3 พ.ค. 2020 เวลา 15:35
New Normal คืออะไร? สำคัญแค่ไหน? และจะส่งผลอะไรกับชีวิตเราบ้าง?
ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า New Normal ในข่าวกันมากขึ้น อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมเดี๋ยวนี้คนพูดถึงคำนี้กันบ่อยจัง มันคืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตฉันไหม ฉันต้องรู้จักมันรึเปล่า
New Normal ถ้าแปลแบบตรงตัวเลยก็คือ New แปลว่าใหม่ Normal แปลว่าปกติ รวมกันแล้วแปลได้ความหมายว่า ความปกติแบบใหม่ หรือ ภาวะปกติแบบใหม่
ลองนึกง่าย ๆ ว่า อะไรที่เราทำในชีวิตประจำวันเป็นปกติบ้าง เช่น กินข้าว 3 มื้อ, อาบน้ำ 2 ครั้ง, ใส่ชุดว่ายน้ำไปเที่ยวทะเล, ใส่ชุดดำไปงานศพ ทั้งหมดนี้มันคือเรื่อง “ปกติ” ที่เราคุ้นตา ที่เราเคยชินกัน
แต่ภาวะปกติแบบใหม่นี้ มันคือสิ่งที่เรามองว่า เมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องปกติที่เขาทำกัน แต่พอมันเกิดเหตุการณ์ หรือปรากฎการณ์อะไรบางอย่างขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นกันชัด ๆ ในยุค Covid-19 นี้เลยก็คือ การใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน เมื่อก่อน เราจะหยิบหน้ากากอนามัยออกมาใส่ก็ต่อเมื่อเราป่วยเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ มันคือเรื่องปกติไปแล้วที่เราต้องใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน หรือการพกเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือตลอดเวลา
คำว่า New Normal มาจากไหน?
จริง ๆ แล้ว คำว่า New Normal เป็นคำศัพท์ทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2551 ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่เรารู้จักกันในชื่อ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำให้เกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปี 2551-2555
โดยปกติแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจจะมีรูปแบบค่อนข้างชัดเจนคือ เมื่อเติบโตไปได้ระยะหนึ่งจะมีปัจจัยทำให้เกิดฟองสบู่ พอวิกฤตผ่านพ้นไปเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็คือ เศรษฐกิจโลกไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีแบบเดิมอีก เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปทั้งที่บางประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก
ภาพจาก https://buzz.money.cnn.com/2012/12/04/bill-gross-pimco-investments/
Bill Gross นักลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) ก็เลยให้นิยามถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง และไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ในระดับเดิมอีกแล้ว ว่า New Normal
ซึ่งตัวอย่าง New Normal เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ เศรษฐกิจของจีน เศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่า 10% มาโดยตลอด แต่หลังจากมีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ การเติบโตก็ลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2557 และเศรษฐกิจจีนก็ไม่เคยเติบโตเกิน 7% อีกเลย
ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงก็เลยออกมาชี้แจงกับชาวจีนว่า ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตเหลือแค่ 7% ไม่ได้เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็น New Normal ทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต
หลังจากนั้น คำนี้ก็ถูกนำมาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และพฤติกรรมของคนในสังคม
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่ Social Media เริ่มเข้ามาในสังคมไทย เราเห็นพฤติกรรมที่เป็น New Normal เยอะมาก อย่างเมื่อก่อนถ้าวันไหนทีวีมีละครดัง ๆ รายการพีคๆ ทุกคนจะต้องมานั่งรอกันอยู่หน้าทีวีเพื่อรอดูรายการนั้น ๆ ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้ารอดูรายการสด แต่เดี๋ยวนี้ เราไม่จำเป็นต้องมานั่งรอหน้าจอทีวีแล้ว เราสามารถดูสตรีมผ่านโซเชียล ผ่านมือถือได้เลย หรือจะกลับมาดูย้อนหลังตอนที่เราว่างก็ได้
New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะส่งผลอะไรบ้าง?
เนื่องจากว่ามันเป็นสิ่งใหม่ ก็เลยไม่มีอะไรที่จะชี้วัดได้เจาะจงแน่นอนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เราขอแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนในไทยคาดการณ์เบื้องต้นว่ามันจะเกิดขึ้น
1. พฤติกรรม
- คนจะยังคงมี social distancing กันต่อไป ทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจด้วย ความเชื่อใจกันที่เคยแสดงออกมาผ่าน Human Touch จะน้อยลง
- คนจะไม่สัมผัสกันโดยไม่จำเป็น
- วัฒนธรรมในการทักทายของผู้คน โดยเฉพาะหลายๆ ชาติในตะวันตกที่เคยจับมือ สัมผัสตัวกัน จะเปลี่ยนแปลงไป
2. ธุรกิจ และ การตลาด
- การตลาดแบบ experiential marketing หรือการตลาดที่เน้นเรื่องภาพลักษณ์ อาจได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากคนพยายามเลี่ยงที่จะรวมกลุ่มกัน หรืออยู่ในที่ที่คนเยอะ ๆ พอคนไม่ค่อยออกสังคมมากเท่าเมื่อก่อน อาจทำให้มีความสนใจในเรื่องภาพลักษณ์ลดลงไปด้วย
- คนจะหันมาให้ความสำคัญในความมั่นคงทั้งทางสุขภาพและการเงินมากขึ้น การขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ แบบระยะยาวจะได้รับความนิยมมากขึ้น
- ภาคธุรกิจจะขับเคลื่อนเข้าสู่ Digital Transformation ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การส่งสินค้าจะทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม การรักษาความปลอดภัยในการเดินทาง การข้ามเขตแดนจะเข้มงวดขึ้น มีการปฏิเสธไม่รับสินค้าจากบางประเทศโดยไม่ถูกมองว่าเป็นการกีดกันทาง การค้า แต่มองว่าเป็นความปลอดภัยในสินค้า
- การบริโภคภายในประเทศ หรือ Domestic Consumption จะเพิ่มขึ้น คนจะหันมาสนับสนุน product ในประเทศมากขึ้น
3. การใช้ชีวิต
- ดิจิทัลจะกลายเป็นความสำคัญหลักในการดำรงชีวิต ไม่ใช่แค่คน Gen C แต่คือคนทุกรุ่น ทุกวัย จะสามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างคุ้นเคย
- เทคโนโลยีจะกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งการ work from home การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือการเรียนออนไลน์
- คนมีการแบ่งฝักฝ่าย มีการเลือกปฏิบัติมากขึ้น ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย หรือการคำนึงถึงสุขอนามัย
- mindset บางอย่างอาจเปลี่ยนไป คนไม่กล้าเดินทางออกนอกประเทศ ไม่กล้าส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเหมือนเมื่อก่อน
หลายคนเปรียบสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็นเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 แค่มนุษย์เราไม่ได้ต่อสู้กันเอง แต่เราสู้กับเชื้อไวรัส ซึ่งภาวะหลังสงครามมันเป็นอะไรที่เจ็บปวดและสาหัสเสมอ แต่ถ้าเราตั้งสติ ไหวตัวให้ทัน และเตรียมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ เราก็จะผ่านมันไปได้ค่ะ
โฆษณา