24 ก.ย. 2018 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
Michael Steinhardt ชายที่ทำกำไรสูงกว่าตลาด 30 ปี / โดย ลงทุนแมน
ในโลกแห่งการเงิน หลายคนอาจจะยกให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นสุดยอดแห่งนักลงทุนปัจจัยพื้นฐาน
แต่หากพูดถึงสุดยอดนักเก็งกำไรระยะสั้น ชายที่ชื่อว่า ไมเคิล สตีนฮาร์ต (Michael Steinhardt) ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในเทรดเดอร์ที่เก่งที่สุดแห่ง วอลล์สตรีท
กองทุนของเขา สร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดถึงสองเท่า เป็นเวลานาน แต่สุดท้ายก็มีเรื่องที่ทำให้เขาได้ตัดสินใจปิดกองทุนไปในที่สุด
ไมเคิล สตีนฮาร์ต เกิดเมื่อปี 1940 ปัจจุบันอายุ 78 ปี
เขามีความสนใจการลงทุนมาตั้งแต่เด็ก โดยไปใช้เวลาอยู่บริเวณบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งฝึกอ่านกราฟหุ้นด้วยตนเอง
จากนั้นเมื่อเรียนจบ เขาได้เริ่มทำงานเป็นนักวิเคราะห์ ที่กองทุน Calvin Bullock และที่โบรกเกอร์ชื่อ Loeb, Rhoades & Co.
จนเมื่อปี 1967 ได้ตัดสินใจ ออกมาตั้งกองทุนเป็นของตัวเอง ร่วมกับหุ้นส่วน ในชื่อว่า Steinhardt Partners
หลักการลงทุนของสตีนฮาร์ต นั้นจะต่างจากคนอื่นเล็กน้อย โดยเขาจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของทรัพย์สินต่างๆ แต่ใช้ข้อมูลดังกล่าว มาวางแผนซื้อขายในระยะสั้น
นั่นทำให้เขาต้องอ่านข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อหาว่าตลาดมองทรัพย์สินแต่ละประเภทว่าอย่างไร และมีอะไรที่ถูกหรือแพงเกินกว่าที่ควรเป็น เขาจะหาโอกาสทำกำไรจากจุดนั้น
จากนั้น เขาจะเทรดทุกทรัพย์สินที่คิดว่ามีโอกาส ทั้งขาขึ้นและขาลง ในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร ค่าเงิน หรืออนุพันธ์
แล้วผลงานการบริหารกองทุนของ สตีนฮาร์ต เป็นอย่างไร?
ตั้งแต่ปี 1967-1995 นั้น กองทุน Steinhardt Partners สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 24.5% ต่อปี ตลอดช่วงระยะเวลา 28 ปี ที่เขาบริหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสถิติที่ดีที่สุดของวอลล์สตรีทเลยทีเดียว
เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทน ราว 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นว่า เขาสามารถเอาชนะตลาดได้ถึงสองเท่า
นั่นหมายความว่า หากเราซื้อกองทุน Steinhardt Partners ตั้งแต่วันแรกในปี 1967 ด้วยเงิน 1 ล้านบาท มันจะงอกเงยเป็น 481 ล้านบาท ในปี 1995 เทียบกับหากไปซื้อกองทุนดัชนี S&P 500 เงินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียง 19 ล้านบาท
แต่ในเรื่องของการลงทุน ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด.. และสตีนฮาร์ตก็เช่นกัน..
ในปี 1994 เกิดวิกฤติในตลาดตราสารหนี้ พันธบัตรต่างๆ มีราคาค่อนข้างแพง แต่สตีนฮาร์ตยังมองว่ามันยังขึ้นได้ต่อ ปรากฏว่า เขาพลาด เพราะตลาดตราสารหนี้ถูกเทขายอย่างหนัก ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนหายไป 30% ในปีนั้น
แม้ในปี 1995 เขาจะแก้ตัว ทำกำไรได้ระดับ 20% แต่สุดท้ายเขาก็ได้ตัดสินใจปิดกองทุนลง โดยให้เหตุผลว่า เขาอยากจะทำอย่างอื่น มากกว่าทำให้คนที่รวยอยู่แล้ว รวยยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ผ่านไป 10 ปี สตีนฮาร์ตก็กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง โดยปี 2004 ได้เป็นผู้จัดการกองทุนชื่อ WisdomTree Investments แต่ต่างจากอดีต ตรงที่คราวนี้เป็นกองทุนสไตล์ที่เน้นปันผลและอ้างอิงดัชนีตลาด
โดยกองทุนนี้มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งผลงานของเขา ยังสามารถเอาชนะตลาดได้เช่นเคย สะท้อนจากราคาหุ้นของบริษัท WisdomTree ที่ในช่วงปี 2005-2018 สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 13% ต่อปี เทียบกับดัชนี S&P 500 ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบัน เขามีทรัพย์สินส่วนตัวราว 34,000 ล้านบาท
สตีนฮาร์ต ได้ให้ข้อคิด จากเรื่องราวของเขาไว้ว่า
ในการลงทุน มันคือการแข่งขันตลอดเวลา เมื่อคุณซื้อ แปลว่า มีอีกคนหนึ่งที่คิดต่าง และขายสิ่งนั้น
การจะเลือกอยู่ตามเสียงส่วนใหญ่ หรือ กลุ่มที่เห็นต่าง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป
เราจึงต้องทำการบ้าน และรวบรวมข้อมูลมาต่อสู้ให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนในมือได้ตลอดเวลา
ดังนั้นในบางครั้ง จึงต้องตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งนั่นคือความเสี่ยงที่ต้องเข้าใจ และยอมรับมัน
โดยตัวสตีนฮาร์ตเอง แม้จะทำผลงานได้น่าทึ่งมาตลอด แต่ก็เคยผิดพลาด เคยขาดทุนเช่นกัน แต่เขาก็พยายามเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางที่ดีขึ้นต่อไป
ซึ่งเราน่าจะเรียนรู้หลักการของเขาและนำมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว..
หากชอบบทความนี้ ติดตามบทความเกี่ยวกับการลงทุนอื่นๆ ได้ที่แพลตฟอร์ม #SocialKnowledge เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
โฆษณา