2 เม.ย. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มดสื่อสารกันได้อย่างไร? - แยกเพื่อนจากศัตรู
(ที่มา ดัดแปลงจากภาพของ Steve Shattuck, CSIRO, https//www.scienceimage.csiro.au/image/3225)
มดเป็นสัตว์สังคม นั่นคือ มดอยู่ร่วมกันในรังเดียวกัน มดงานช่วยเหลือกันทำงานในรังและออกมาหาอาหารภายนอกรัง เพื่อจะนำอาหารมาเลี้ยงให้ราชินี และตัวอ่อนของมดให้เจริญขึ้นมาเป็นตัวเต็มวัยเพื่อจะเป็นมดงานตัวใหม่หรือมดมีปีก ที่เป็นวรรณะสืบพันธุ์ ที่จะสืบพันธ์ุสร้างรังมดใหม่ๆ ต่อไป
กลุ่มของมดที่อยู่ในรังเดียวกันไม่ได้มาอย่างสุ่ม แต่จะเป็นเครือญาติกัน โดยเริ่มต้นจากการวางไข่ของราชินีมด แล้วไข่ชุดแรกจะฟักออกมาเป็นมดงาน ที่จะกลับมาช่วยหาอาหารเลี้ยงราชินี และลูกตัวอื่นๆ ของราชินี ที่ราชินีวางไข่ต่อๆ มา ซึ่งก็คือการที่มดงานนั้นกลับมาช่วยเลี้ยงน้องนั่นเอง
การทำงานในรังของมดเพื่อให้รังประสบความสำเร็จจะต้องไม่ใช่การต่างคนต่างทำ แต่มดงานในรังทุกตัวจะต้องมีความร่วมมือกันและมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้รังอยู่ได้ โดยหาอาหารให้ได้มากที่สุด ให้รังขยายมากที่สุด ป้องกันการบุกรุกของศัตรูและ ช่วยให้ราชินีวางไข่ให้ได้มากที่สุด
ดังนั้นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือ มดจะต้องสามารถแยกมดที่เป็นสมาชิกในรังเดียวกันออกจากมดตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในรังได้ (Nestmate recognition) เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมดชนิดเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัง หรือมดคนละชนิด หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ มาใช้ประโยชน์หรือแย่งชิงทรัพยากรที่สะสมไว้ในรัง
แล้วมดแยกสมาชิกในรังได้อย่างไร?
มดส่วนใหญ่ทำรังอยู่ใต้ดินหรือตามซอกมืดๆ เพราะฉะนั้นมดจะไม่ได้มีวิวัฒนาการให้มีสายตาที่ดี และไม่ใช้สัญญาณที่เป็นการมองเห็นเท่าไหร่ ระบบรับสัมผัสที่วิวัฒนาการที่ดีในมดคือ กลิ่น และเสียง และสัญญาณหลักที่มดใช้ในการแยกสมาชิกในรังจากมดที่ไม่ใช่สมาชิกในรัง มดที่มาจากคนละรังกันจะมี “กลิ่น” ที่แตกต่างกัน
มดแต่ละตัวจะมีสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอนที่อยู่บนผิว (Cuticular hydrocarbon) ที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนสายยาวที่ระเหยได้ยากคล้ายกับน้ำมันเคลือบอยู่บนผิวของมด ดั้งเดิมนั้นสารเคมีนี้มีวิวัฒนาการมาในแมลงเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและการติดเชื้อ
ผิวหัวของมดสี่ชนิดที่ถ่ายในระยะใกล้ (ที่มา https://www.flickr.com/photos/ecologicalsocietyofamerica/36017947135)
แต่ในมดนั้นสารเคมีนี้จะมีความซับซ้อนโดยมีสารที่ผสมกันหลายชนิด และในมดชนิดเดียวกันนั้น สารเคมีเหล่านี้จะมีชนิดของสารเคมีที่เหมือนกัน แต่มีสัดส่วนแตกต่างกันไประหว่างรัง ทำให้แต่ละรังนั้นมีกลิ่นที่แตกต่างกัน กลิ่นนี้เรียกว่า Colony odor หรือกลิ่นของรังมด โดยเชื่อกันว่า กลิ่นของรังแต่ละรังนั้นเกิดขึ้นจากการที่สมาชิกในรัง ทั้งราชินีและมดงานนั้นมีการแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างสมาชิกในรัง ผ่านการป้อนอาหารทางปากสู่ปาก (Trophallaxis) การช่วยกันทำความสะอาดร่างกาย (Allogrooming) จนทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะของรังตัวเองขึ้นมา (Gestalt colony odor) และมดงานจะสามารถจดจำกลิ่นนั้นได้เพื่อแยกเพื่อนกับศัตรูออกจากกัน
การแลกเปลี่ยนอาหารกันทางปากหรือ Trophallaxis ในมดแดง (ที่มา By Sean.hoyland, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3989369)
แต่มดไม่ได้มีจมูกเหมือนกับมนุษย์ ทำให้เวลารับกลิ่นของมด มดจะใช้หนวด (Antennae) สัมผัสตัวมดตัวอื่น หรือเอาหนวดมาสัมผัสกัน ถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะเห็นมดเอาหนวดมาสัมผัสกันหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ บ่อยมาก เพราะนั่นคือ วิธีที่มดรับกลิ่นนั่นเอง
กลิ่นที่ต่างกันทำให้มดแสดงพฤติกรรมออกมาต่างกัน ถ้ามดได้กลิ่นจากมดที่มาจากรังเดียวกันก็จะทำให้มดมีพฤติกรรมที่ดีต่อกัน เช่น แบ่งปันอาหาร แต่ถ้ามดที่มีกลิ่นที่แตกต่างกัน ที่แสดงว่ามาจากรังที่แตกต่างกันก็อาจจะทำให้มดเกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้บุกรุกได้ เช่น การกัด โจมตีผู้บุกรุก
ถ้าชอบอ่านเรื่องมดแต่ไม่ชอบมด มีเรื่องนี้ให้อ่านอีกครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Brandstaetter AS, Rössler W, Kleineidam CJ (2011) Friends and Foes from an Ant Brain's Point of View – Neuronal Correlates of Colony Odors in a Social Insect. PLoS ONE 6(6): e21383. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0021383
2. Guerrieri FJ, Nehring V, Jørgensen CG, Nielsen J, Galizia CG, d'Ettorre P. Ants recognize foes and not friends. Proc Biol Sci. 2009 Jul 7;276(1666):2461-8. doi: 10.1098/rspb.2008.1860.
3. Brandt, M., van Wilgenburg, E., Sulc, R. et al. The scent of supercolonies: the discovery, synthesis and behavioural verification of ant colony recognition cues. BMC Biol 7, 71 (2009). https://doi.org/10.1186/1741-7007-7-71

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา