Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Gourmet Story
•
ติดตาม
3 ก.ค. 2020 เวลา 14:54 • อาหาร
“พระรามลงสรง” - ชื่อนี้มาจากไหน?
อาหารที่มีชื่อไพเราะเพราะพริ้งนี้ ประกอบด้วยผักบุ้งเป็นหลัก เนื้อสัตว์ส่วนมากในบ้านเราก็จะเป็นเนื้อหมู อาจจะมีตับหมูหรือเนื้อสัตว์อย่างอื่น ๆ บ้าง นำสิ่งเหล่านี้มาลวกน้ำร้อนพอสุก แล้วราดด้วยน้ำเกรวี่(gravy)ที่ค่อนข้างข้นทำจากถั่วลิสงและเครื่องเทศ มีลักษณะคล้ายน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และส่วนใหญ่ก็จะโปะหน้าข้าวสวยมา เป็นอาหารจานเดียวเรียกกันว่า “ข้าวพระรามลงสรง”
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.chinatownyaowarach.com/
“ข้าวพระรามลงสรง” เป็นอาหารจีนที่แปลงมาจากอาหารแขก ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ซาแต้ปึ่ง” คำว่า “ซาแต้” เป็นคำทับศัพท์หมายถึง “สะเต๊ะ” “ปึ่ง” แปลว่าข้าวสวย เมื่อมารวมกันก็แปลว่า “ข้าวสะเต๊ะ”
มีนักวิชาการของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งสืบหาความหมายของคำว่า “ซาแต้ปึ่ง” โดยกล่าวไว้ว่า
“.....คำว่า “ซาแต้ปึ่ง” เป็นคำแต้จิ๋ว โดยคำว่า “ซา” แปลตรงตัวว่า “สาม” คำว่า “แต้” แปลว่า “ชา” (หมายถึง น้ำชา) ส่วนคำว่า “ปึ่ง” แปลว่า “ข้าว”
สามคำรวมกันแปลว่า “ข้าวชาสามชนิด” จึงไม่มีความหมายใด ๆ เลย คำ ๆ นี้จึงควรจะเป็นคำที่ชาวจีนแต้จิ๋วใช้แทนเสียงในภาษาอื่นมากกว่า”
ผมอ่านแล้วก็นึกขำในใจว่า ท่านผู้นี้สมกับเป็นนักวิชาการโดยแท้ คำทับศัพท์ภาษาอื่น ท่านก็ยังอุตส่าห์มาหาความหมายทั้ง ๆ ที่หาความหมายไม่ได้ เหมือนกับคำทับศัพท์ในภาษาไทยเช่นคำว่า “คุกกี้” เราก็คงไม่ต้องไปแปลความหมายในภาษาไทยว่า “คุก” หมายถึงเรือนจำ สถานที่กักขังคน “กี้” หมายถึง เวลาที่ผ่านไปหยก ๆ (เช่น เมื่อกี้นี้) แล้วสรุปว่า “คุกกี้” รวมกันแล้วแปลว่า “เรือนจำที่ผ่านไปหยก ๆ” จึงไม่มีความหมายในภาษาไทยเพราะเป็นคำภาษาอังกฤษ อะไรทำนองนี้ ...เฮ้อ
“ซาแต้ปึ่ง” หรือ “ข้าวสะเต๊ะ” นี้เป็นอาหารของชาวจีน แต่ชาวจีนก็ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น “สะเต๊ะ” ขึ้นมาแต่อย่างใด แต่รับเอาวัฒนธรรมอาหารนี้มาจากชาวมุสลิมมาผสมผสานกับอาหารการกินของชาวจีน
2
ขอบคุณภาพประกอบจาก FB ของ Original Satay Cheko
“สะเต๊ะ” หรือ “Satay” (ในอินโดนีเซียและมาเลเซียหลายแห่งจะเขียนว่า “Sate”) เชื่อกันว่า เกิดขึ้นในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีวิวัฒนาการจากอาหารของชาวมุสลิมในตะวันออกกลางที่เรียกว่า “Kebab” ที่มีลักษณะเป็นเนื้อสัตว์ที่นำมาย่าง
ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่ทราบกันดีว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศนานาชนิด หมู่เกาะ Maluku ในเกาะชวาถึงกับมีฉายาว่า “เกาะเครื่องเทศ” หรือ Spice Islands เครื่องเทศที่สำคัญได้แก่ ลูกจันทน์เทศ กานพลู และพริกไทย เครื่องเทศเหล่านี้เป็นสินค้าที่ชาวเกาะชวาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้าอาภรณ์จากพ่อค้าอินเดียและตะวันออกกลาง การติดต่อค้าขายเหล่านี้ก็ทำให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอาหารกันไปด้วย ว่ากันว่า สะเต๊ะได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยพ่อค้าขายอาหารริมถนนในเกาะชวาเมื่อประมาณศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วในเวลาต่อมา กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศอินโดนีเซียได้จัดอันดับให้ “สะเต๊ะ” เป็น 1 ใน 5 ของอาหารประจำชาติของอินโดนีเซียเลยทีเดียว
ความนิยม “สะเต๊ะ” ได้แพร่หลายจากอินโดนีเซียไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของทวีปเอเชียเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และประเทศไทย แต่ขอให้สังเกตว่า ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนจะไม่มี “หมูสะเต๊ะ” เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศมุสลิม ไม่บริโภคเนื้อหมู หมูสะเต๊ะจึงมีแต่ในประเทศที่บริโภคเนื้อหมูเช่น ประเทศไทยเท่านั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://3.bp.blogspot.com/
เคยเห็นอาหารที่ขายกันอยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างหนึ่งเรียกว่า satay celup ว่ากันว่า satay celup เป็นอาหารท้องถิ่นที่นิยมกันมากของเมือง Malacca เป็นอาหารประเภทจิ้มจุ่มหม้อไฟ มีทั้งเนื้อสัตว์นานาชนิด เต้าหู้ ลูกชิ้น ปูอัด ฯลฯ เสียบไม้เอาไว้ เวลาจะรับประทานก็เอาอาหารเหล่านี้ลงลวกในหม้อไฟที่มีน้ำซุปถั่วลิสงเหมือนน้ำจิ้มสะเต๊ะ ที่สำคัญก็คือ มีผักบุ้งลวกจับเป็นมัดเสียบไม้ไว้ด้วย ก็เลยคิดเอาเองว่า satay celup น่าจะเป็นต้นกำเนิดของ “พระรามลงสรง” หรือเปล่า?
พอมาถึงเมืองไทย คนไทยในยุคก่อนอาจจะไม่คุ้นเคยกับการกินอาหารประเภทหม้อไฟ ผมจำได้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยบอกไว้ว่า “แกงร้อน” ของไทยมาจากสุกียากี้ของญี่ปุ่น เพราะสุกียากี้ของญี่ปุ่นต้องกินในหม้อร้อน ๆ ที่ตั้งอยู่บนเตา แต่แกงร้อนของไทยถึงแม้จะไม่ได้กินอย่างนั้น แต่ชื่อก็ยังเรียกว่า “แกงร้อน” อยู่
“พระรามลงสรง” ก็อาจจะเป็นแบบเดียวกันก็ได้คือ แทนที่จะกินเป็นหม้อไฟซึ่งคนไทยไม่ถนัด อีกทั้งคนไทยรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก พ่อค้าก็เลยเอาข้าวสวยมาใส่ผักใส่เนื้อราดน้ำจิ้มเป็นอาหารจานเดียวไปเสียเลย แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัวนะครับ ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก vipaporn-petmas.blogspot.com
ส่วนชื่ออันไพเราะเพราะพริ้งของ “พระรามลงสรง” นี้มีความหมายอย่างไร? ก็มีผู้อธิบายว่า พระรามซึ่งเป็นพระเอกในเรื่องวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์นั้นมีผิวกายเป็นสีเขียว เพราะฉะนั้น เวลาเอาผักบุ้งลงไปลวกในน้ำร้อน จึงเปรียบเสมือนพระรามลงไปสรงน้ำ จึงจับเอาความเช่นนี้มาตั้งเป็นชื่ออาหาร
ถ้าจะถามต่อไปว่า พระรามทำไมจึงเป็นตัวเป็นสีเขียว? ความข้อนี้ถ้าค้นคว้าต่อไปก็จะมีคำตอบอยู่ต่าง ๆ กัน แต่คำตอบที่ผมเห็นว่าน่าเชื่อถือที่สุดน่าจะเป็นคำตอบของคุณ “สยมภูวญาณ” ใน “นาฏดุริยศิลป์โขนละคอนเครื่องประกอบพระยศแห่งพระมหากษัตริย์”(1) ที่บอกว่า
“จารีตเรื่องสีในนาฏกรรม เป็นสิ่งที่เพิ่มสีสันในการแสดงโขนละคร และเป็นเครื่องบอกความสำคัญของตัวโขนละครอีกด้วยซึ่งเป็นจารีตปฏิบัติที่สืบมาแต่ครั้งโบราณ….”
“......กำหนดขึ้นจากช่วงกำเนิดของตัวโขน เช่น พระราม กำเนิดในเวลาดึกสงัด (มัชฌิมยาม)จึงมีกายสีเขียว พระพรต กำเนิดในเวลาเช้า พระอาทิตย์ทอแสง จึงมีผิวกายสีแดง พระลักษมณ์ กำเนิดในช่วงบ่าย (สามนาฬิกาห้าบาท)จึงมีผิวกายสีเหลือง พระสัตรุด กำเนิดในช่วงเย็น(สี่โมงเศษ) จึงมีผิวกายสีม่วง…..”
แล้วก็มาถึงคำถามที่สำคัญที่สุดคือ ใครเป็นผู้ตั้งชื่ออาหารชนิดนี้ว่า “พระรามลงสรง”?
ก็ขอตอบด้วยความสัตย์จริงว่า ไม่ทราบครับ เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏในที่ใด ๆ เลยว่ามีผู้ตั้งชื่อของอาหารจานนี้ว่า “พระรามลงสรง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เจอบทความเรื่อง “ซาแต๊ปึ่ง” ถึง “ข้าวพระรามลงสรง” และความทรงจำจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สมัยเป็น นร.ขาสั้น” ของคุณกฤช เหลือลมัย(2) ทำให้ผมหลงดีใจที่จะได้ทราบที่มาของคำ ๆ นี้ แต่ผลสุดท้ายบทความนี้ก็ไม่ได้บอกไว้เช่นกันครับ
1
(1) จากเว็บไซต์
https://forum.hindumeeting.com/index.php?topic=2092.35;wap2
(2) นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเมษายน 2559
6 บันทึก
44
14
3
6
44
14
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย