งแต่เมื่อ 6,000 ปีก่อน โดยในตอนแรกนั้น อ้อยไม่ได้ปลูกไว้เพื่อผลิตน้ำตาล แต่เพื่อเป็นอาหารให้กับหมูที่ถูกนำมาเลี้ยง
หลังจากนั้นอ้อยกลายเป็นพืชที่นิยมนำไปเพาะปลูกโดยชาวออสโตรนีเซียน (ชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน คาบสมุทรมลายู และมาดากัสการ์) เมื่อชาวออสโตรนิเซียนอพยพไปตามที่ต่างๆ โดยใช้เรือแคนู ก็จะนำอ้อยไปเพาะปลูกด้วย โดยอ้อยได้กระจายไปทางตะวันออกในหมู่เกาะไมโครนีเชีย และพอลินีเชีย และไปทางตะวันตกในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2
เมื่อมาถึงยังแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้อยชนิดพันธุ์ [Saccharum officinarum] ได้ผสมเกิดเป็นลูกผสม (Hybrid) กับพืชในสกุลอ้อยอีกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่าเลา [Saccharum spontaneum] ที่มีต้นกำเนิดในเอเชียใต้ ลูกผสมที่เกิดขึ้นมีน้ำตาลในต้นเพิ่มขึ้น ทำให้มีความนิยมในการปลูกมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และถูกนำไปปลูกทั่วไปในยุคต่อมา
เลา [Saccharum spontaneum] พืชที่ผสมกับอ้อยชนิด [Saccharum officinarum] เกิดเป็นลูกผสมที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน (ที่มา By Joydeep, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=32665046)
นอกจากนั้นอ้อยชนิด [Saccharum officinarum] ที่แพร่กระจายไปยังประเทศอินเดียและประเทศจีนในช่วงประมาณ 3,000 ปีก่อน และได้มีการผสมกับอ้อยชนิดพันธุ์พื้นเมืองในทั้งสองพื้นที่ ได้แก่ ชนิด [Saccharum sinense] ในประเทศจีน และ ชนิด [Saccharum barberi] ในประเทศอินเดียเกิดเป็นลูกผสมที่นิยมนำมาเพาะปลูกกันแทนในพื้นที่แถบนั้น และจากอินเดียนั้นอ้อยก็ได้มีการแพร่กระจายต่อไปในเอเชียตะวันตกและทวีปยุโรป
อ้อยชนิดพันธุ์ [Saccharum sinense] ที่นิยมปลูกในแถบประเทศจีนและไต้หวัน (ที่มา By farkomer, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=66087481)
เส้นทางการเดินทางของอ้อย ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยจุดเริ่มต้นคือ เกาะนิวกินี (สีแดง) และถูกแพร่กระจายโดยชาวออสโตรนีเซียน (เส้นประ) ไปยังจีน (น้ำเงิน) และอินเดีย (ชมพู) ทำให้เกิดลูกผสมกับอ้อยพื้นเมือง และจากอินเดียได้แพร่กระจายต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรป*
ในตอนเริ่มต้นนั้นอ้อยยังไม่ได้ใช้ผลิตน้ำตาลโดยตรงแต่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยการคั้นน้ำอ้อยออกมาจากอ้อยมาเพื่อใช้เป็นน้ำหวาน ต่อมาเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนเริ่มมีการผลิตน้ำตาลจากน้ำอ้อยในประเทศอินเดีย และ เริ่มมีการผลิตน้ำตาลทรายขาวในช่วงเวลาต่อมา
ในศตวรรษที่ 8 ชาวอาหรับและชาวมุสลิมก็ได้นำน้ำตาลจากอินเดียไปขายในยุโรป เมโสโปเตเมีย อียิปต์ และแอฟริกาเหนือ รวมถึงต้นพันธุ์ของอ้อย ทำให้เกิดการเพาะปลูกอ้อยในแถบเมโสโปเตเมีย แต่เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน (Tropics) และเขตกึ่งร้อน (Sub-tropics) เท่านั้น ทำให้ชาวยุโรปไม่สามารถปลูกอ้อยได้ในประเทศของตัวเอง แต่ต้องมีการหาพื้นที่ปลูกอ้อยในส่วนเขตร้อนอื่นๆ เช่น บนหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลติกในบริเวณฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา เช่น หมู่เกาะมาเดราของโปรตุเกส หรือหมู่เกาะคะแนรีของสเปน
น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (ซ้ายบน) น้ำตาลทรายดิบ (ขวาบน) น้ำตาลทรายแดง (ซ้ายล่าง) และน้ำตาลที่ได้มาจากน้ำอ้อยโดยตรง (ขวาล่าง) (ที่มา By Romain Behar, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1219848)
เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้ค้นพบทวีปอเมริกา และเดินทางกลับไปยังทวีปอเมริกาในครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1493 โคลัมบัสได้นำต้นพันธุ์ของอ้อยไปด้วย และจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการปลูกอ้อยในหมู่เกาะแคริบเบียน บริเวณประเทศเฮติและประเทศโดมินิกันในปัจจุบัน หลังจากนั้นการเพาะปลูกอ้อยในแถบอเมริกาก็แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดการค้าน้ำตาลที่ผลิตจากทวีปอเมริกา เพื่อแลกกับสินค้าจากยุโรป และการค้าทาสในแอฟริกา เพื่อไปปลูกอ้อยในทวีปอเมริกา จนเมื่อมีการเลิกทาสในทวีปอเมริกา แต่ความต้องการแรงงานในการปลูกอ้อยก็ยังคงมีอยู่ จึงเริ่มมีการหาแรงงานจากส่วนอื่นๆ ของโลกไปทดแทน เช่น จากจีน อินเดีย และโปรตุเกส
1
ในปัจจุบันอ้อยถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณการปลูกที่มากที่สุด คือ ถึง 1.9 พันล้านตัน ใช้พื้นที่บนโลกกว่า 160 ล้านไร่ (26 ล้านเฮคแตร์) ใน 90 ประเทศทั่วโลก เพื่อผลิตน้ำตาลเป็นหลัก โดยน้ำตาลที่บริโภคกันบนโลกนี้กว่า 79% ได้มาจากอ้อย ส่วนที่เหลือผลิตมาจากพืชอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Sugar beet ที่เป็นพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน และเจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่น โดยเฉพาะในยุโรป
Sugar beet ที่นิยมนำมาผลิตน้ำตาลในยุโรป (ที่มา By Amédée Masclef - Atlas des plantes de France. 1891, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5767279)
ลูกผสมของอ้อยว่าซับซ้อนแล้ว ลูกผสมของสตรอว์เบอร์รี่ซับซ้อนกว่า ลองอ่านดูได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
2. Vilela; Del-Bem; et al. (2017). "Analysis of Three Sugarcane Homo/Homeologous Regions Suggests Independent Polyploidization Events of Saccharum officinarum and Saccharum spontaneum". Genome Biology and Evolution. 9 (2): 266–278.
3. Grivet et al. - A Review of Recent Molecular Genetics Evidence for Sugarcane Evolution and Domestication. Ethnobotany Research & Applications 2: 9-17 (2004)
5. *ที่มา Map showing centers of origin of Saccharum officinarum in New Guinea, S. sinensis in China, and S. barberi in India. per: Daniels, Christian; Menzies, Nicholas K. (1996). Needham, Joseph, ed. Science and Civilisation in China: Volume 6, Biology and Biological Technology, Part 3, Agro-Industries and Forestry. Cambridge University Press. pp. 177–185. ISBN 9780521419994.
โฆษณา