17 ต.ค. 2018 เวลา 09:57
สิ่งที่ศิลปินเกาหลีต้องทำ เมื่อไปดังในญี่ปุ่น
เขาว่ากันว่าตลาดเพลงของญี่ปุ่นเป็นตลาดเพลงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ทำให้หลายๆ ประเทศต่างจับตามอง และอยากจะลองมาเยือนดูสักครั้ง
ถ้าสามารถตีตลาดเพลงที่นี่ได้ จะทำให้ศิลปินคนนั้นได้รายได้เข้ากระเป๋าเป็นจำนวนมาก
และ “ศิลปินเกาหลี” เป็นศิลปินอีกชนชาติหนึ่งที่บุกเข้าตีตลาดเพลงญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
แต่การเข้าไปโด่งดังในญี่ปุ่นได้เนี่ยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
เพื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในตลาดเพลงญี่ปุ่นได้ ทำให้ศิลปินเกาหลีต้องพยายามอย่างหนัก
ทุ่มเททำสิ่งต่างๆ มากมาย
มาดูกันค่ะว่า สิ่งที่ศิลปินเกาหลีมักจะทำกันเมื่อจะมาดังที่ญี่ปุ่นคืออะไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลยค่ะ
1. ต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้
แน่นอนว่าถ้าจะไปโกอินเตอร์ที่ญี่ปุ่น สิ่งที่จะทำให้เกิดความใกล้ชิด สนิทสนม สื่อสารความรู้สึกต่อแฟนคลับได้ ก็คือ
“ภาษา”
ก็เหมือนกับที่ศิลปินเกาหลีมาไทย พอมาเจอแฟนๆ ก็ต้องปล่อยประโยคภาษาไทยให้แฟนคลับได้ปลื้มกัน
แต่! แต่ค่ะแต่
สำหรับการไปตีตลาดในญี่ปุ่นนั้น คุณจะมาพูดเป็นคำพูดหรือประโยคสั้นๆ
แค่ว่า “สวัสดีครับ/ค่ะ” “สบายดีไหม” “กินข้าวหรือยัง” ไม่ได้
คุณต้องพูดเป็นประโยคยาวเฟื้อย ระดับสนทนาให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ค่ะ
ซึ่งเรื่องการพูดภาษาญี่ปุ่นเนี่ย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
อย่างที่หลายคนรู้ว่า ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยากมาก ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการเรียน
แต่ศิลปินเกาหลีไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนั้นค่ะ เรียนรู้ ฝึกพูด ฝึกใช้ภาษา
จนบางคนพูดญี่ปุ่นในขั้นดีมาก
อย่างเช่น “แจจุง” วงดงบังชินกิ
พูดภาษาญี่ปุ่นเก่งมาก จนถึงระดับที่เล่นละครญี่ปุ่นได้
หรือจะเป็นคนนี้ค่ะ “BoA”
ศิลปินเกาหลีคนแรกๆ ที่ไปตีตลาดเพลงในญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
นางพูดญี่ปุ่นได้ชัด และคล่องมากอย่างกับเป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ
จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดค่ะว่านางเป็นคนญี่ปุ่น
แต่จริงๆ แล้ว เป็นคนเกาหลีโดยกำเนิดเลยนะจ๊ะ
2. ร้องเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น
เมื่อพูดภาษาญี่ปุ่นได้แล้ว ก็ต้องร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นได้ด้วยค่ะ
ต่างกับตอนที่ศิลปินเกาหลีมาตีตลาดในไทย ที่ไม่จำเป็นต้องมีเพลงภาษาไทยอะไรเลย
มาแบบเพลงเกาหลีนี่แหละยิ่งดี นำกลิ่นความเป็นเกาหลีแบบจัดเต็มมาเลย คนไทยจะรู้สึกชอบและฟินสุดๆ
แต่สำหรับคนญี่ปุ่นนั้นจะไม่ใช่แบบนี้ค่ะ ถ้าจะมาออก Single หรืออัลบั้มที่ญี่ปุ่น
ต้องมีเป็นเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.) เพลงเกาหลีมาแปลงเป็นญี่ปุ่น
2.) เพลงญี่ปุ่นแบบมีที่นี่ที่เดียว
*อัลบั้มญี่ปุ่นอัลบั้มแรกของวง KARA ที่มียอดขายทะลุ 400,000 แผ่น คว้าอันดับ 2 ของชาร์ต Oricon ในสัปดาห์แรก
ส่วนเหตุผลที่ต้องมีเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็ไม่ทราบแน่ชัดค่ะ
แต่ถ้าให้นึกถึงตามความเป็นจริง
อาจเป็นเพราะว่าคนญี่ปุ่นถนัดที่จะฟังแบบภาษาญี่ปุ่นมากกว่า
พอฟังแล้วจะเข้าใจความหมายเพลงไปด้วย
อีกเหตุผลก็คือการร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย
ให้ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน แม้จะเป็นศิลปินเกาหลี แต่พอร้องเพลงญี่ปุ่นมันทำให้เกิดความรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เสพความเป็นเกาหลีเพียวๆ นะ แต่ยังมีความเป็นญี่ปุ่นด้วย
3. ต้องมีชื่อวงเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยนะจ๊ะ
ร้องเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นยังไม่พอ ชื่อวงต้องเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย
อย่างเช่น วง “ดงบังชินกิ” ก็มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “โทโฮชินกิ”
วง “Girls’ Generation” ก็จะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวงแบบสากล
มีชื่อเป็นเกาหลีว่า “โซนยอชีแด” (So Nyeo Shi Dae= SNSD)
แล้วก็มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “โชโจจิได” (Shojo Jidai) ด้วย
ซึ่งชื่อภาษาญี่ปุ่นที่ตั้งขึ้นมาเนี่ยก็จะมีความหมายเดียวกันกับชื่อวงที่เป็นภาษาเกาหลีค่ะ
และบางวงก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิมเมื่อมาตีตลาดที่ญี่ปุ่น
อย่างวง “Girls’ Generation” เห็นได้ชัดมาก
สงสัยไหมคะว่าทำไมวง “Girls’ Generation” ถึงไม่เปิดตัวด้วยเพลง Gee ที่ถือว่าเป็นเพลงโด่งดังมากของวงนี้
เพราะว่าทางเกาหลีมองเห็นว่า ถ้าให้ “Girls’ Generation” มาเปิดตัวแบบลุคใสๆ คงสู้ไอดอลญี่ปุ่นไม่ได้แน่
เพราะไอดอลหญิงญี่ปุ่นมีจุดแข็งตรงที่อายุที่น้อยกว่ามาก เป็นรุ่นเด็กวัยใสจริงๆ
ในขณะที่ “Girls Generation” เป็นวงที่โตเป็นสาวเต็มตัวแล้ว ถ้าจะมาใสๆ เนี่ย เดี๋ยวจะโดนเม้าท์ว่าแอ๊บเด็กแน่ๆ
ฉะนั้นก็เลยเปลี่ยนเกม โดยการเปิดตัวโดยใช้ภาพลักษณ์ผู้หญิงที่โตเป็นสาวเต็มตัวที่ทรงเสน่ห์
เลยทำให้ลุคของ “Girls’ Generation” กับ “โชโจจิได” ค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ก็ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นค่ะ
ถ้าไปถามคนญี่ปุ่นถึงวง “Girls Generation” คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยนึกถึง “Girls Generation” จริงๆ
แต่เขาจะนึกถึง “โชโจจิได” อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยคุยเรื่องศิลปินกับคนญี่ปุ่น
เขาจะพูดชื่อวง “โชโจจิได” ขึ้นมาก่อน
และค่อยพูดว่า “ก็วง Girls Generation นั่นแหละ”
แล้วพอเม้าท์ต่อ เธอก็กลับมาเรียกชื่อว่า “โชโจจิได”
ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลก็อาจมาจากทั้งภาพลักษณ์ และชื่อที่ง่ายต่อการเรียกสำหรับคนญี่ปุ่นค่ะ
4. ร้องสด
อีกหนึ่งสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับคนญี่ปุ่นเป็นอันดับต้นๆ คือ “การร้องสด” ค่ะ
โดยปกติแล้วในวงการนักร้องญี่ปุ่น เวลาขึ้นร้องบนเวทีคอนเสิร์ต หรือตามรายการทีวีต่างๆ มักจะร้องสดกันค่ะ
ในเมื่อมาแสดงต่อหน้าแฟนๆ แล้ว สิ่งที่แตกต่างจากในแผ่นซีดี นอกจากจะมาเห็นศิลปินตัวเป็นๆ แล้วก็คือน้ำเสียงการร้องเพลงแบบ “สดๆ”
และมันแสดงถึงความสามารถที่แท้จริงของศิลปินด้วย
การร้องสดจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ซื้อใจคนญี่ปุ่นได้ ศิลปินเกาหลีมีความสามารถในการเต้นที่เป๊ะอยู่แล้ว
บวกกับโชว์พลังเสียงแบบสดๆ เอาใจแฟนๆ ไปเต็มๆ เลยค่ะ
5. อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเกาหลีไม่ใช่ทุกสิ่งในดินแดนญี่ปุ่น
สิ่งที่จะซื้อใจคนญี่ปุ่นได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน”
ไม่ว่าจะไปที่ไหน แน่นอนว่าข้อนี้สำคัญค่ะ
มาที่ไทยก็เช่นกัน พวกเขาก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตัวด้วย
แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น การวางตัวจะต้องค่อนข้างเข้มงวดนิดนึงค่ะ
แม้ศิลปินเกาหลีจะกลายเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ใครๆ ก็คลั่งไคล้เกาหลีเป็นอย่างมาก
แต่สำหรับในประเทศญี่ปุ่นแล้ว สถานะศิลปินเกาหลีในญี่ปุ่นค่อนข้างแตกต่างค่ะ ศิลปินเกาหลีโด่งดังในญี่ปุ่นก็จริง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเขาไม่ถือว่าเป็น “จุดศูนย์กลาง” และศิลปินเกาหลีไม่ใช่ทุกสิ่งในดินแดนญี่ปุ่น
เห็นได้จากข้อก่อนๆ ที่เล่ามาค่ะว่า การที่ศิลปินเกาหลีจะมาตีตลาดในญี่ปุ่นได้ ต้องปรับตัว ต้องทำอะไรต่างๆ มากมาย
จะเดินเข้ามาในแบบเกาหลีเฉยๆ ไม่ได้ ต้องปรับอะไรมากมาย
จนบางคนถึงกับบอกว่าการมาของศิลปินเกาหลี ไม่ได้เป็นการเดบิวต์แบบ K-POP แต่นั่นคือ J-POP ต่างหาก
ซึ่งต่างจากบ้านเรา เพียงแค่คุณเดินมาแบบเกาหลีแบบ K-POP เต็มตัว แฟนๆ ชาวไทยก็ฟิน เคลิ้มกันมากแล้ว
และญี่ปุ่นก็ดูเป็นประเทศเดียวที่สามารถเลือกศิลปินได้
พูดแบบภาษาชาวบ้านเลยคือ “กล้าที่จะไม่ง้อ”
ตัวอย่างเช่นในกรณีคอนเสิร์ตมหกรรมขาว-แดง คอนเสิร์ตประจำปีทางช่อง NHK ของญี่ปุ่น
ที่ออกข่าวครึกโครมว่า “ไร้รายชื่อศิลปินเกาหลีบนเวที” ทำให้หลายคนสงสัยว่าเพราะอะไร?
หรือว่าจะเป็นกรณีที่ขัดแย้งกันเรื่องหมู่เกาะทาเคชิมะ หรือด๊อกโด
แต่ทางโปรดิวเซอร์รายการก็ได้ออกมาให้เหตุผลประมาณว่า
“ที่ไม่มีรายชื่อศิลปินเกาหลีน่ะ ไม่ใช่เรื่องข้อพิพาทเรื่องเกาะอะไรนั่นหรอก แต่เป็นเพราะว่ามีผลงานและความนิยมที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจต่างหาก”
ซึ่งความนิยมหรือไม่นิยมเนี่ยก็มาจากการทำผลสำรวจจากคนญี่ปุ่นทั่วไป
และดูเหมือนว่าศิลปินเกาหลีมีคะแนนนิยมที่ไม่ถึงเป้า
แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยรู้สึกเสียดายเช่นกันที่ไม่มี ศิลปินเกาหลีอยู่บนเวที
นอกจากนี้ถึงแม้จะมีคนญี่ปุ่นที่รู้สึกชื่นชอบศิลปินเกาหลีที่แห่ขบวนทัพมาตีตลาด
ทั้งทุ่มทุนซื้อแผ่น (ที่เขาว่ากันว่าแพงมาก)
ซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ต (ที่เขาว่ากันว่าแพงมากเช่นกัน)
แต่คนญี่ปุ่นก็ยังนิยมฟังผลงานจากศิลปินชาติตัวเองเช่นกัน ประมาณว่ารับศิลปินต่างชาติ แต่เราก็ไม่ทิ้งศิลปินชาติของตัวเองนะ!
#แล้วทำไมศิลปินเกาหลีถึงต้องทุ่มเทเพื่อมาตีตลาดญี่ปุ่นขนาดนี้ด้วยล่ะ!?
ก็อย่างที่บอกไปช่วงแรกๆ ค่ะว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดเพลงที่ค่อนข้างใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมถึงคนญี่ปุ่นมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ถ้าซื้อใจเขาได้ เขาจะทุ่มทุนซื้อไม่อั้น ที่สำคัญเป็นประเทศที่นิยมซื้อของแท้ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ด้วยค่ะ ถ้าได้แจ้งเกิดที่นี่ ขอบอกว่า “อนาคตที่สดใสรอเราอยู่” อย่างเห็นๆ
#ความนิยมของศิลปินเกาหลีในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน
ถ้าเทียบกับยุคสมัยแรกๆ ขอบอกว่าความนิยมเป็นไปได้อย่างเรื่อยๆ จะไม่ฮือฮา หวือหวาเท่ากับช่วงแรกๆ
แต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ มีศิลปินหลายคนที่ยังสามารถก้าวขึ้น Top ชาร์ต Oricon ได้
แต่ถ้าเทียบสัดส่วนศิลปินที่อยู่ในชาร์ตมักจะเป็นศิลปินญี่ปุ่นค่ะ
ยิ่งสมัยนี้มีวงไอดอลยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง “AKB48” ที่ฮอตฮิตมาก
Single แต่ละแผ่นยอดขายไม่ใช่หลักแสน แต่เป็นหลัก “ล้าน”!
หรือยอดขายอัลบั้มก็พุ่งเข้าสู่หลักแสนในสัปดาห์แรกแล้ว ส่วนยอดขายทั้งหมดก็หลักล้านค่ะ
เป็นวงที่โค่นได้ยากมาก ขนาดวง ARASHI บอยด์แบนด์อันดับ 1 ในญี่ปุ่น ยังต้องคอยหลบทางให้เลยค่ะ
เคยมีการแซวๆ กันเล่นๆ ค่ะว่า ถ้าช่วงไหน AKB48 ออก Single วง ARASHI ขอหลบทางไปออกช่วงอื่นดีกว่านะ
รวมถึงปฏิบัติการ “Cool Japan” ของท่านายกชินโซะ อาเบะ ที่ทำให้กระแสบันเทิงเกาหลีในญี่ปุ่นเริ่มซบเซาลง (AKB48 ก็เป็นหนึ่งในปฏิบัติการนี้)
#AKB48 กับ Arashi ไอดอลผู้ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่น
บวกกับสมัยนี้ Oricon ออกกฎมาใหม่ค่ะ จะไม่นับยอดขายที่ซื้อแบบข้ามประเทศ
ก็คือว่า Oricon จะนับยอดเฉพาะแผ่นที่มีคนมาซื้อในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
ส่วนแผ่นที่สั่งซื้อจากต่างประเทศจะไม่ถูกนับ
ทำให้ยอดนี้จะนับได้แค่คนที่อยู่ในญี่ปุ่นจริงๆ ส่งผลให้ยอดในชาร์ต Oricon ลดลงด้วยส่วนหนึ่ง
เรื่องของแนวเพลงก็มีส่วนสำคัญค่ะ ความที่ไม่เพอร์เฟ็กของไอดอลญี่ปุ่น
ยังคงเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นคลั่งไคล้
และยังมีอะไรบางอย่างที่ชวนให้ติดตามต่อไปมากกว่าสิ่งที่มันสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว
แม้ว่าแนวนักร้องญี่ปุ่นจะไม่ค่อยถูกจริตกับคนไทยหรือคนทั่วไปมากนัก
แต่ถือว่าเป็นแนวที่คนญี่ปุ่นยังคงชื่นชอบแบบไม่รู้เบื่อ
ถึงแม้ว่าจะมีศิลปินต่างชาติเข้ามาตีตลาดมากมาย
แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของไอดอลและศิลปินญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร
เลยไม่สามารถทำให้ใครเข้ามาแทนที่นักร้องญี่ปุ่นได้
#สิ่งที่น่าทึ่งของเกาหลีก็คือ
เขาสร้างศิลปินที่มีคุณภาพ มีความตั้งใจ ความพยายาม และความอดทนที่สูงมาก
ตั้งใจฝึกซ้อม พัฒนาฝีมือตัวเองจนถึงระดับนานาชาติได้
#ส่วนสิ่งที่น่าทึ่งของญี่ปุ่นคือ
เขาไม่ได้สร้างศิลปินให้เป็นที่นิยมทั่วโลก
แต่เขาสร้าง “ตลาดเพลง” ที่ไม่ว่าจะเป็นใครในทั่วมุมโลก
ก็อยากจะเข้ามาตีตลาด สร้างเม็ดเงินมหาศาลในที่แห่งนี้!
เรื่องโดย : ChaMaNow https://www.marumura.com/korean-superstar-in-japan/
ติดตามเรื่องราวญี่ปุ่นที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ www.marumura.com
โฆษณา