25 ก.ย. 2017 เวลา 11:53 • ธุรกิจ
ท่ามกลางความเข้าใจยากของตลาดหุ้น
มีคนฉลาดสุดๆ หลายคนใช้เทคนิคมากมาย
สุดท้ายพลังแห่ง ความเรียบง่าย ก็เกิดขึ้น
ถ้าเราซื้อ AOT เมื่อ 8 ปี ที่แล้ว
แล้วไปเที่ยวเล่น ไม่ต้องสนใจมัน
8 ปีผ่านไป..
เราจะมีเงินเพิ่ม 39 เท่า
“AOT” หรือ ท่าอากาศยานไทย เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 11 มี.ค. 2547 ที่ราคา IPO 42 บาท (เทียบปัจจุบันคือ 4.2 บาท หลังแตกพาร์) Market Cap หรือ มูลค่าบริษัท ตอนนั้นคือ 60,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังถือหุ้นบริษัทนี้ 70% อีก 30% ให้นักลงทุนทั่วไปซื้อได้
วันที่ 28 ก.ย. 2549 สนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการ ราคาหุ้น AOT อยู่ที่ 57 บาท และหลังจากนั้น เคยพุ่งไปสูงสุดถึง 74 บาท
แต่แล้ว วิกฤติซับไพร์มก็เกิดขึ้นในช่วงปี 2551 และถูกซ้ำเติมด้วยการชุมนุมปิดสนามบินในเวลาใกล้เคียงกัน
ในวันที่ 3 มี.ค. 2552 ราคา AOT ลงมาเหลือ 15 บาท (เทียบปัจจุบันคือ 1.5 บาท หลังแตกพาร์) Market Cap เหลือเพียง 21,429 ล้านบาท
ที่น่าสนใจ คือ มูลค่าบริษัท AOT ตอนนั้นมีมูลค่าน้อยกว่าหุ้นเวิร์คพอยท์ (34,434 ล้านบาท) และ เถ้าแก่น้อย (29,532 ล้านบาท) ในตอนนี้
ปี 2551 AOT มีรายได้ 22,011 ล้านบาท กำไร 7,321 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 394,057 เที่ยว ผู้โดยสาร 58.3 ล้านราย
ปี 2552 AOT มีรายได้ 21,502 ล้านบาท กำไร 717 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 346,538 เที่ยว ผู้โดยสาร 50.1 ล้านราย
เห็นได้ชัดว่า ปี 2552 ผู้โดยสาร และ กำไรของบริษัท AOT ลดลงอย่างน่าใจหาย ตอนนั้น ภาพทุกคนในหัว ใครพูดชื่อนี้ก็ส่ายหัว เพราะคิดว่ากำไรของธุรกิจสนามบินคงได้รับผลกระทบจากทั้ง คนต่างประเทศมาท่องเที่ยวเมืองไทยน้อยลงจากทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไข้หวัด 2009 และ ปัญหาการเมืองไทย แถมยังมีการปิดสนามบินอีก
แต่ใครจะรู้ว่า..
นั่นคือจุดที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อบริษัทนี้
8 ปีผ่านไป
ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ก.ย. 2560 ราคาหุ้น AOT ปิดที่ 58.75 บาท (587.5 บาทก่อนแตกพาร์) Market Cap พุ่งเป็น 839,285 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ (อันดับ 1 บริษัท ปตท.)
ราคาได้ขึ้นมา 39 เท่า
ถ้าเราลงทุน AOT 1 ล้านบาท ไว้เมื่อตอนเกิดวิกฤติ ตอนนี้เราจะมีเงิน 39 ล้านบาท ในเวลา 8 ปี
ทำไม AOT ถึงราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง?
AOT บริหารจัดการ ดำเนินงาน และพัฒนาท่าอากาศยานในประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นภูมิภาคสำคัญๆ ของประเทศ คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ รวม 6 ที่ โดยรายได้หลักๆมาจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก ค่าบริการสนามบิน รวมถึงส่วนแบ่งจากร้านค้าปลอดอากร
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 รัฐบาลได้มีการกำหนดบทบาทใหม่ โดยให้สุวรรณภูมิเป็นสนามบินหลัก รองรับทั้งเที่ยวบินแบบเต็มรูปแบบและเป็นจุดเชื่อมต่อสายการบิน ขณะที่ดอนเมือง รองรับเที่ยวบินแบบ Low Cost ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งทำให้ AOT ใช้สนามบินดอนเมืองรองรับ การขยายตัวของเที่ยวบิน Low Cost ได้อย่างเต็มที่
ตั้งแต่สุวรรณภูมิสร้างเสร็จในปี 2549 ดอนเมืองไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกหลายปี ในขณะที่ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า AOT ได้ใช้ประโยชน์ ดอนเมือง อย่างเต็มที่แล้ว
เหตุผลสำคัญอีกข้อที่ทุกคนคงทราบกันดีคือ นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวจีน
เมื่อทุกอย่างเป็นใจ ก็ทำให้ ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง จากเที่ยวบินและผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 เท่า
ปี 2553 รายได้ 24,033 ล้านบาท กำไร 2,039 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 385,769 เที่ยว ผู้โดยสาร 57.4 ล้านราย
ปี 2554 รายได้ 28,641 ล้านบาท กำไร 2,215 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 441,440 เที่ยว ผู้โดยสาร 66.3 ล้านราย
ปี 2555 รายได้ 30,405 ล้านบาท กำไร 6,500 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 480,335 เที่ยว ผู้โดยสาร 71.5 ล้านราย
ปี 2556 รายได้ 36,810 ล้านบาท กำไร 16,347 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 559,423 เที่ยว ผู้โดยสาร 86.1 ล้านราย
ปี 2557 รายได้ 37,585 ล้านบาท กำไร 12,220 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 609,937 เที่ยว ผู้โดยสาร 87.6 ล้านราย
ปี 2558 รายได้ 43,969 ล้านบาท กำไร 18,729 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 707,362 เที่ยว ผู้โดยสาร 106.8 ล้านราย
ปี 2559 รายได้ 50,962 ล้านบาท กำไร 19,571 ล้านบาท เที่ยวบินโดยสาร 776,922 เที่ยว ผู้โดยสาร 119.9 ล้านราย
เมื่อเวลาจะดวงดี มันก็ดีซะทุกเรื่อง เราคงจำกันได้ว่าค่าเงินญี่ปุ่นได้อ่อนลงอย่างมาก จนทำให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ส่งผลดีต่อ AOT เช่นกัน
เพราะแต่เดิม AOT มีหนี้เป็นสกุลเงินเยนเยอะมาก (หลักหมื่นล้านบาท) พอค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับเยน ก็ทำให้ AOT มีหนี้ลดลง ได้กำไรจากค่าเงินไปอีกหลายพันล้านบาท
ยังดวงดีไม่พอ จากปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ทำให้แผนการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ได้เลื่อนออกไปจากแผนเดิมเรื่อยๆ
เมื่อไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ ยอมแออัดใช้สถานที่เดิม รายได้เพิ่มเท่าไร ก็หล่นลงมาที่กำไรเท่านั้น เพราะ ต้นทุนเท่าเดิม
ปัจจุบันจากผู้โดยสาร 119.9 ล้านคน เป็นที่สุวรรณภูมิ 55 ล้านคน ซึ่งจริงๆ แล้วถูกออกแบบให้รองรับคนได้แค่ 45 ล้านคน (overcapacity)
ตอนนี้สุวรรณภูมิใช้กำลังเกินความจุไปมาก ในอนาคต AOT จึงมีแผนขยายสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 เพื่อเพิ่ม capacity เป็น 60 ล้านคน และต้องมีงบลงทุนอีกแสนล้านบาทรออยู่
จาก 8 ปีที่แล้ว AOT ได้กำไรปีละ 717 ล้านบาท ปัจจุบัน AOT มีกำไรปีละ 20,000 ล้านบาท และ ยังมีการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบใหม่ของสนามบินสุวรรณภูมิในเร็วๆนี้ (ซึ่งก็คาดว่าน่าจะได้มากกว่าเดิม)
เรื่องนี้เป็นบทเรียนสอนให้เราเป็นอย่างดี ว่าไม่ต้องกลัวเวลาเกิดวิกฤติ มันไม่มีอะไรจะแย่ไปตลอด และนั่นอาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุน
บางทีเราก็ต้องอดทนเวลาที่ฝนพรำ เมื่อฟ้าสว่างก็คงทำให้เราเข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ.. – บอย โกสิยพงษ์
หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นนี้ โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา