11 มิ.ย. 2020 เวลา 05:26 • บันเทิง
The Emperor’s Journey .. หนังสารคดีในดวงใจ
พี่สุชอบดูหนังสารคดี และชอบเขียนบทความที่เป็นสารคดี … เคยซื้อซีดีชีวิตสัตว์มานานมากๆแล้ว วันนี้มีโอกาสเปิดดูอีกครั้ง เลยถือโอกาสนำมาเล่าให้ฟังค่ะ
The Emperor’s Journey
The Emperor’s Journey … เป็นหนังสารคดีที่ได้รับ “รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนต์สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2005” เป็นสารคดีจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้เราเปลี่ยนคำจำกัดความของคำว่าสารคดีเสียใหม่ และนับว่าเป็น The Greatest Reality Show on Earth ทีเดียวเชียวค่ะ
The Emperor’s Journey.. เป็นการติดตามชีวิตและการเดินทางที่แสนจะมหัศจรรย์ของเพื่อนร่วมโลกของเรา ที่แสนจะน่ารักน่าทึ่งกลุ่มหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า “Emperor Penguins” หรือ “นกเพนกวินจักรพรรดิ” ที่อาศัยในแถบแอนตาร์กติกา โดยผู้กำกับ (เรียกว่าผู้กำกับได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ หรือจะเรียกว่าผู้ถ่ายหนังและตัดต่อจะดีกว่าหรือไม่นะ?) และทีมงานได้ออกเดินทางปักหลักที่ขั้วโลกอันเป็นถิ่นที่อยู่ของฝูงนกเพนกวินจักรพรรดิเหล่านี้
ที่มงานต้องใช้ชีวิตอยู่บนก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมา และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับธรรมชาติอันสุดแสนหฤโหดราวๆ 14 เดือนเต็มๆ รวมเวลาที่ใช้ไปทั้งหมดราวๆ 40,000 ชั่วโมงในการตามเก็บภาพของเหล่าดาราจำเป็นที่แสนจะน่ารักนับหมื่นนับแสนตัวที่ไม่มีการบอกบท และไร้การกำกับการแสดง
จากนั้นจึงนำ Footage เหล่านั้นมาเรียบเรียง และเรียงร้อยขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันน่าทึ่งและแสนจะมหัศจรรย์ของพวกมัน ในเวลา 80 นาที เป็นหนังสารคดีที่จะทำให้ใครก็ตามที่ได้ดูซาบซึ้งและประทับใจ
เรื่องย่อ :
สารคดีชีวิตสัตว์โลก ดาษดื่นธรรมดาเรื่องหนึ่ง และเพราะเหตุใดใครต่อใครจึงได้ตื่นเต้นคลั่งไคล้มันนัก? เรื่องราวต่อไปนี้อาจให้ความกระจ่างได้...
The Emperor Penguins หรือ ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ นั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เพนกวินที่มี ‘ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’ แต่แท้ที่จริงแล้ว พวกมันกลับเหมือนเป็น ‘สิ่งมีชีวิตที่ต้องสาป’ เนื่องจากการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของพวกมัน เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงและลำบากแสนเข็ญ
เรื่องราวของ The Emperor’s Journey … เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤดูหนาวของทุกปีมาเยี่ยมเยียน เหล่า‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ได้เริ่มต้นการเดินทางของพวกมันอีกครั้ง เป็นการเคลื่อนที่ออกจากบ้านของมัน ในแถบมหาสมุทรที่สมบูรณ์ไปด้วยอาหารและความสะดวกสบาย ฝูงเพนกวินจักรพรรดินับหมื่นนับแสนตัวออกเดินเท้าสลับกับการเอาพุงขาว ๆ กลม ๆ ไถลไปตามลานน้ำแข็งรวมระยะทางราว 70 ไมล์ ไปยังพื้นที่ที่แสนเวิ้งว้างหนาวเหน็บแห่งหนึ่ง มองไปทางไหนก็ไม่มีอะไรนอกจากน้ำแข็งขาวโพลนไกลสุดลูกหูลูกตา เพียงเพราะว่าที่นั่น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การสืบพันธุ์ของพวกมัน
ที่นั่นพวกมันจะเลือกคู่ มอบความรัก และให้กำเนิดทายาท ทุกสิ่งทุกอย่างช่างน่ารัก เป็นธรรมชาติและสวยงามอย่างเหลือเชื่อ ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ มีธรรมชาติที่แสนแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ หลังจากที่ตัวเมียออกไข่แล้ว ก็จะส่งมอบไข่ให้ตัวผู้รับหน้าที่ฟูมฟักเลี้ยงดู
การส่งมอบไข่ของ ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ถือเป็นขั้นตอนที่อันตรายยิ่ง เนื่องจากไข่จะต้องได้รับความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา หากพ่อแม่เพนกวินคู่ใดสะเพร่า กะจังหวะรับส่งไม่ดี ปล่อยให้ไข่ตากลมนานเกินไป ไข่ใบนั้นก็จะถูกความหนาวทำให้แตกสลาย ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ลูกน้อยของพวกมันจะต้องตายตั้งแต่ยังไม่เป็นตัวเสียด้วยซ้ำ
หลังการส่งมอบไข่เสร็จสิ้น แม่และพ่อเพนกวินต่างต้องแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตน
แม่เพนกวินจะตะลุยฝ่าหิมะเพื่อมุ่งหน้ากลับไปยังมหาสมุทรเพื่อหาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง และนำกลับมาให้พ่อเพนกวินและทารกน้อย ซึ่งกำลังจะฟักตัวในอีกไม่ช้า
แม่เพนกวินออกหาอาหาร ต้องระแวดระวังหลบหลีกภัยอันตรายและศัตรูอย่างแมวน้ำและสิงโตทะเล ที่คอยจ้องและพร้อมที่จะจับมันกินเป็นอาหารอันโอชะได้ทุกเมื่อ และการเดินทางกลับไปยังขั้วโลกอีกครั้งเพื่อนำอาหารกลับมาให้กับสามีและลูกเล็ก ๆ ของมัน
ส่วนพ่อเพนกวินก็ต้อง ‘อยู่นิ่งๆ’ อย่างอดทนโดย ‘ไม่มีอาหาร’ ท่ามกลางพายุหิมะอันแสนโหดร้ายทารุณ เพื่อประคบประหงมไข่ใบเขื่องไว้ภายในอุ้งเท้าทั้งสองข้าง
พ่อเพนกวินจะคอยดูแลและฟักไข่ โดยหนีบไข่ไว้ใต้ท้องตลอดเวลาเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งอันแห้งแล้งและหนาวเหน็บ บ่อยครั้งที่บรรดาพ่อๆต้องรวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเองและลูกน้อยจากความหฤโหดของพายุหิมะ
ราว 60 วันหลังจากกำเนิดไข่เพนกวิน ในขณะที่พ่อเพนกวินอ่อนล้าและหิวโหยจนถึงขีดสุด ไข่ก็จะฟักตัว และลูกเพนกวินที่เกิดใหม่ จะมีอายุอยู่ได้โดยปราศจากอาหาร เป็นเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งนั่นหมายความว่า หากแม่เพนกวินของมัน ไม่สามารถนำอาหารกลับจากทะเลได้ทันเวลา อายุขัยของลูกเพนกวินก็จะสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น…
แม่เพนกวินตัวใดที่ทำหน้าที่ได้สำเร็จทันเวลา จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสามีและลูกอีกครั้ง
ส่วนแม่เพนกวินที่กลับมาไม่ทัน จะพบเพียงร่างไร้ชีวิตของลูกน้อย พวกมันจะพากันกลับคืนสู่ทะเลอย่างเศร้าสร้อย แล้วตั้งความหวังว่า เมื่อถึงช่วงเวลานี้ของปีหน้า …มันจะไม่ทำพลาดอีก
เหตุผลที่มอบหัวใจให้หนังเรื่องนี้ :
(1) การเดินทางไกลกว่า 70 ไมล์ของฝูงเพนกวินจักรพรรดิ จากห้วงมหาสมุทรที่อุดมด้วยอาหารให้กินได้ตลอดทั้งปี สู่ทุ่งน้ำแข็งขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา ที่มีภยันตรายนานัปการรวมทั้งความหิวโหยรอคอยอยู่ เหล่านี้ไม่ใช่แค่การเดินพาเหรดเป็นแถวยาว เพียงเพื่อเริงระบำลีลาศกลางหิมะโปรยปรายเท่านั้น แต่เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการสืบเผ่าพันธุ์ความเป็นจักรพรรดิ ให้หมู่เพนกวินรุ่นแล้วรุ่นเล่า
(2) ภาพยนตร์สารคดีชีวิตสัตว์อย่าง The Emperor's Journey ไม่ใช่เรื่องราวน่าเบื่อ ในเมื่อหลายๆ ฉากที่ทำเอาคนดูต้องน้ำตาซึม ไปกับความยากลำบากเพื่อการปกป้องชีวิตลูกเพนกวินตัวน้อยที่ยังหลับไหลอยู่ในไข่
… แต่เมื่อภาพของฉากถัดมาปรากฏ ก็กลับทำให้รอยยิ้มผุดขึ้นมาบนใบหน้าได้อย่างไม่รู้ตัว กับความน่ารักต้วมเตี้ยมในท่าเดินเตาะแตะของลูกเพนกวินขนฟู หรือแม้แต่ฉากที่ทำให้ทั้งหัวใจของเหล่าจักรพรรดิและของคนดูนั้นเต้นรัว เมื่อบางตัวต้องหาทางเอาตัวรอดจากศัตรูตามธรรมชาติ
(3) เวลาการถ่ายทำนานถึง 14 เดือน ของ ลุก ฌากเกต์ นักชีววิทยาที่ผันตัวเองสู่บทบาทผู้กำกับ และวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากสารคดีทั่วไป โดยให้เพนกวินเป็นตัวเล่าเรื่องซะเอง รวมถึงในส่วนของเพลงประกอบ ที่เป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกเบาๆ ซึ่งล่องลอยอยู่กลางทุ่งเย็นๆ ขาวโพลนตัดกับสีฟ้าจัดของท้องฟ้าและผืนทะเล ก็ไม่ใช่มีไว้เพียงแค่เพื่อความไพเราะ แต่ยังเข้ากับอารมณ์ต่างๆ ของเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน
(4) การถ่ายทอดเรื่องราวความรักของครอบครัวเพนกวินดังกล่าวผ่านทางแผ่นฟิล์มนี้ ทำให้มนุษย์อย่างเราๆได้เข้าใจว่า การเป็นเพนกวินสักตัว ไม่ว่าบทบาทนั้นจะเป็น พ่อ แม่ หรือ ลูก ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ แค่ได้มองคงสัมผัสได้ไม่ถึงครึ่งจากของจริง แต่การตกหลุมรักสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ดูบ้าง คงจะดีไม่น้อย โดยเฉพาะเพื่อนร่วมโลกที่ไม่ใช่แค่น่ารักแต่ยังแสนจะอดทนอย่างเพนกวินจักรพรรดิ
(5) The Emperor’s Journey นอกจากจะมีภาพตระการตาของบรรดานกเพนกวินตัวอ้วนกลมที่ฉันยอมเทหัวใจให้แล้ว หนังเรื่องนี้ทำให้ฉันรู้จักกับชีวิตของนกเพนกวินจักรพรรดิมากขึ้นแล้ว ยังจะได้ซาบซึ้ง กินใจ ประทับใจ หัวเราะ และต้องเสียน้ำตาไปกับเรื่องราวของนกเพนกวินที่แสนน่ารักพร้อม ๆ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ
The Emperor s Journey ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉาย … ลุก ฌาคเกต์เล่าถึงหนังสารคดีที่ส่งให้ชื่อเขาเป็นที่รู้จักของนักดูหนังทั่วโลก ใช้เวลาเป็นเดือน...เป็นรูปเป็นร่างอย่างช้าๆ
ณ จุดเริ่มต้น ทั้งผู้อำนวยการสร้างของหนัง และ ฌาคเกต์ เอง รวมถึงทีมงานฝ่ายต่างๆ ต่างตั้งเป้าหมายไว้แค่ว่า The Emperor’s Journey น่าจะเป็นหนังทีวีดีๆ สักเรื่องหนึ่ง … แต่แล้วเมื่อคลุกคลีกับมันมากๆ เข้า ทั้งหมดก็เริ่มจะเล็งเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของมัน
จนในที่สุดจึงตัดสินใจว่า จะขอคิดการใหญ่กันดูสักตั้ง ทำเรื่องราวการเดินทางอันแสนทรหดของเพนกวินพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ให้เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาว แล้วนำออกฉายในโรงกันให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
แต่ก็อย่างที่รู้กัน การตัดสินใจเสี่ยงของฌาคเกต์กับทีมงานครั้งนี้ นำพาให้พวกเขา – ซึ่งมีกันอยู่แค่ 4 ชีวิต คือ ฌาคเกต์ ผู้กำกับ, โลรองต์ ชาเลต์ และ เฌอโรม เมซง ผู้กำกับภาพ และ พาทริก มาร์ชองด์ ช่างภาพใต้น้ำ – ต้องพบกับการทำงานที่ยากเข็ญทว่าเร้าใจที่สุดในชีวิต
The Emperor’s Journey นั้น แน่นอนว่าย่อมต้องถ่ายกันที่ แอนตาร์คติกา ทีมงานต้องไปเยือน ‘เพนกวิน’ นักแสดงของพวกเขาถึงถิ่น...อากาศหนาวยิ่งกว่าหนาว พายุพัด หิมะตก ทั้งพื้นดินและภูเขาล้วนถูก ‘เกล็ดน้ำแข็งธรรมชาติ’ ปกคลุมขาวโพลนไปถ้วนทั่ว
“ทุกขั้นตอนการถ่ายทำล้วนท้าทาย” ฌาคเกต์เล่าว่า “เป็นการผจญภัยในแบบที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส ด้วยปณิธานอันแรงกล้า บวกรวมกับความตั้งใจอย่างลึกซึ้ง และการทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายแบบเต็มพิกัด ในระหว่างการทำงาน ทำให้พวกเรารู้สึกกับงานชิ้นนี้ราวกับว่า มันเป็นปฏิบัติการทางทหารอันสำคัญยิ่งยวดเลยทีเดียว” … ฟังแล้วอาจรู้สึกเหนื่อยแทนฌาคเกต์และทีมงาน กระนั้นเจ้าตัวเองก็ยืนยันว่า ความเหนื่อยยากลำบากลำบนนั้นมาพร้อมกับความสุขแสนวิเศษ
“ผมมีเรื่องราวเกี่ยวกับ ความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต้องสาป สายพันธุ์นี้ เป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย บริสุทธิ์ และตรงไปตรงมา ผมรู้ว่าจะต้องถ่ายอะไร และต้องถ่ายเมื่อไหร่ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนที่ได้วางไว้ เพราะฉะนั้น ภาระที่ตกค้างอยู่เพียงอย่างเดียวของพวกเราก็คือ การรอคอย
พวกเราต้องรอให้นักแสดงของเรา (ซึ่งก็คือเพนกวินจักรพรรดิเป็นร้อยเป็นพันตัว) พร้อมที่จะทำงานร่วมกับเราด้วย “เราทุกคนต่างก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นกับใคร ทว่าที่เรายังไม่รู้ก็คือ มันจะเกิดขึ้นอย่างไร…สิ่งที่พวกเราต้องจำไว้ให้ขึ้นใจก็คือ นั่นคือแอนตาร์คติกา และเพนกวินนั้น แท้จริงแล้วเป็นสัตว์”
แน่นอนว่า ประโยคหลังของฌาคเกต์นั้นหมายความว่า … แม้เขากับทีมงาน จะศึกษาค้นคว้ามาล่วงหน้าอย่างถ่องแท้ว่า เพนกวินจักรพรรดิมีวงจรชีวิตอย่างไร พฤติกรรมเช่นใด แต่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาไม่สามารถกำกับ หรือสั่งให้พวกมันทำทุกสิ่งทุกอย่างตามคิวเป๊ะ เหมือนนักแสดงมนุษย์ปรกติได้เลย
“วันนี้พวกเขา (หมายถึงเพนกวิน) อาจยอมให้คุณเข้าใกล้ แต่วันถัดไปอาจไม่เป็นอย่างนั้น” ฌาคเกต์เล่า…
“ดังนั้นคุณจึงจำเป็นจะต้องรักษากิริยามารยาทของตัวเองไว้ให้ดีที่สุด เพราะถ้าหากคุณไม่ให้ความเคารพพวกเขาแล้วละก็ คุณก็จะไม่มีวันได้ภาพอย่างที่คุณต้องการเลย”
นอกจากนั้น ความรับผิดชอบอีกอย่างของทีมงาน ซึ่งสำคัญระดับห้ามพลาดก็คือ การรักษาระยะห่างที่พอเหมาะ ระหว่างพวกเขากับเหล่าเพนกวิน … ไกลเกินไปอาจทำให้พลาดบางอิริยาบถ แต่ถ้าเข้าใกล้เกินไป นอกจากอาจทำให้นักแสดงแตกตื่นแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อไข่ ที่เพนกวินเฝ้าประคบประหงม …
… ซึ่งนั่นหมายความว่า เพนกวินบางตัวอาจต้องตายตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดเลยทีเดียว! จะเป็นเพราะการทำงานกับสัตว์ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถกำกับได้ หรือเพราะสภาพภูมิประเทศที่โหดร้ายทารุณเกินไป หรือเพราะทั้งสองสาเหตุรวมกันก็ตามแต่ ที่สุดแล้ว The Emperor’s Journey จึงต้องใช้เวลาถ่ายทำ (ขอย้ำว่า ในทวีปแอนตาร์คติกา ซึ่งหนาวสุดขั้วหัวใจ) ยาวนานถึง 14 เดือนเต็ม
หลายคนอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ฌาคเกต์กับทีมงานทั้ง 3 ชีวิตของเขาต้องบ้ามากๆ ที่ทำอย่างนั้น ทว่าสำหรับตัวฌาคเกต์เองแล้ว เขากล่าวว่า …
“บางคนชอบปีนเขา บ้างก็ชอบเดินข้ามทะเลทราย หรือว่ายน้ำข้ามทะเล ส่วนตัวผมเอง...ผมรู้สึกอุ่นใจเป็นพิเศษ เมื่อได้อยู่ในสภาพภูมิประเทศแบบขั้วโลก…แน่นอนว่า คุณต้องประสบความยากลำบาก ในการกินการอยู่บ้างเป็นแน่ แต่เมื่อคุณอยู่ที่นั่นไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายของคุณก็จะปรับตัวได้เอง คุณจะเรียนรู้เองว่า จะรับมือกับธรรมชาติอย่างนั้นได้อย่างไร”
การถ่ายทำที่เสร็จสมบูรณ์อย่างใจหวัง เป็นเพียงขั้นต้นของความสำเร็จล้นหลามที่ The Emperor’s Journey ได้รับในเวลาต่อมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์สำคัญยิ่งของ สารคดีเพนกวิน เรื่องนี้ อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งแตกต่างจากสารคดีชีวิตสัตว์โลกโดยทั่วไป
… กล่าวคือ โดยปรกติแล้ว หนังสารคดีส่วนใหญ่มักจะใช้เสียงบรรยายบอกเล่าเรื่องราวในฐานะบุคคลที่ 3 ทว่าฌาคเกต์ กลับใช้วิธีการที่ท้าทายกว่านั้น – เขาใช้นักแสดงชาย หญิง และเด็กอย่างละหนึ่ง มาพากย์เป็นเพนกวินไปเลย! ดังนั้น ใน The Emperor’s Journey เราจึงจะได้เห็นเพนกวินเล่าว่า
“ในฤดูหนาวของทุกปี พวกเราจะต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง”
“ฉันหิว ฉันเหนื่อยเหลือเกิน อีกไกลไหมกว่าจะถึงทะเล…”
“ฉันกลับมาทันเวลาไหมนี่ ลูกจ๋า ลูกอยู่ที่ไหน” เป็นต้น
ไม่ใช่ว่าเป็นกันง่ายๆ! ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ หนังสารคดี สักเรื่องจะกลายเป็น หนังฮิต ไปได้ … เหตุก็เพราะสารคดีส่วนใหญ่ มักถูกหมายหัวว่า จะต้องนำเสนอประเด็นที่เคร่งเครียด ด้วยวิธีการที่ จริงจัง มุ่งเน้นการนำเสนอ ความจริง เป็นหลัก และ ความจริง กับ ความสนุก นั้น บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ของคู่กัน
อย่างไรก็ตาม The Emperor’s Journey (หรือ March of the Penguins) ก็เป็นสารคดีไม่กี่เรื่องที่ก้าวข้ามผ่านพรมแดนแห่งอคติดังกล่าวไปได้สำเร็จ หนังสามารถทำเงินได้ถึง 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเข้าฉายในอเมริกา กลายเป็นสารคดีที่ทำเงินได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ – เป็นรองก็แต่ Fahrenheit 9/11 ของ ไมเคิล มัวร์ เท่านั้น
นอกจากนั้น ยังเป็นหนังฝรั่งเศสที่ทำเงินสูงสุดในอเมริกา ทำลายสถิติเดิมที่ The Fifth Element หนัง ‘ไซไฟขำๆ’ ของ ลุก แบสซง ทำไว้เมื่อหลายปีก่อนลงอย่างราบคาบ (The Fifth Element ทำเงินไป 63 ล้านดอลลาร์)
The Emperor’s Journey เป็นภาพยนตร์ สารคดีที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาสารคดี ยอดเยี่ยม ประจำปี 1995 และทำเงินสูง สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฝรั่งเศส
โฆษณา