13 มิ.ย. 2020 เวลา 15:12 • การเมือง
CPTPP 101 เรื่องร้อนที่เป็นเรื่องใหญ่ของไทยที่ทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจ
หลังจาก ญัตติด่วน CPTPP เข้าสู่รัฐสภา อาจจะมีบางท่านที่ยังสงสัยเกี่ยวกับประเด็น CPTPP อยู่ เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ข้อมูลในเน็ตก็มีหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เลยอยากเขียนอธิบายทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ให้ทุกท่านเข้าใจง่ายขึ้น ใน 5 ตอน (1 / 5)
CPTPP คืออะไร ?
ถ้าผมจะขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า CPTPP คือ เขตการค้าเสรีเศรษฐกิจพิเศษภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน เป็นประเทศก่อตั้ง
ท้าวความอีกว่า CPTPP มันคือ ภาคต่อจาก TPP ซึ่งเคยคาดการณ์ว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ อเมริกา ถอนตัวไปในปี 2560 ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมปป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี
TPP เคยถูกตั้งเป้าหมายก่อตั้ง เพื่อคานอำนาจประเทศจีนของอเมริกา สมัยประธานาธิบดี โอบามา แต่ทรัมปป์ มองว่าใช้เครื่องมือ TPP นั้นช้าไป สิ่งแรกๆที่ทรัมปป์ทำ คือ ถอนอเมริกาออกจาก TPP และใช้นโยบาย Trade War แทนทันที ซึ่งทรัมปป์มั่นใจว่าได้ผลเร็วกว่า
แต่เมื่อ อเมริกาถอนตัวออกไป ประเทศที่เหลือยังคงตั้งใจที่จะสานต่อ จึงกลายมาเป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership)
ทำไม CPTPP อยู่ดีๆ ถึงเป็นประเด็นข่าวขึ้นมา ?
เพราะมีกระแสข่าวว่า จะมีการนำเรื่องเข้าสู่ คณะรัฐมนตรี เพื่อขอมติครม. ให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อขอเข้าร่วม CPTPP ในเดือน สิงหาคม 2563 นี้ ที่เป็นกำหนดการประชุมของ 11 ประเทศสมาชิก CPTPP
แต่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเจรจาและแสดงความต้องการที่จะเข้าร่วม CPTPP เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยกำลังเข้าร่วม CPTPP ในเดือน สิงหาคมนี้ และถ้าเจรจาเสร็จแล้ว ยังต้องมีกระบวนการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน รัฐบาลถึงจะสามารถลงนามเข้าร่วม ข้อตกลง CPTPP
แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากเขตการค้าเสรี CPTPP ?
ข้อตกลงการค้าเสรี คือการตกลงว่าประเทศสมาชิกคู่ค้าทั้งหมด จะลดภาษีนำเข้า ให้ใกล้เคียงศูนย์ให้มากที่สุด และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าเกือบทั้งหมด เพื่อขยายการค้า ทั้งส่งออกและนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกให้มากขึ้น
ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะหมายถึงประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการค้า การส่งออกที่มากขึ้นไปยังประเทศสมาชิก 11 เหล่านี้ ด้วยข้อตกลงเดียว และปัจจุบัน ประเทศไทยมีการส่งออกไปยัง 11 ประเทศสมาชิกนี้ รวมกันเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
แต่ข้อเท็จจริงคือ จากทั้งหมด 11 ประเทศนี้ ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) อยู่แล้ว 9 ประเทศ สองประเทศที่เหลือคือ แคนาดา และ เม็กซิโก้ ที่ประเทศไทยยังไม่มี FTA ด้วย และ 2 ประเทศนี้ ประเทศไทยส่งออกไปเพียง 2% เท่านั้น ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก จากการเข้าร่วม CPTPP นั้นจะถือว่าน้อยมาก
รัฐบาลเคยทำการศึกษาและผลวิจัยก็ยืนยันว่า ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP GDP จะเพิ่มขึ้น 0.12% การลงทุนเพิ่มขึ้น 5.14% ส่งออกขยายตัว 3.47% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการส่งออกที่มากขึ้นเพียง 2 ประเทศ
แต่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี มันคือ ดาบสองคม เพราะถ้าประเทศไทยส่งออกได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยจะนำเข้ามากขึ้นด้วย เพราะไทยต้องลดภาษีนำเข้าลง เปิดโอกาสใหสินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมเขตการค้าเสรี
โดยทั่วไปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี จะไม่ได้หมายถึงลดภาษีนำเข้าให้เหลือศูนย์ทุกสินค้า เพราะทุกประเทศจะขอยกเว้นบางสินค้า หรือเรียกกันว่า สินค้าอ่อนไหว (Sensitive List) เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศบางอุตสาหกรรมหรือมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก หรือความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ซึ่งทุกข้อตกลงการค้าเสรี FTA อื่นๆ ที่ประเทศไทยเคยเจรจาไว้ มีการขอเจรจาสินค้าอ่อนไหว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่กระทบเกษตรกรจำนวนมาก เช่น ปาล์ม มะพร้าว กาแฟ นม เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นต้น ที่ประเทศไทยเคยใช้ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น กำหนดโควต้าการนำเข้า เป็นต้น
ดังนั้นการเข้าร่วม CPTPP จะเกิดประเด็นว่า ประเทศไทยจะสามารถเจรจาขอผ่อนผันต่อสินค้าอ่อนไหวเหล่านี้ที่เคยขอไว้ได้กับประเทศต่างๆได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะในเมื่อประเทศไทยมาเข้าร่วม CPTPP ในภายหลัง ที่อาจจะทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าเดิม เพราะการจะเจรจาขอผ่อนผันเข้าร่วม CPTPP ได้นั้น ทุกประเทศสมาชิกเดิมต้องเห็นชอบทั้งหมด
หรือสินค้าอ่อนไหวอะไรบ้าง ที่ประเทศไทยจะเลือกนำไปเจรจา จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องชี้แจงต่อผู้ได้รับผลกระทบทราบ และต้องมีมาตรการมารองรับกรณีที่สินค้าใด ไม่สามารถเจรจาขอเป็นสินค้าอ่อนไหวต่อได้ หรือ ต้องมีการปรับเงื่อนไขมาตรการคุ้มครองสินค้าอ่อนไหวเหล่านี้
นอกจากด้านการค้าแล้ว ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ยังรวมถึง การให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดเสรีธุรกิจบริการเกือบทั้งหมดให้กับประเทศสมาชิกด้วย คือเพื่อให้ขยายครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน และการบริการ ในหมู่ประเทศสมาชิกด้วยกัน
ซึ่งโดยปกติ ธุรกิจบริการนั้นแต่ละประเทศ อาจจะสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดไว้ให้เฉพาะคนในประเทศเท่านั้น เพราะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และตั้งเงื่อนไขข้อจำกัดไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งอาชีพบริการคนในประเทศ เช่น ช่างตัดผม ไกด์นำเที่ยว เป็นต้น
แต่ข้อตกลง CPTPP ห้ามให้ประเทศสมาชิกกำหนดเงื่อนไขกีดกันประเทศสมาชิกด้วยกันแบบนี้ และถ้าประเทศไทยอยากจะไม่เปิดเสรีธุรกิจ บริการใด หรือ เงื่อนไขใดที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ต้องมาขอเจรจาเป็นรายกรณีไป เหมือนกับการเจรจ้าสินค้าอ่อนไหว
ซึ่งการเปิดเสรีธุรกิจบริการ แน่นอนว่าจะกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศแน่นอน และรัฐบาลควรที่จะต้องอธิบายและชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ว่าประเทศไทยจะเข้าไปเจรจาขอยกเว้นอะไรบ้างในธุรกิจบริการที่ไม่สอดคล้องต่อข้อตกลง CPTPP
นอกเหนือด้านการค้า และธุรกิจบริการแล้ว ข้อตกลง CPTPP ด้วยความที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ เลยมีข้อตกลงอีกหลายๆด้านเพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศสมาชิก ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากที่สุด เพื่อความยุติธรรมในการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน
.
ซึ่งมาตรฐานสากลนี้หลายอย่างก็เป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยจะยกระดับประเทศตัวเองขึ้นมา ตั้งแต่ สิทธิแรงงาน ตาม อนุสัญญา ILO 87, 98 เพื่อรับรองสิทธิการรวมกลุ่มของลูกจ้าง, ยกระดับความอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยให้ใกล้เคียงสากลมากขึ้น, เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลรัฐและความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อลดทุจริตคอรัปชั่น
แต่ถ้ามาลองคิดดีๆ มาตรฐานสากลเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอามานับว่าเป็นประโยชน์ในการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP เลย ขอเพียงรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานประเทศเองก็ย่อมได้
และมาตรฐานสากล บางอย่างนี้ กลายเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะเสียประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประเด็น เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา (หรือสิทธิบัตร) เพราะประเทศไทยเองยังไม่ได้มี เทคโนโลยีเป็นของตัวเองมากพอ หรือเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี สิทธิบัตร จากต่างชาติอยู่ ถ้ามาตรฐานสากลจะให้ความคุ้มครองประเด็นทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นกว่ามาตรฐานเดิมที่ประเทศไทยปฏิบัติ ก็จะกลายเป็นประเทศไทยเสียประโยชน์ได้
ซึ่งนั่นเลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยจะต้องเอามาพิจารณาว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้ เมื่อต้องแลกกับการที่ประเทศไทยจะเสียจากการต้องอิงมาตรฐานสากลในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาด้าน เมล็ดพันธุ์ และยา
บทความหน้าจะขอมาลงรายละเอียดว่าแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเสียไปด้านเมล็ดพันธุ์จากการเข้าร่วม CPTPP และ UPOV 1991 ที่ผมคิดว่าจะกระทบกับเกษตรกรจำนวนมากโดยตรง
ชมคลิปอภิปรายประเด็น CPTPP : https://youtu.be/_9O-FNm9xcs
สไลด์ประกอบการอภิปราย : https://tinyurl.com/yajgl6yn
.
#CPTPP
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา