10 มิ.ย. 2020 เวลา 05:46 • ไลฟ์สไตล์
The bridge of Madison county (1995).. ภาพยนตร์ในดวงใจ
'ผมมอบทั้งชีวิตให้กับครอบครัว ที่เหลือผมขอมอบให้กับคุณ'
… อย่างน้อยคงจะเป็นความชุ่มชื่นหัวใจมากมาย หากคนที่คุณรักจะบอกกับคุณก่อนที่เขาจำเป็นจะต้องหันหลังเดินจากไป …
ฉันชื่นชอบและประทับใจภาพยนตร์เรื่อง “The bridge of Madison county” มากมาย และดูซ้ำๆกันหลายครั้ง ทั้งๆที่รู้ว่า ในขณะดูจะต้องเสียน้ำตาให้กับการแสดงของดาราในดวงใจอย่าง Clint Eastwood และนางเอกมากความสามารถอย่าง Meryl Streep
The Bridges of Madison County .. เป็นหนังที่ถ่ายทอดจากหนังสือของ Robert James Waller เป็นเรื่องราวของความรักของหญิงชายวัยกลางคน ที่โชคชะตาทำให้มาพบกันเพียงแค่ 4 วัน แต่ความทรงจำที่ประทับใจยังอยู่ในซอกหลืบลึกๆของหัวใจของทั้งคู่ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ภาพยนตร์เปิดฉากด้วยการเปิดพินัยกรรมของฟรานเชสก้า (Meryl Streep) ซึ่งสั่งให้นำเถ้ากระดูกของเธอไปโปรยเหนือสะพานโรสแมน แทนการฝังไว้ในสุสานเคียงข้างสามีของเธอตามประเพณี ท่ามกลางความงุนงงของลูก ๆ
ฉากต่อๆมา.. เป็นปฏิกิริยาของลูกของฟรานเชสก้าทั้งสองคน ขณะที่อ่านจดหมายบันทึกเรื่องราวความรักใน 4 วันของเธอกับโรเบิร์ต (Clint Eastwood) ตากล้องนิตยสารจาก นิวยอร์ค ที่เดินทางมาถ่ายรูปสะพานโรสแมน
หนังได้พาคนดูย้อนเวลาไปติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น … เริ่มจากคนแปลกหน้า มาตกหลุมรัก แล้วหันหลังเดินจากไปทั้งๆที่ใจแทบขาด แม้ทั้งคู่จะไม่ได้คิดว่าความสัมพันธ์จะเป็นแค่การ “เพียงพบ ไม่ผูกพัน”
ฟรานเชสก้า หญิงสาวจากอิตาลี ที่ติดตามสามีจีไอมาอเมริกา ด้วยความหวังว่าชีวิตของเธอจะเปี่ยมสีสันเหมือนภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด … แต่ ชีวิตของแม่บ้านในสังคมชนบทที่ห่างไกลของอเมริกานั้น เรียบง่าย ซ้ำซากนิดๆทุกวัน
แต่ละวันที่ผ่านไป ชีวิตและโลกของเธอวนเวียนอยู่กับการดูแลลูก และสามี ไม่เคยเดินทางไปไหน .. ดูออกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่เธอคาดหวังเอาไว้ และความฝันของเธอมอดหายดับสนิทไปก่อนที่เธอจะรู้ตัวซะด้วยซ้ำ ความเจ็บปวดลึกๆคงซ่อนเร้นฝังตัวอยู่แล้วเนิ่นนาน
เหตุเกิดเมื่อ ครอบครัวของฟรานเชสก้าเดินทางไกล 4 วัน และฟรานเชสก้าต้องเฝ้าบ้านคนเดียว .. หลังจากที่ส่งครอบครัว ดูเหมือนว่าเธอจะผ่อนคลาย รู้สึกเป็นอิสระจากหน้าที่การดูแลให้ทุกคนทีความสุข เวลา 4 วันถัดจากนี้จะเป็น “อิสรภาพ และการปลดปล่อย” ที่หายไปจากชีวิตของเธอมาเนิ่นนาน
โรเบิร์ต (Clint Eastwood) .. ช่างภาพที่เดินทางไปทั่วโลก อันเป็นเหตุให้ชีวิตคู่ของเขาพัง เขามาที่ Madison county เพราะต้องการถ่ายภาพสะพานที่เปี่ยมเอกลักษณ์ และบังเอิญมีเหตุให้ต้องไปไถ่ถามทางไปสะพานที่สวยงาม กับฟรานเชสก้า ซึ่งเธอได้นำทางให้ โดยการนั่งรถไปกับโรเบิร์ต แล้วก็เกิดเป็นความรู้สึกดี ๆ ต่อกันตั้งแต่วันแรกที่พบกัน
บรรยากาศที่ถ่ายทอดออกมาในหนัง ค่อนข้างจะเห็นชัดว่า การมาของโรเบิร์ตทำให้ฟรานเชสก้า รู้สึกสดใส เหมือนได้กลับไปเป็นสาวน้อยอีกครั้ง และลืมชีวิตที่น่าเบื่อไปชั่วขณะ … การมาของโรเบิร์ต เสมือนเป็นการเติมส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตของเธอ
ขณะที่มีโรเบิร์ตอยู่ใกล้ๆ โลกของเธอกลับมามีชีวิตชีวา ชีวิตเหมือนถูกกอบกู้คืนมาอีกครั้ง … ความเพลิดเพลินกับสิ่งใหม่ในชีวิต ที่สามีของเธอไม่มีใครเคยหยิบยื่นให้เป็นเวลานาน
เขาเข้าใจความคิดของเธอทุกอย่าง ทำให้เธอรู้สึกเป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่กับเขา เธอสามารถสร้างโลกส่วนตัวของคนสองคนที่มีกันและกัน จนลืมความเป็นจริงในโลกใบนี้ไปได้
ใครบางคนบอกว่า บรรยากาศที่เหมาะสม ความรู้สึกพิเศษที่แอบย่องเข้ามาในบ้าน และหัวใจที่เรียกร้อง ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ … เรื่องของเขาและเธอ ก็ดำเนินไปโดยอยู่ในครรลองของธรรมชาติแห่งความรู้สึกละเมียดละไม จากสถานการณ์ และโอกาสที่เปิด ท่ามกลางสายลมในฤดูร้อน
“ความรัก” … ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน แต่บางครั้งแม้เวลามันนานพอที่จะรักกันได้ แต่สั้นเกินที่จะรักษาเขาเอาไว้
พอสนิทสนมคุ้นเคย อยู่ใกล้กัน ผสานกับบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆที่อยู่ด้วยกัน แม้ระยะเวลาจะสั้น … “ความรัก” ก็เดินทางมาพร้อมกับความประทับใจมากมาย เหมือนพายุที่ไม่มีเค้ามาก่อน … ความรู้สึก “รัก” ที่ท่วมท้น จนโรเบิร์ตต้องห้ามใจตัวเองด้วยเหตุผลว่า "ผมไม่อยากรู้สึกต้องการคุณ เพราะผมรู้ดีว่าไม่มีทางได้คุณมา"
ส่วนฟรานเชสก้า เธอบอกว่า … ชีวิตเธอจบลงตั้งแต่การแต่งงาน
… เหมือนโชคชะตาจะกำหนดมา เมื่อฟรานเชสก้าเปิดโอกาส ทั้งคู่จึงมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกัน จนก่อเป็นความผูกพัน และเขาชวนให้เธอหนีไปด้วยกัน
… การตัดสินใจต่อจากช่วงเหตุการณ์นี้แหละ ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของหนังคลาสสิกเรื่องนี้
โรเบิร์ต .. เป็นชายโสด จึงไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่มีใครอยู่ด้านหลังให้เกิดปัญหา ปราศจากความเสี่ยง … การชวนหญิงที่เขารักให้หนีไปใช้ชีวิตด้วยกัน จึงเป็นการตัดสินใจที่ง่ายโดยมีเพียงตัวเขาและความสุขในชีวิต เป็นจุดศูนย์กลางในการพิจารณา
ฟรานเชสก้า … โลกของเธอซับซ้อน ที่การตัดสินใจต้องคำนึงและชั่งน้ำหนักความพอดีและความเหมาะสม กับปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว .. จะว่าไป เป็นใครก็คงจะรู้สึกสับสน อยากจะให้ตาชั่งเอียงแบบไม่แคร์ อยากทิ้งชีวิตที่น่าเบื่อไปเริ่มต้นใหม่ แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กอร์ปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
… ลูกของเธอที่ยังเล็ก จะเป็นอย่างไรกับการที่ต้องเติบโตมากับคำนินทา ดูถูกจากสังคมว่า “แม่หนีตามผู้ชาย” … ส่วนสามีของเธอก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาไม่สามารถทำให้ชีวิตของเธอสดใส ตื่นเต้นอีกต่อไป และหากเธอจากไป เขาจะอยู่อย่างไรท่ามกลางสายตาของคนในสังคมชนบทแคบๆ
'เสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อรักษาครอบครัว' … จึงเป็นสิ่งที่เธอเลือก แม้จะเจ็บปวดกับการควักหัวใจที่อาบเลือดให้โบยบินไปกับการจากไปของคนที่เธอรักสุดหัวใจ
ฉากที่รถของโรเบิร์ต ฝ่าสายฝนตามรถของเธอและสามีมาจนติดไฟแดง และโรเบิร์ตออกจากรถมายืนรอท่ามกลางสายฝน เป็นจุดพีคที่ทรงพลังมากของเรื่อง … อารมณ์การแสดงของสุดยอดนักแสดงทั้งสองคนนั้นเยี่ยมจริงๆ แม้จะไม่มีคำพูดใดๆมาเกี่ยวข้อง
ความรับผิดชอบชั่วดี ศีลธรรมกับความต้องการ .. อยู่ตรงนี้ นาทีนี้....
แค่เพียงเปิดประตูลงมาเท่านั้น ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป
หัวใจสลาย ก็ตรงนี้....
ฟรานเชสก้า ตัดสินใจปฏิเสธคำชวนของ โรเบิร์ต และรถของเธอเคลื่อนตัวออกไป … เป็นฉากที่บีบคั้นหัวใจมากมาย เป็นไคลแม็กซ์ของหนังเรื่องนี้
น้ำตาซึม เมื่อโรเบิร์ตจำยอมรับการตัดสินใจของเธอ เขาทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว จึงได้แต่สัมผัสสร้อยเส้นน้อยที่แขวนไว้หน้ารถ ดั่งคำอำลา
ความเศร้าปนซึ้ง ความประณีตทางอารมณ์ มีความละเมียดละไมอย่างเปี่ยมล้น ที่ดึงให้เราดิ่งลงไปสู่ห้วงอารมณ์เดียวกับตัวละครที่รักกันมากมาย แต่อยู่ด้วยกันไม่ได้ เรียกน้ำตาของใครหลายคนให้หลั่งออกมาด้วยอารมณ์ Romance drama ที่อินสุดๆ
ส่วนที่เหลือของหนัง … เป็นการดำเนินเรื่องให้เห็นถึงการเรียนรู้ของลูก ความค่อยๆเข้าใจ และรู้ซึ้งถึงการเสียสละทั้งชีวิตของแม่เพื่อครอบครัว
'แม่มอบทั้งชีวิตให้กับครอบครัว ที่เหลือขอมอบให้กับโรเบิร์ต' ..
... ชีวิตหลังความตาย จึงเคียงคู่กันที่สะพานโรสแมน
Clint Eastwood เยี่ยมมากในการกำกับหนังเรื่องนี้ สามารถทำให้หนังดราม่า ชู้สาว ดำเนินเรื่องได้ละเมียดละไม งดงาม และมีวุฒิภาวะทางความคิด จนคนดูเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในมูลเหตุและอารมณ์ของการที่คนสองคนที่มีพันธนาการที่แน่นหนาทางสังคมจะ “รักกัน” จนผ่านปมที่ว่า “เรื่องนี้มันไม่ถูกต้อง”
หนังเรื่องนี้เป็น “ความสวยงามในด้านมืด” ที่เมื่อเลือกแล้วที่จะรัก ก็ต้องทนกับความเจ็บปวดที่ตามมาชั่วชีวิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ และการถ่ายทอดเรื่องราวของดารานำก็สุดยอดเป็นธรรมชาติมาก จน Meryl Streep ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในฐานะดารานำหญิงยอดเยี่ยมในปีนั้น
ส่วนที่ชอบของการดำเนินเรื่องของหนังในอีกมิติหนึ่ง คือ ไม่มีคำอธิบายต่อไปอีก ว่าชีวิตของเขาและเธอทั้งสองเป็นอย่างไรหลังจากการหันหลังจากกันในวันนั้นท่ามกลางสายฝน … คนดูต้องคาดเดาเอาเองว่า ทั้งสองคนคงมีชีวิตที่เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จนถึงแก่อายุขัย
แต่แม้เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง เขาก็ยังไม่ลืมเธอ ... โรเบิร์ตได้ทำพินัยกรรมยกทุกอย่างให้ฟรานเชสก้า และให้ทนายนำหีบที่มีสร้อยที่เขาเคยสวมให้เธอมามอบให้ และให้โปรยเถ้ากระดูกของเขาลงไปในหุบเบื้องล่างของสะพานโรสแมน
หนังจงใจเล่นกับอารมณ์ได้อย่างเยี่ยมยอด จนทำให้เราเข้าถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องในตอนท้ายได้
ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนกลับมาดูชีวิตคน …
ชีวิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหมือนความรัก … เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ชีวิตจริงของใครบางคน ที่หลังแต่งงานชีวิตทั้งหมดเหมือนหายไป สิ่งที่เหลือคือหน้าที่ คือความจำเจ ความเบื่อ
… เมื่อมีคนใหม่ที่ผ่านมา และเติมสิ่งที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ให้หัวใจรับรู้ถึงความกระชุ่มกระชวย เหมือนน้ำที่หยดลงมาบนพื้นดิน
… คำถามที่ผุดขึ้นมา คือ หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราแล้วเรา เราจะตัดสินใจอย่างไร?
… สุดท้าย จุดจบของชีวิตจะมีหน้าตาอย่างไร? เป็นความรัก หรือความฝัน?
Don’t look so sad .. I know it’s over,
.. but life goes on and this old world will keep on turning …
Let’s just be glad we had sometimes to spend together.
There’s no need to watch the bridges that we’re burning…
NOTE :
Director: Clint Eastwood
Novel: Robert James Waller
Screenplay: Richard LaGravenese
Credit ถาพทั้งหมดจาก Internet
โฆษณา