19 พ.ย. 2017 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
CIVILIZATION 1800 AD ปฏิวัติอุตสาหกรรม / โดย ลงทุนแมน
มนุษย์เราได้ถือกำเนิดมา 200,000 ปี หรือกว่า 10,000 ชั่วอายุคนแล้ว
แต่จากวิชาประวัติศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา ดูเหมือนว่า เราจะเพิ่งอยู่ดีกินดี มีกินมีใช้
เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกสบายในไม่กี่ร้อยปีนี้เอง
อะไรคือความแตกต่างระหว่างในช่วงเวลาของอดีตและปัจจุบัน
สิ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในยุคก่อนหน้านี้
ในช่วง 10 ชั่วอายุคนของเราในปัจจุบัน แตกต่างจาก 10,000 ชั่วอายุคนของบรรพบุรุษเราอย่างไร?
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว โลกของเราได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นครั้งแรก (Industrial Revolution) ช่วงปี 1750 – 1850 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่มนุษย์เรานำเทคโนโลยีการผลิตโดยเครื่องจักร มาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการทำเกษตรกรรมมาเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมเหมือนในปัจจุบัน
3
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในระยะแรกนั้นจะเป็นการประดิษฐ์อุปกรณ์ง่ายๆ หรือสร้างเครื่องจักรพื้นฐาน เพื่อนำไปพัฒนาในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1764 นายเจมส์ ฮาร์กรีฟส์ (James Hargreaves) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ สามารถผลิตเครื่องปั่นด้าย (Spinning Jenny) ที่สามารถช่วยให้คนงานทอผ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
1
โดยนาย โรเบิร์ต อี. ลูคัส จูเนียร์ (Robert Emerson Lucas Jr.) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้เคยกล่าวถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้ไว้ว่า “นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนคนธรรมดาส่วนใหญ่จะเริ่มเติบโตอย่างมั่นคงได้ ... ซึ่งไม่เคยมีปรากกฏการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน”
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาได้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้?
คำตอบคือ “ความสามารถในการผลิต”
ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังเติบโต สิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ได้ถูกพัฒนาควบคู่กันมา คือ เครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งเจ้าต้นแบบเครื่องนี้ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยนายโทมัส นิวโคเมน (Thomas Newcomen) ในปี 1705 ก่อนที่จะถูกต่อยอดทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยนายเจมส์ วัตต์ (James Watt) ในปี 1768
การกำเนิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำในขณะนั้นนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์เราผลิตสิ่งของได้มากขึ้นอย่างมหาศาล แถมยังมีความแม่นยำในการผลิต ทำให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำนี้ได้ถูกนำไปต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการรถไฟ เป็นต้น
โดยหลังจากที่เจมส์ วัตต์ ได้แนะนำให้โลกรู้จักกับเครื่องจักรไอน้ำไปแล้ว ก็ได้มีนักประดิษฐ์จำนวนมากนำเครื่องจักรไอน้ำนี้ ไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรอื่นๆ อีกมากมาย เช่น รถจักรไอน้ำ ก่อนที่จะมาเป็นรถไฟในเวลาต่อมา
รถไฟคันแรกของโลก ได้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจอร์จ สตีเฟนสัน (George Stephenson) นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ในปี 1814 มีชื่อเรียกว่า “บลูเซอร์” (Blueser) ซึ่งทำความเร็วได้ประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในกิจการรถไฟ จึงได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาสร้างทางรถไฟสายแรกของโลก ในปี 1826 โดยว่าจ้างนายจอร์จ สตีเฟนสันเป็นหัวหน้าวิศวกรสร้างทางรถไฟระหว่างเมืองลิเวอร์พูลถึงเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีระยะทางยาว 56 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาสร้างถึง 4 ปี จึงสามารถเปิดทำการได้ในวันแรก วันที่ 15 กันยายน ปี 1830
การถือกำเนิดขึ้นของทางรถไฟสายนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้มนุษย์เราสามารถขนส่งถ่านหินและเชื้อเพลิงจำนวนมากไปในระยะทางไกลๆ หลายกิโลเมตรได้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงไม่มีใครคิดว่าในปัจจุบัน โครงการรถไฟแคปซูล Hyperloop ของ Elon Musk ที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่า 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มนุษย์เราใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพียง 203 ปี เท่านั้น
หลายคนอาจคิดว่า 203 ปี เป็นตัวเลขที่ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนยาวนาน แต่อย่าลืมว่าเราอาศัยอยู่บนโลกนี้มากว่า 200,000 ปีแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วก็คือ 1 ใน 1,000
มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับเครื่องจักร ใช้มันสมองที่เรามี พัฒนาเทคโนโลยี สร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
1
และตั้งแต่ 203 ปีที่แล้ว
มนุษย์เราก็ใช้คำว่า “ความสามารถในการผลิต” หรือ GDP เป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศมาตลอด
ใครผลิตได้มากสุด คือ เก่งที่สุด
ในอนาคตข้างหน้า โลกของเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? แตกต่างไปจากปัจจุบันขนาดไหน? คงไม่มีใครรู้คำตอบที่ชัดเจนได้
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ที่น่าจะรู้คำตอบ คือ มนุษย์จะยังใช้ GDP เป็นตัวชี้นำว่าต้องผลิตให้ได้มากที่สุดอยู่ดี
แต่การผลิตต้องใช้ทรัพยากร
คำถามที่น่าคิด คือ จุดสุดท้ายของการผลิตให้มากที่สุด
โลกจะเป็นเช่นไร..
<ad> รู้หรือไม่ว่า James Watt ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำที่ใช้การได้เครื่องแรกที่ University of Glasgow, UK ข่าวดี มีทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ (ลดค่าเรียนบางส่วน) สาขาวิชา ธุรกิจการเงิน อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.mcducation.org/news/scholarship-university-of-glasgow-thailand รู้ไหมว่า Adam Smith บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็จบมหาวิทยาลัยนี้..
อ่านซีรีส์บทความ CIVILIZATION ตอนอื่นๆ ได้ที่
CIVILIZATION 70000 BC: จุดเริ่มต้น ของ จุดสิ้นสุด
CIVILIZATION 5000 BC: ปีระมิดที่หายไป
CIVILIZATION 2000 BC: คำสาป คณิตศาสตร์
CIVILIZATION 476 AD: กรุงโรมล่มสลาย
CIVILIZATION 1439 AD: ตำนาน THOR
CIVILIZATION 1720 AD: กำเนิดฟองสบู่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา