8 พ.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
บางสินค้าขึ้นราคา ก็ยังขายได้ แต่ทำไมบางสินค้า กลับขายไม่ได้
เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมบางครั้งเวลาสินค้ามีราคาแพงขึ้นเพียงเล็กน้อย เรากลับไม่ต้องการซื้อสินค้านั้นแล้ว แต่กับสินค้าบางชนิด ต่อให้ราคาแพงขึ้นแค่ไหน เราก็ยังยินดีที่จะจ่ายเพื่อซื้อสินค้านั้นมา
3
เช่น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระบาดหนัก
ราคาของหน้ากากอนามัยแพงขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมราคากล่องละไม่กี่สิบบาท พอเจอโควิดราคากลับพุ่งไปเป็นหลายร้อย แต่ความต้องการซื้อก็ยังคงสูงอยู่จนสินค้าขาดตลาด
1
ในทางกลับกัน หากราคาข้าวกะเพรา เพิ่มขึ้น 10 เท่า ความต้องการซื้ออาจจะลดลงไปอย่างมาก
หรือบางคนอาจจะหาสิ่งทดแทนได้ เช่น ข้าวมันไก่
1
แล้วทำไมเราถึงมีความต้องการต่อสินค้าแต่ละประเภทต่างกัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง Price Elasticity of Demand หรือความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อุปสงค์ คืออะไร
อุปสงค์ ก็คือ ความต้องการในการซื้อสินค้า และความสามารถในการซื้อสินค้านั้นได้
เช่น หากเรามีความต้องการซื้อไอโฟน 12 ในราคา 30,000 บาท
แต่เรามีเงินไม่พอ ในกรณีนี้ เราจะไม่นับว่า ความต้องการซื้อของเราเป็นอุปสงค์
1
แต่หากเรามีความต้องการซื้อไอโฟน 12 และมีเงินพอที่จะซื้อได้
แบบนี้ถึงจะเรียกว่า อุปสงค์
3
Cr. Sanook
แล้วทีนี้ เรามารู้จักกับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคากัน
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ก็คือ ปริมาณความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า
โดยสินค้าแต่ละชนิดก็จะมีความยืดหยุ่นที่แตกต่างกันออกไป..
3
เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าบางประเภท เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับราคาที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย
แต่ทำไมสินค้าบางประเภท เราเต็มใจจ่ายแม้ราคาจะแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด
โดยหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดความยืดหยุ่นของอุปสงค์ก็คือ “ความจำเป็นของสินค้านั้นๆ”
2
ถ้าสินค้าไหน มีความจำเป็นน้อย สินค้านั้นก็จะยืดหยุ่นมาก
หรือพูดง่ายๆ คือ หากราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ความต้องการซื้อจะเปลี่ยนไปมาก
เช่น ในกรณีที่บางคนมองว่า รถยนต์ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
เมื่อราคาของ รถยนต์แพงขึ้น ความต้องการซื้อรถยนต์ จะลดลงไปอย่างมาก
ในทางกลับกัน หากรถยนต์ ลดราคา ความต้องการซื้อรถยนต์ก็จะเพิ่มขึ้นมาก เช่นกัน
2
Cr. Thairath
ในทางกลับกัน ถ้าสินค้าไหนที่มีความจำเป็นอย่างมาก สินค้านั้นก็จะยืดหยุ่นน้อยลง
ดังนั้น แม้ราคาสินค้าประเภทนี้จะเปลี่ยนไปมาก
แต่ความต้องการซื้อสินค้านั้นๆ จะเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย
เช่น ในกรณีของหน้ากากอนามัยช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้เราต้องใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน หน้ากากอนามัยจึงเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคระบาด
1
ทำให้เมื่อราคาของหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณความต้องการซื้อก็ยังคงสูงอยู่
1
อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดเพียงชั่วคราวก็ได้
ยกตัวอย่างเช่นในปีหน้า หากโรคระบาดโควิด 19 ได้จบลงแล้ว
ความจำเป็นของหน้ากากอนามัยก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
Cr. INNNews
ดังนั้นเทคนิคทางการตลาดอาจเอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์นี้มาใช้ได้
เช่น การสร้างสิ่งที่ชวนเชื่อให้เห็นว่าสินค้านั้นจำเป็นต่อพวกเขา
1
ตัวอย่างก็คือ การสร้างแบรนด์ที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่าใครๆ เขาก็มีสินค้าประเภทนั้นกัน
เมื่อคนที่ไม่มี ก็ไม่อยากพลาด และคิดว่ามันจำเป็นต้องมี ซึ่งเขาก็ยอมจ่ายในราคาที่สูง
1
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การบรรยายสรรพคุณว่าสินค้านั้น ประกอบไปด้วยสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ บี ซี หรือ แร่ธาตุอะไรก็ตามแต่
ที่ทำให้คนคิดว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับ
ถึงแม้ว่าตั้งราคาแพงแค่ไหน ถ้าเขาเชื่อว่ามันจำเป็น เขาก็จะยอมจ่าย
1
พออ่านมาถึงตรงนี้
ลองมองสิ่งของรอบตัวเรา ที่เราซื้อมา
จริงๆ แล้ว เราอาจจะพบว่า ที่เรายอมจ่าย
มันอาจเป็นสิ่งจำเป็น ที่คนอื่นหลอกว่ามันจำเป็น ก็เท่านั้นเอง..
3
โฆษณา