Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าคนเข้าป่า
•
ติดตาม
16 ก.พ. 2020 เวลา 05:14 • การศึกษา
จะแก้ไขปัญหาขยะถูกทิ้งตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ยังไง?
ทำได้ไม่ยากหากทุกคนรู้จัก "ทฤษฏีกระจกแตก" The Broken Windows Theory
1
ต้นตอของปัญหาขยะที่ถูกทิ้งตามทาง เริ่มต้นจากขยะเพียงชิ้นเดียวถูกทิ้งลงบนพื้น แต่ขยะเพียงชิ้นเดียวนั้นจะก่อให้เกิดกองขยะขนาดใหญ่ เต็มทางถนน เหมือนกับโรคมะเร็งที่ปล่อยไว้แล้ว ไม่กำจัดทิ้ง จนลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
หากผมบอกว่า ขยะในเมืองสามารถลดลงได้ จากการที่ทุกคนลงมือช่วยกัน "เก็บขยะ" ในพื้นที่นั้นให้กลับมามีสภาพใหม่เหมือนเดิม คุณจะเชื่อมั้ย ?
แนวคิดการจัดการปัญหาต่าง ๆ ของสังคมด้วย "ทฤษฏีกระจกแตก"
ทฤษฏีนี้มาจากการทดลองของศาตราจารย์ด้านจิตวิทยา Dr. Philip Zimbardo ขณะสอนอยู่ที่เยลล์ (Yale) ในปี 1969 เขาได้ทำการทดลองโดยการจอดรถสองคันทิ้งไว้ใน 2 สถานที่
.
รถคันแรกจอดบนถนนในเมือง Palo alto , california ส่วนอีกคันจอดอยู่บนถนนในย่าน Bronx campus จุดแตกต่างของสถานที่ทั้ง 2 คือ เมือง Bronx เป็นเมืองที่ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องอาชญากรรม สภาพแวดล้อมอันตราย ผู้คนไม่ค่อยมีฐานะ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสังคม "สลัม" ในขณะที่ Palo alto เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้ดี มีฐานะ สภาพแวดล้อมสะอาดเรียบร้อย เป็นระเบียบ
.
ผลการทดลองจากการจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลาเพียง 3 วัน รถที่จอดบนถนนใน bronx ถูกทำลายยับเยินจนไม่สามารถประกอบกลับมาใหม่ได้ ชิ้นส่วนถูกงัดแงะหายไปเกือบหมด จากการนับรอยแผลของการงัดแงะรถในครั้งนี้พบว่ารถถูกกระทำทั้งหมด 23 ครั้ง!!
.
ส่วนรถอีกคันอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยที่เกิดจากการกระทำแต่อย่างใด จนกระทั่งเขาได้ลอง "ทุบรถ" ให้เกิดรอยเล็ก ๆ เพียง 1 รอย และสังเกตการณ์ต่อ
.
ผลปรากฎว่า พอรอยเกิดขึ้นบนรถที่จอดอยู่บนถนน Palo แล้ว ในที่สุดรถคันนี้ก็มีสภาพเช่นเดียวกันกับรถในย่าน bronx
โรคร้ายที่เกิดขึ้น และกำลังแพร่จายอย่างเงียบ ๆ ในสังคม
ทฤษฎีกระจกแตก เป็นการพูดถึงความไร้ระเบียบของสังคม ที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ เพียงจุดเดียว จนลุกลามกลายเป็นสิ่งใหญ่โตได้ หากไม่มีการจัดการที่ดี ละเลยปัญหา ไม่มีใส่ใจสนใจ
จุดด่างเล็ก ๆ ที่คนมองข้าม ของปัญหาในสังคมทั้งตัวบุคคล และสถานที่ หากไม่มีใครรับผิดชอบดูแล ผลที่ตามมาคือ พื้นที่บริเวณนั้นเกิดความเสื่อมโทรม จนอาจเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นได้ ทั้งสภาพแวดล้อมที่แย่ลง การทำผิดไม่ถูกลงโทษ ผู้คนให้อภัยผิดกับเรื่องเล็กน้อย ยิ่งทำให้ไปกระตุ้นพฤติกรรมเชิงลบได้ดียิ่งขึ้น เพราะความชะล่าใจ และการปล่อยปะละเลย ผู้กระทำผิดจึงคิดว่าทำได้ ถึงจะทำสิ่งไม่ดีก็ไม่มีคนสนใจ
เมื่อมีครั้งที่ 1 แล้ว...ย่อมมีครั้งที่ 2
จากการทดลองแสดงให้เห็นถึงรอยร้าวเล็ก ๆ ในสังคมที่หากมีคนกระทำผิดเพียงเล็กน้อยแค่หนึ่งคน โดยกระทำอย่างโจ่งแจ้ง แล้วการกระทำผิดนั้นไม่ได้รับบทลงโทษ มันจะไปกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมเกิดพฤติกรรมการ " เลียนแบบ" หรือ "ทำตาม" ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้สังคมนั้นเกิดความน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ ชุมชนอ่อนแอลง ผู้คนมีแนวโน้มพฤติกรรมไปในเชิงลบ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ตั้งแต่ที่ปัญหานั้นยังเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ อยู่
จากทฤษฎีนำไปสู่ความจริง
Ruldolf Giuliani (Cr. Newsday.com)
นาย Ruldolf Giuliani อดีตนายกเทศมนตรีของเมืองนิวยอร์ก ได้นำทฤษฎีนี้ไปปรับใช้ในเมืองของเขา ในนิวยอร์ก เมืองที่มีแต่ปัญหาอาชญากรรม ทั้งการค้ายา ต่อสู้ยิงกัน เหตุข่มขืน
พอนาย Ruldolf ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเขาก็ได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อจัดการเรื่องนี้
.
แต่เเทนที่เขาจะพุ่งเป้าไปที่การจัดการปัญหารุนแรงเหล่านี้ เขากลับทุ่มกำลังคนและเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งหมดไปกับการเอาผิดเรื่องเล็กน้อยแทน ไม่ว่าจะเป็น ปัสาวะในที่สาธารณะ เบี้ยวค่ารถไฟใต้ดิน การพ่นสเปรย์บนกำแพง การทิ้งขยะไม่ลงถัง ทิ้งลงพื้นที่สาธารณะ
.
หากสเปรย์ถูกพ่นในคืนนี้ พรุ่งนี้เช้าก็จะถูกลบอย่างรวดเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริง (คุณพ่นได้ ชั้นก็ลบได้) เขาสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดตั้งใจสอดส่องพร้อมแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ที่คนมองข้าม
Cr. sheffieldbid.com
แต่ผลที่ได้กลับมาคือ "โดนวิจารณ์ถล่มทลาย"
ผู้คนต่างพากันคอมเม้น วิจารณ์ ไม่พอใจกลับนโยบายนี้ ความคิดเชิงลบถาโถมเข้าสู่ Ruldolf อย่างล้นหลาม เพราะประชาชนรู้สึกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่พอเวลาผ่านไป.....
.
ผู้คนกลับเริ่มสังเกตเห็นบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ภาพสีผนังที่ถูกพ่นเริ่มไม่ค่อยมี เพราะเด็กมือบอนที่ชอบออกมาโชว์ลีลากันตอนกลางคืน ขีดเขียนกำแพง ฝาผนังไปทุกที่ เริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะทันทีที่เขาเขียนเสร็จในตอนกลางคืน เช้ามามันก็ถูกลบไปเสียแล้ว
นี่เป็นการส่งข้อความบอกวัยรุ่นเป็นนัย ๆ ว่า "เลิกเถอะ ทำไปก็เสียเวลา"
.
บรรยากาศเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมดีขึ้น ไม่มีรอยสีบนพื้นถนนหรือกำแพง ผู้คนรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน และจากสำรวจพบว่า คดีฆาตกรรม 2,154 คดี และ คดีอื่น ๆ อีก 626,182 คดี ในตอนที่เขาเข้ามารับตำแหน่งได้ในตอนแรก หลังจากเขาได้นำ "ทฤษฎีกระจกแตก" มาใช้ ผ่านไป 5 ปี คดีฆาตกรรมลดเหลือเพียง 770 คดี และคดีอื่น ๆ ลดเหลือเพียง 355,893 คดี หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
.
จากเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหา ผู้คนเบื่อหน่ายกับปัญหาเดิม ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการแก้ไขและเป็นเรื้อรังมาอย่างยาวนาน กลับได้รับการแก้ไขภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
https://unsplash.com/photos/7FAhq93_Ir8
เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ
การจัดการแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ เป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ แต่ปัญหาใหญ่ ๆ ล้วนมีที่มาจากปัญหาเล็ก ๆ ที่คนมองข้าม ละเลยจนกลายเป็นเหมือน "เชื้อโรค" ที่แพร่ระบาดและลุกลามอย่างรวดเร็ว เกินที่จะรับมือและแก้ไขได้ทันท่วงทีโดยที่ไม่มีผลกระทบใด
การร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อมสร้างสังคมที่สงบสุข เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป และไม่ใช่เรื่องของนายก หรือ เจ้าหน้าที่ แต่เป็นเรื่องของ "ทุกคน" ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เพราะถ้าหากแต่ละคนไม่รับผิดชอบ หรือละเลยในการกระทำของตน เช่น การแซงคิว การโกงข้อสอบ การขับรถย้อนศร เรื่องเล็กๆ เหล่านี้จะกลายเป็นภาพจำที่ไม่ดีแก่ผู้พบเห็นและเกิดการเลียนแบบจนเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด
.
ในประเทศสิงคโปร์ เพียงแค่ถุยน้ำลาย หมากฝรั่ง หรือทิ้งขยะ ลงบนพื้น ผู้นั้นจะต้องเสียค่าปรับกว่า 372 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 12,000 บาท) ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก ทำให้ผู้คนไม่กล้าที่จะทำผิด
ย้อนกลับมาที่เรื่องของขยะ ปัญหาขยะที่ถูกทิ้งตามทางเดิน และพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังเช่นกัน ลักษณะของปัญหามีความคล้ายคลึงกับปัญหาในการทดลอง คือขยะที่ถูกทิ้งมักจะเป็นขยะชิ้นเล็กเช่น ขวดน้ำ ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ผู้คนต่างทิ้งลงด้วยความที่ขนาดของมันเล็กจึงคิดว่าไม่ส่งผลกระทบมากเท่าไหรหากเราทิ้งแค่คนเดียว
แต่ลองนึกดูสิว่า ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมดล่ะ!!!!
นั้นคือ สิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ผู้คนต่างคิดว่า สิ่งผิดเพียงเล็กน้อยที่เราทำจะไม่ส่งผลกระทบอะไร จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า " พฤติกรรมการเลียนแบบ" ขึ้นมา คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ สุดท้ายหากไม่มีใครหยุดยั้ง ก็เกิดการเลียนแบบขึ้น ทำตามกันเรื่อยมา จนในสุดท้ายมันจะฝังรากลึกลงไปเกินกว่าจะแก้ไขได้ และกลายเป็นผู้คนมองว่าไม่ใช่เรื่องผิด หรือ ผิดแต่ก็ยังทำ เพราะไม่มีใครมาว่ากล่าวหรือลงโทษแต่อย่างใด แต่…
ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยเริ่มจาก "ตัวเรา"
หากเราไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้เคยกระทำผิดไม่กล้าที่จะทำอีก หากทั้งเมืองมีแต่คนแยกขยะ ทิ้งขยะถูกที่ แล้วเราเพียงคนเดียวที่ยังทำผิด เราจะเกิดความกลัวในจิตใจ กลัวความแปลกแยก หรือกลายเป็น "แกะดำ" แล้วความกลัวจะทำให้เราไม่ทำผิดเองโดยอัตโนมัติ
ข้อคิดจากคนเข้าป่า
แก้วที่ร้าว หากปล่อยให้มันร้าวต่อไป สุดท้ายมันก็แตก
และแก้วที่แตกไปแล้วไม่ว่าคุณจะต่อยังไงก็ไม่มีวันที่จะเหมือนเดิม…
เรียบเรียงโดย : เรื่องเล่าคนเข้าป่า
ติดตามเพจ FB ได้ที่
https://www.facebook.com/storyintotheforrest/
ติดตามเพจ BD ได้ที่
https://www.blockdit.com/intothejungle
ที่มา :
https://dsignsomething.com/2016/03/02/the-broken-windows-theory-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80/
https://en.wikipedia.org/wiki/Broken_windows_theory
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1480397
https://eportfolios.macaulay.cuny.edu/generaladmissionnyc/2018/05/06/the-history-of-graffiti/
9 บันทึก
39
19
7
9
39
19
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย