12 ต.ค. 2017 เวลา 18:14 • ธุรกิจ
จิตรลดา / โดย เพจลงทุนแมน
หลายคนตั้งเป้าชีวิต เพื่อมีบ้านหลังใหญ่โต
สักวัน เมื่อเก็บเงินพอ เราจะซื้อที่ดินที่กว้างขวาง และสร้างบ้านในฝัน
แต่มีบ้านหลังหนึ่ง ที่มีพื้นที่หลายไร่ ตัวบ้านเป็นตึกธรรมดา 2 ชั้น
ตึกรับรองแขกเป็นอาคารชั้นเดียว
ที่ดินที่เหลือมากมาย กลับนำไปทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงโคนม เลี้ยงปลา ที่ผู้เป็นเจ้าของ ให้คุณค่ากับการทำงานค้นคว้า เพื่อไปสอนผู้อื่นให้สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้..
4
บ้านหลังนั้น ชื่อ จิตรลดา
1
‘พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน’ หรือ วังสวนจิตร เป็นพระตำหนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเดิมบริเวณนี้ เรียกว่า ‘ทุ่งส้มป่อย’ ทรงใช้เงินคงพระคลังซื้อที่ดิน จำนวน 157,920 ตารางวา (394 ไร่ 320 ตารางวา) และพระราชทานนามว่า ‘สวนจิตรลดา’ เพื่อใช้สร้างพระตำหนักที่ประทับรโหฐาน คือ เป็นที่สงัดสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระตำหนักฯ และ สวนจิตรลดา เป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชวังดุสิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าให้พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นที่ประทับถาวร และทรงจัดงานพระราชกุศลราชคฤมงคลขึ้นที่พระตำหนักฯ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500 พร้อมได้ทรงสร้าง ศาลาดุสิตาลัย เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
1
จากนั้น ได้ทรงพระราชทานนาม ‘จิตรลดา’ กับหลายโครงการ อาทิ
ในปี พ.ศ. 2498 ทรงจัดตั้งโรงเรียนจิตรลดา เป็นสถานศึกษาสำหรับพระโอรส พระธิดา บุตรหลานข้าราชสำนัก เป็นโรงเรียนราษฏร์ มีระดับอนุบาล ถึงระดับมัธยมปลาย และขยายวิทยาลัยเทคโนจิตรลดา เพื่อสายวิชาชีพ ปวช ปวส
1
ในปี พ.ศ. 2503 ชุดไทยจิตรลดา เป็น หนึ่งในแปดชุดไทยพระราชทาน สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงดำริขึ้น และตั้งชื่อชุด ตามชื่อพระราชวัง
1
ในปี พ.ศ. 2504 ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อทดลองการเกษตรและการเลี้ยงโคนม และด้วยโครงการทดลองที่นี่ ทำให้เกิดโครงการอีกหลากหลาย ตามหลักคำสอนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงร้านจิตรลดา และ ผลิตภัณฑ์จิตรลดา
ในปี พ.ศ. 2508 ถึงปี พ.ศ. 2513 ทรงสร้าง พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร ที่สร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยมีศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย
1
โดยพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา ให้กับ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และ พลเรือน ที่ถวายงานและที่รับใช้แผ่นดิน เนื่องจาก สมัยนั้น มีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายตามชายแดน ทรงต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่
ถึงแม้จะอยู่ไกล ไม่มีใครเห็นว่าทำอะไร แต่มีหน้าที่สำคัญเพื่อปกป้องประเทศชาติ เมื่อพระราชทานให้กับมือผู้รับ และ จะตรัสรับสั่งว่า
3
“ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมา แล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดี โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ”
1
หมายถึง การทำความดี ไม่จำเป็นต้องอวดหรือ ให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่ เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว
1
พระสมเด็จจิตรลดา ที่ทรงสร้างมีจำนวนประมาณ 3,000 องค์ และ มีใบพระราชทานที่มีตัวเลขลำดับ รายละเอียดของผู้รับ และพระปรมาภิไธย ด้วยความศรัทธาของพสกนิกร ทำให้พระสมเด็จจิตรลดา ปัจจุบันมีราคาและประเมินค่ามิได้
นอกจากพระสมเด็จจิตรลดา ที่ทรงแฝงธรรมะอย่างแยบยลไว้เตือนสติผู้ที่ครอบครอง คติธรรมปิดทองหลังพระ ยังอยู่ทั้งใน บทเพลงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงความฝันอันสูงสุด เนื้อร้องโดย ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค และ ในงานพระราชนิพนธ์หนังสือแปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (A Man Call Intrepid)
4
และคติธรรมนี้ พระองค์ทรงได้ยึดถึอปฏิบัติ ในการทรงงานตลอดมา
ใน 70 ปีของการครองราชย์ พสกนิกรได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น จากพระอัจฉริยะ และพระปรีชาสามารถ ในการทรงงานเพื่อแก้ปัญหาการเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยน้ำพระทัยแน่วแน่ว่า ความทุกข์ของราษฎร รอไม่ได้
พระองค์ทรงไม่จำเป็นต้องประกาศให้ใครรู้ถึงผลงานของพระองค์
1
แต่ด้วยผลงานและคุณประโยชน์ที่เกิดจากพระราชดำริ ทำให้มีการทูลเกล้าถวายมากกว่า 90 รางวัลและประกาศเกียรติคุณ จากนานาประเทศและองค์กรต่างประเทศ รวมทั้ง 11 รางวัลอันสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ
ดังคำที่เคยตรัสว่า
“การปิดทองหลังพระ คือการกระทำความดีให้คนอื่น โดยไม่ต้องให้เค้ารู้
เมื่อปิดทองไปข้างหลังมากเข้า ทองก็จะล้นมาที่หน้าองค์พระเอง”
11 มกราคม พ.ศ. 2559
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบท ทรงทอดพระเนตรบริเวณรอบสระน้ำหน้าศาลาดุสิตาลัย โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โรงสีข้าว ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และ พระตำหนักฯ เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง จึงเสด็จกลับโรงพยาบาลศิริราช
ไม่มีใครคิดว่า ครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พระองค์ทรงได้ประทับที่พระตำหนักจิตรลดา..
13 ตุลาคม พ.ศ. 2559
เป็นวันที่ชาวไทยทุกคนไม่เคยลืมวันนั้น
วันที่พวกเราอยากให้เป็นวันแค่ฝันไป
ทุกวินาทีตั้งแต่เช้าผ่านไปอย่างกังวลใจ
ทำได้แต่ภาวนาให้สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น
แต่สุดท้าย.. ทุกอย่างก็เงียบงัน
เป็นครั้งแรกที่เราได้รับรู้ถึงคำว่า หัวใจสลาย..
ถึงแม้ตอนนี้ พระองค์จะไม่ได้ประทับในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอีกต่อไปแล้ว แต่พระองค์จะยังสถิตอยู่ในใจของประชาชนคนไทยทุกคนชั่วนิรันดร์
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เขียนบทความเพจลงทุนแมน
พสกนิกรที่เกิดในรัชกาลที่ 9
13 ตุลาคม พ.ศ. 2560
1
โฆษณา