19 ส.ค. 2020 เวลา 09:48 • สุขภาพ
"กลั้วคอด้วย "โพวิโดน ไอโอดีน" ไม่ได้ช่วยรักษาโควิด-19 หลังติดเชื้อ"
"กลั้วคอด้วย "โพวิโดน ไอโอดีน" ไม่ได้ช่วยรักษาโควิด-19 หลังติดเชื้อ"
หมอหูคอจมูก ศิริราชฯ ชี้แจง การกลั้วคอด้วย "โพวิโดน ไอโอดีน" ไม่ได้ช่วยรักษาโควิด-19 หลังติดเชื้อ แต่ช่วยป้องกันติดเชื้อได้ เหตุเป็นสารระงับเชื้อ แต่ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค ชี้หากไม่สบาย เจ็บคอ ใช้กลั้วคอลดเชื้อร่วมกับยาลดไข้-ยาแก้ไอตามปกติ แนะกลั้วคอได้ทุกวัน ครั้งละ 30 วินาที
จากการศึกษาในตัวยา โพวิโดน ไอโอดีน ที่มีการศึกษาถึงประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลอดทดลอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวิน เกษกุล หัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (อฝส) สาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา ราชวิยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการใช้ "โพวิโดน ไอโอดีน" กลั้วหรือพ่นคอเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ยาโพวิโดน ไอโอดีน จัดเป็นสารระงับเชื้อ (Antiseptic) ซึ่งจะออกฤทธิ์ระงับเชื้อก่อโรคได้เป็นวงกว้าง ครอบคลุมเชื้อได้หลากหลาย ทั้งไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว และเชื้อรา รวมถึงโควิด-19 โดยทำให้เชื้อลดจำนวนลงจนไม่สามารถก่อโรค แต่ไม่ถึงกับฆ่าเชื้อให้ตายเกลี้ยง ทำให้มีโอกาสดื้อยาน้อยกว่า "ยาปฏิชีวนะ" หรือ “ยาต้านจุลชีพ” (Antibiotic หรือ Antimicrobial) ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เป็นต้น
"คนส่วนใหญ่รู้จักโพวิโดน ไอโอดีน ในฐานะยาทาแผล ยาทาทำความสะอาดภายนอก ซึ่งมีการใช้มาเป็นร้อยปี โดยยาทาแผลจะมีตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน 10% ยาทำความสะอาดภายนอกมีความเข้มข้น 7% น้ำยาบ้วนปาก มีความเข้มข้น 1% และสเปรย์พ่นคอมีความเข้มข้น 0.45% ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ไม่ว่าจะมีตัวยาเข้มข้นระดับใด ก็สามารถฆ่าเชื้อได้ประมาณ 99.99%" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวินกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวินกล่าวว่า เชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตัวหนึ่งในกลุ่มของโคโรนาไวรัส (Coronavirus) โพวิโดน ไอโอดีน ก็สามารถช่วยระงับเชื้อไม่ให้เจริญเติบโตจนก่อโรคได้ แต่ไม่ได้แปลว่า การเอามากลั้วหรือพ่นคอจะเป็นการรักษาโรคโควิด-19 หลังมีการติดเชื้อแล้ว แต่การนำมากลั้วหรือพ่นคอจะช่วยในเชิงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และกลุ่มไวรัสหลายชนิด ทั้งนี้มีงานวิจัยในญี่ปุ่นที่ศึกษาในโรงเรียนพบว่า กลุ่มนักเรียนที่กลั้วคอด้วยโพวิโดน ไอโอดีน เป็นประจำ มีโอกาสเป็นหวัดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กลั้วคอ จึงมีผลในแง่ของการป้องกัน
นอกจากนั้นในทางทันตกรรมมีการนำโพวิโดน ไอโอดีน มาใช้ให้คนไข้กลั้วคอก่อนลงมือทำหัตถการ เพื่อลดความเสี่ยง หรือ โสต ศอ นาสิกแพทย์ ก็มีการใช้โพวิโดน ไอโอดีนกลั้วหรือพ่นคอก่อนตรวจคนไข้ และคนไข้เองก็ควรกลั้วหรือพ่นคอด้วยโพวิโดน ไอโอดีนก่อนตรวจเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม โพวิโดน ไอโอดีน ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory effect) ดังนั้นจึงสามารถนำโพวิโดน ไอโอดีนมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บคอจากการอักเสบทั่วไปได้ เช่น อาการเจ็บคอจากโรคภูมิแพ้ จากการใช้เสียงเป็นเวลานาน จากภาวะกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อน และอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบจากรังสีรักษาและการได้รับเคมีบำบัด เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวินกล่าวว่า ในการป้องกันโรคโควิด-19 ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่แออัด กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หมั่นทำความสะอาดช่องปากตนเองให้สะอาด และสามารถกลั้วคอด้วยโพวิโดน ไอโอดีน ได้ทุกวัน โดยกลั้วคอไม่น้อยกว่า 15 วินาที ก็จะช่วยป้องกันเชื้อต่าง ๆ ได้ รวมถึงโควิด-19 นอกจากนี้ หากไม่สบาย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ซึ่งส่วนใหญ่ 85 เปอร์เซ็นต์เกิดจากเชื้อไวรัส แนะนำยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ เพราะอาจเกิดการดื้อยาได้ แต่สามารถใช้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการ ดื่มน้ำมากๆ ร่วมกับการใช้โพวิโดน ไอโอดีนกลั้วหรือพ่นคอ ก็ช่วยลดเชื้อ และทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการไอ จามอาจมาจากสาเหตุของโรคอื่น เช่นโรคภูมิแพ้ กรดไหลย้อน เป็นต้น
"การกลั้วคอด้วยโพวิโดน ไอโอดีน แล้วเผลอกลืนลงไป ไม่ได้มีอันตราย แต่ก็ไม่ควรกลืนลงไป เพราะอาจเกิดการสะสมของไอโอดีนได้ และอาจมีผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ การใช้โพวิโดน ไอโอดีน ต้องใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น หากจะใช้กลั้วปากและคอก็ต้องเลือกรูปแบบที่ใช้กลั้วคอที่มีความเข้มข้น 1% ถ้าเป็นรูปแบบยาพ่นคอ ให้ใช้ในความเข้มข้น 0.45% ซึ่งสามารถกลืนลงคอได้ และในทางปฏิบัติไม่แนะนำให้ใช้รูปแบบของยาทาแผลแล้วเอามาเจือจางเอง" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวินกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวิน เกษกุล หัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวินกล่าวว่า ส่วนกรณีการใช้น้ำเกลือ น้ำประปา น้ำยาบ้วนปากทั่วไป กลั้วคอในการฆ่าเชื้อโควิด-19 นั้น ขอชี้แจงว่า น้ำเกลือเพียงแค่ช่วยรักษาสุขภาพช่องปาก ไม่มีสารระงับเชื้อที่ไปฆ่าเชื้อได้ ส่วนน้ำประปามีคลอรีน แม้คลอรีนจะเป็นสารระงับเชื้อตัวหนึ่ง แต่ปริมาณไม่มากพอที่จะนำมาป้องกันได้ ส่วนน้ำยาบ้วนปากทั่วไปก็ต้องพิจารณาถึงสารระงับเชื้อที่ผสมในน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งแต่ละสูตรก็จะมีสารแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อช่วยลดคราบหินปูน ช่วยลดอาการปวด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ระงับกลิ่นปาก ลดการเจ็บคอ เป็นต้น ก็อาจต้องเลือกใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น นักร้องหรือคนที่ต้องใช้เสียงพูดบ่อย ๆ อาจกลั้วคอด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมที่ช่วยให้คอชุ่มชื้น แต่หากมีอาการเจ็บคอรุนแรง อาจใช้ที่มีส่วนผสมของยาระงับปวด แต่ถ้าเป็นเกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบทั่วไป ก็อาจใช้ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน
โฆษณา