28 ม.ค. 2020 เวลา 15:31 • ข่าว
ข่าวจริง หรือข่าวลวง รับมือยังไงดี
ช่วงนี้กระแสเรื่องข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นประเด็นที่คนพูดถึงมากมาย โดยเฉพาะช่วงที่คนกำลังแตกตื่น และหวาดกลัวกับไวรัสโคโรน่า (แอดมินก็กลัวเช่นกันค่ะ) บางคนพบเห็นข้อมูลอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรค ก็อยากจะแบ่งปัน และส่งต่อให้คนอื่นได้รู้บ้าง แต่กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่ส่งต่อ ๆ กันไป บางครั้งก็เป็นข่าวปลอมที่ให้ข้อมูลผิด ๆ
แอดมินมีวิธีการแยกแยะข้อมูลจริงเท็จจากเว็บ และสื่อสังคมออนไลน์ แบบง่าย ๆ มาบอกกันค่ะ ใช้แนวคิด R.E.A.L ที่ Sandy Liptak บรรณารักษ์ โรงเรียน Leander Independent School District เมือง Leander รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้สอนเด็กประถม เรื่อง การรู้สารสนเทศ การรู้ดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (Information, digital and media literacy)
R.E.A.L มาจาก
Read the URL คือ เราต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากแหล่งที่เผยแพร่ค่ะ มาจากสำนักข่าว หน่วยงานภาครัฐ หรือบุคคล ในเว็บเราดูง่าย ๆ จากโดเมนเนมว่า เป็น .com .edu .org .gov .ac
Examine the content ขั้นตอนนี้คือ เราต้องอ่าน พิจารณาเนื้อหาว่า ข้อมูลที่เราอ่านอยู่นั้น เป็นข้อเท็จจริง ข่าว โฆษณาชวนเชื่อ หรือ ความคิดเห็นส่วนบุคคล มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลไหม และเมื่อเทียบข้อมูลกับแหล่งอื่น ๆ เป็นข้อมูลที่ตรงกันไหม
Ask about the author and copyright date คือ การตรวจสอบผู้ให้ข้อมูล เช่น ตัวผู้เขียน หรือถ่ายทอดเนื้อหาเป็นคนที่มีความรู้ เชี่ยวชาญ มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ รึเปล่า หรือเล่าต่อ ๆ กันมา แล้วข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่า หรือใหม่ เผยแพร่วัน เดือน ปีไหน เคยเจอกันบ้างไหมคะ คลิปวีดิโอเก่า แล้วนำมาประกอบเนื้อความในเหตุการณ์ใหม่ เช่น คลิปภัยพิบัตินี่เจอบ่อยเลยค่ะ
Look at the link คือ ดูลิงก์ว่าสามารถเชื่อมโยงไปแหล่งอ้างอิง หรือแหล่งข้อมูลจริงได้ไหม บางเว็บพาดหัวข่าวน่าสนใจมาก ๆ พอกดเข้าไปกลายเป็นโฆษณา หรือไวรัสแทน
ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะแยกแยะข่าวสารโดยเฉพาะจากเว็บไซต์ได้ แอดมินมีตัวช่วยเอาไว้ตรวจสอบข้อมูลค่ะ ได้แก่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ให้เราค้นหาข่าวปลอมจากวันที่ หรือหัวเรื่องของข่าว เช่น ค้นคำว่า "ไวรัส" ของวันที่ 28 มกรา 63 จะพบข่าวปลอมถึง 24 รายการเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถส่ง URL ข่าวที่สงสัยว่าเป็นข่าวปลอมไปตรวจสอบได้ด้วย ซึ่งหน่วยงานจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการตรวจสอบค่ะ ลองเข้าไปตรวจสอบข่าวปลอมกันได้ที่ https://www.antifakenewscenter.com/
ส่วนในต่างประเทศจะมีเว็บ https://www.factcheck.org/ จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของศูนย์ Annenberg Public Policy Center ที่ทำความร่วมมือกับเฟสบุ๊กเพื่อตรวจตราข่าวปลอม แล้วรายงานข่าวปลอมในแต่ละวันให้เราทราบผ่านเว็บได้
ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊กเอง ก็มีช่องทางให้ผู้ใช้บริการตรวจสอบข้อมูลแหล่งข่าวได้ ซึ่งปกติจะขึ้นเฉพาะฟีดของหน่วยงานที่นำเสนอข่าว ผู้ใช้สามารถกดปุ่ม "about this article" ที่มีหน้าตาเหมือนตัว i อยู่บริเวณมุมขวาล่างของภาพข่าว เมื่อกดแล้วจะพบกับประวัติ หรือข้อมูลของแหล่งข่าว เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาว่าแหล่งข่าวนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่
อันที่จริงแหล่งตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะข่าวว่าจริงหรือปลอมมีอีกมาก แต่ละแหล่งอาจมีข้อจำกัดในการตรวจสอบข่าวที่แตกต่างกันไป เช่น ภาษา การกำหนดคำค้น ลองเข้าไปทดลองใช้กันดูได้นะคะ อย่างน้อยก็ยังมีเครื่องมือช่วยตรวจสอบข่าวเบื้องต้น ก่อนที่เราจะเข้าใจผิด หรือหลงแชร์ข้อมูลผิด ๆ ไปให้คนอื่น
- Fact check explorer ของ Google:
- AFP factcheck:
- Snopes factcheck:
- PolitiFact:
ทักษะการรู้สารสนเทศ การรู้ดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลแบบนี้ นั่นเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารฉับไว อัพเดทกันเป็นรายวินาที และ ท่วมท้นทะลักทลาย ถ้าเราไม่สามารถประเมิน และวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เราอาจรับข้อมูลข่าวสารผิด ๆ แล้วนำไปใช้อย่างไม่ถูกไม่ควร สามารถส่งผลเสียกับตัวเราเองและผู้อื่นได้นะคะ
R.E.A.L ใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน
"คิดก่อนใช้ คิดก่อนแชร์" นะคะ
โฆษณา