5 ต.ค. 2018 เวลา 16:17
ว่ากันด้วยเรื่องปัญหาพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทย
จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ค่อนข้างสูง
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำการการศึกษาความแตกต่างของพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างกลุ่มครัวเรือนต่างๆ ได้แก่
1) กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ กับไม่มีหนี้
2) กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาในการชำระหนี้ กับกลุ่มที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหา
จากกการศึกษาได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถและการซ่อมรถ
แสดงว่าครัวเรือนที่มีหนี้มีรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่าโดยเฉลี่ย
แปลได้ว่าคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการมีหน้ามีตาในสังคม โดยยอมเป็นหนี้เพื่อซื้อรถที่ราคาแพงกว่าคนทั่วไป
ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาในการชำระหนี้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง (สูงกว่า 320%) และ ค่าเสื้อผ้า (สูงกว่า 470%)
สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย และการมีไลฟ์ไสตล์ที่หรูหราเกินฐานะ
สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่ากลุ่มคนเจนวาย หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 22-35 ปี มักมีหนี้เร็ว หนี้นานและยอดหนี้สูง โดยเฉพาะการก่อหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เพื่อนำมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
จากการศึกษาทำให้ผมสงสัยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนยอมเป็นหนี้ ซื้อรถราคาแพงเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับนับถือในสังคม
หรือการยอมเป็นหนี้เพื่อให้ได้ใช้ไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา กินดีอยู่ดี เสื้อผ้าของใช้แบนด์เนมราคาแพง
เหตุผลเท่าที่ผมคิดออกอย่างแรกก็คือพฤติกรรมการใช้ social media เพื่ออวดไลฟ์สไตล์ของตนเอง ของเพื่อน ของดารา หรือเนตไอดอลต่างๆ ทำให้คนอื่นก็อยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่นบ้าง
สองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่อดทนรอไม่ได้ อะไรที่อยากได้ก็ต้องได้ และต้องเดี๋ยวนี้เท่านั้น
สามคือเรื่อง ไม่มีความรู้ทางการเงิน ทีผ่านมาระบบการศึกษาไทยไม่เคยให้ความสำคัญเรื่องการเงินกับเด็กๆเลย โตมาจึงเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องการเงิน และไม่ใฝ่รู้ศึกษาเอง จึงไม่รู้จักการออม ไม่รู้จักการลงทุน ไม่รู้จักความเสี่ยง รู้จักแต่การก่อหนี้มาใช้ แต่ไม่รู้ว่าควรต้องผ่อนเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ ยังไง
ยังไม่นับรวมปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่ระบาดหนัก หลอกคนที่โลภอยากรวยเร็วแต่ไม่ยอมศึกษาหาความรู้อีกมากมาย
แต่จะว่าไปถ้าสมมติให้ทุกคนมีความรู้เรื่องการเงิน แล้วปัญหาเรื่องหนี้ เรื่องการไม่มีเงินออม หรือเรื่องแชร์ลูกโซ่ จะหมดไปจริงๆเหรอ
ผมคิดว่าไม่ เพราะก็จะมีคนส่วนหนึ่งที่รู้ทั้งรู้แต่ก็จะยังทำต่อไปอยู่ดี
ก็คงเหมือนกับคนอ้วนขี้โรคที่รู้ทั้งรู้ว่าการควบคุมอาหารดีต่อสุขภาพแต่ก็ทำไม่ได้
คนกลุ่มนี้มักจะมีปมปัญหาจิตใจที่แสดงออกมาทางพฤติกรรมการกิน
พฤติกรรมการใช้เงินเช่นกัน
ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้เรียกว่า Financial Psychology หรือ จิตวิทยาการเงิน ซึ่งคนไทยคงยังไม่คุ้นกับคำนี้เท่าไหร่นัก
ผมจะลองยกตัวอย่างปมปัญหาทางด้านจิตใจที่น่าจะเข้าได้กับปัญหาพฤติกรรมการใช้เงินในประเทศไทยดูนะครับ
กลุ่มที่เป็นปัญหาใหญ่น่าจะเป็นกลุ่ม money status หรือ พวกสร้างภาพ คนกลุ่มนี้มักเอาคุณค่าตัวเอง (Self worth) ไปผูกกับเงิน เพราะฉะนั้นเขาจึงยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ใช้ไลฟ์ไสตล์หรู ใช้ของที่มีราคาแพงอยู่เสมอ เพราะเขาถือว่านั่นคือตัวตนและคุณค่าของเขา
ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดกับคนกลุ่มนี้คือ การให้เค้าได้นับถือและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่การที่จะหาว่าทำไมเค้าถึงไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง อาจจะต้องย้อนไปค้นปมปัญหากันตั้งแต่วัยเด็กกันเลยทีเดียว
เช่น อายที่ตัวเองเคยจนมาก่อน ไม่เคยมีเหมือนคนอื่นเขา
หรือการเป็นลูกคนกลาง ไม่เคยได้ใช้ของชิ้นแรกเหมือนพี่ ไม่เคยมีของดีแบบน้อง
หรือการที่เคยโดนเปรียบเทียบตอนเด็กบ่อยๆจากพ่อแม่
ทำให้ต้องชดเชยปมด้อยหล่านี้ด้วยไลฟ์ไสตล์หรู ข้าวของราคาแพง เป็นต้น
เริ่มน่าสนใจแล้วใช่มั้ยครับเรื่องจิตวิทยาการเงิน
เดี๋ยวโพสท์หน้าผมจะมาเล่าเรื่องจิตวิทยาการเงินที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดีต่อครับ
อ้างอิง : บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืนควรเริ่มที่ไหน , สุพริศร์ สุวรรณิก
: หนังสือ คนชนะหนี้ , มณฑานี ตันติสุข
โฆษณา