23 ต.ค. 2018 เวลา 11:35 • ไลฟ์สไตล์
Around the world story :
ทัวร์ร้านหนังสือในเยอรมัน
ในสภาวะที่ร้านหนังสือ
และวงการสิ่งพิมพ์ในบ้านเรากำลังประสบปัญหา
สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย
รวมถึงการจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์
ที่ทำให้เหล่านักอ่าน
เลือกที่จะตัดสินใจไปเยือนร้านหนังสือน้อยลง
แต่ในทางกลับกัน
ก็ยังคงมีร้านหนังสือหลายแห่ง
ซึ่งจำหน่ายหนังสือเฉพาะทาง
หรือหนังสือต่างประเทศ
ที่มียอดขายเติบโตมากขึ้น
สวนทางกับร้านหนังสือหลายแห่ง
ที่ต้องปิดตัวลง
หรือไม่ก็ต้องปรับพื้นที่ภายในร้าน
ให้รองรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ
นอกจากหนังสือ
เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้
ตัวผมเองไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือ
จึงไม่สามารถสรุปหรือวิจารณ์อะไรได้มากนัก
แต่ในฐานะนักอ่านคนหนึ่ง
(นักอ่านอีกหลายๆคนก็คงคิดเหมือนกัน)
ผมก็ยังเชื่อว่า
หนังสือที่เป็นเล่ม
ให้เราได้สัมผัส ได้พลิกไปพลิกมา
ก็ยังให้ความรู้สึกที่ดีกว่า
การอ่านจากหน้าจอสมาร์ทโฟน
..
รูปภาพ : ร้านหนังสือในเมืองเล็กๆ
อย่างเมือง Boppard
สื่อสิ่งพิมพ์กับสังคมเยอรมัน
มีความผูกพันกันมาตั้งแต่ยุคกลาง
โยฮันส์ กูเทนแบร์ก
ผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในปีค.ศ. 1450
ก็เป็นชาวเยอรมัน
ผลจากสิ่งประดิษฐ์ของเขา
ทำให้วิทยาการต่างๆ
ที่เคยอยู่ภายใต้ความมืดมนจากอิทธิพลของศาสนา
มอบแสงสว่างทางปัญญา
และพาโลกตะวันตกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
คนเยอรมันเป็นนักอ่าน เป็นนักวิจารณ์
และเป็นนักคิด
แถมยังชอบติดตามอ่านหนังสือของต่างชาติ
โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นชีวิตจิตใจ
จนมหกรรมหนังสือนานาชาติประจำปี
ที่นครแฟรงค์เฟิร์ต
กลายเป็นงานรวมหนอนหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
ที่จะพบเจอเด็กวัยนักศึกษายืนอ่านหนังสือ Anatomy บนรถไฟใต้ดิน
หรือคุณลุงคุณป้านั่งเล่นปริศนาอักษรไขว้
และ Sudoku
ตามสถานีรถไฟอูบาห์น (U-Bahn)
ในเมืองใหญ่ๆ
แม้จะเป็นเช่นเดียวกันทั่วโลก
ที่ผู้คนเกินครึ่งก็ยังจ้องมองหน้าจอสมาร์ทโฟนกันไม่วางตา
แต่กระนั้น
ร้านหนังสือในเยอรมัน (Buchladen)
ก็ยังพบหาได้ทั่วไป
ทั้งตามสถานีรถไฟ หรือในย่านต่างๆของเมือง
แต่ละแห่งก็มีขนาดใหญ่ (กว่าร้านหนังสือไทย) พอสมควร
รูปภาพ : ร้านหนังสือ Ludwig
ภายในสถานีรถไฟโคโลญ ร้านใหญ่มาก
มีสองชั้น และมีนักอ่านแน่นร้าน
อะไรที่ทำให้วงการสื่อสิ่งพิมพ์ของเยอรมัน
ยังคงอยู่
และฟันฝ่าสู้วิกฤติของโลกออนไลน์มาได้
..
เหตุผลแรกสุดที่ผมสัมผัสได้คือ
"ราคา"
หนังสือในเยอรมันมีราคาอยู่ระหว่าง 10- 25 ยูโร
(ประมาณ 380 - 950 บาท)
หนังสือสารานุกรมหลายเล่มราคาเล่มละ 15 ยูโร ( 570 บาท)
บางเล่มคุณภาพกระดาษและปกดีมาก
ราคาเล่มละ 35 ยูโร (1,330 บาท)
หากเทียบเป็นสกุลเงินบาทอาจมีราคาสูง
แต่เราต้องไม่ลืมว่า
ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงของประชาชาวด๊อยท์
อยู่ที่ชั่วโมงละ 9 ยูโร (342 บาท)
(อาจแปรผันได้ตามค่าครองชีพในเมืองใหญ่
เมืองใหญ่ในฝั่งตะวันตกอย่างมิวนิค
และแฟรงเฟิร์ต
อาจมีค่าแรงสูงกว่ากรุงเบอร์ลิน
และเมืองในฝั่งตะวันออก)
นั่นหมายความว่า
พนักงานทั่วไปตามร้านอาหารจานด่วน
ทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ก็สามารถซื้อหาสารานุกรมดีๆสักเล่ม
เพื่อต่อยอดองค์ความรู้
หรือเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเองสนใจ
เป็นสิ่งที่พนักงานในร้านอาหารจานด่วนของไทยทำได้แค่นั่งใฝ่ฝัน !
(ค่าแรงชั่วโมงละประมาณ 65 บาท (กรุงเทพฯ),
ราคาหนังสือทั่วไป 250 บาทหรือสูงกว่า
โดยประมาณ
ราคาสารานุกรม(รวมค่าแปล) 1,350 บาท
โดยประมาณ)
เมื่อ "หนังสือ" ซึ่งหากมองแล้วอาจดูเป็นของฟุ่มเฟือย
อยู่ในราคาที่ "เอื้อมถึง"
จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ตลาดหนังสือ
และสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศนี้
มีฐานลูกค้าอยู่ในจำนวนมหาศาล
..
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ราคาก็คือ
"ความเฉพาะทางที่หลากหลาย"
อย่างที่พวกเราทราบกันดี
เยอรมันคือประเทศต้นน้ำของความรู้ในหลายๆด้าน
มีวิทยาการที่สั่งสมาเป็นเวลานาน
ต่อยอดเป็นงานวิจัย นวัตกรรม
และองค์ความรู้ใหม่ๆ ผลิตออกมาไม่เว้นแต่ละวัน
ความหลากหลายส่งผลให้เกิด
"หนังสือเฉพาะทาง"
ที่มีให้เลือกตั้งแต่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
การแพทย์ การออกแบบ สถาปัตยกรรม
จิตวิทยา วิศวกรรม ยานยนต์ รถไฟ
ไปจนถึงอวกาศและควอนตัมฟิสิกส์
รูปภาพ : ร้านหนังสือ Motto ในกรุงเบอร์ลิน แหล่งรวมของนักออกแบบ
และผู้ชอบเสพงานศิลปะ
คุณอาจพบสารานุกรมอวกาศได้ในร้านหนังสือตามสถานีรถไฟ
คนที่ชื่นชอบรถไฟก็จะหลงใหลกับไปหนังสือรวมภาพรถไฟ
(ซึ่งอาจไม่มีขายออนไลน์)
ส่วนคนที่คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์
อาจจะรอติดตามการค้นพบใหม่ๆ
จากยุคสมัยบาบิโลน
ได้จากนิตยสารโบราณคดีรายเดือน
รูปภาพ : สารานุกรมอวกาศ
ในร้านหนังสือ Ludwig
ภายในสถานีรถไฟโคโลญ
รูปภาพ : หนังสือเกี่ยวกับรถไฟ
ภายในร้าน Ludwig สถานีรถไฟโคโลญ
ผมเป็นคนชอบแผนที่โลก
ยังอดไม่ได้ที่จะซื้อหนังสือแผนที่โบราณ
(ราคา 30 ยูโร)
แม้ผมจะอ่านภาษาเยอรมันไม่เข้าใจเลยก็ตาม 555
รูปภาพ : หนังสือแผนที่โลกที่ผมสอยมา 555 จากร้านหนังสือแห่งหนึ่งในเมืองนูเรมเบิร์ก
ความเฉพาะทางนี้
เป็นเสน่ห์อย่างดีที่ทำให้หนังสือ
และวงการสื่อสิ่งพิมพ์แดนอินทรีเหล็ก
ยังคงฟันฝ่าสู้วิกฤติมาได้
แม้โลกออนไลน์จะรุกคืบเข้ามา
และดึงดูดเหล่าหนอนหนังสือที่มีความสนใจในเรื่องแปลกๆ
ที่แตกต่างกันออกไป
ให้มารวมตัวกันได้ในร้านหนังสือ
..
เหตุผลสุดท้าย
คือ "บรรยากาศ"
สิ่งหนึ่งที่การซื้อหนังสือจากร้านออนไลน์
ยังทำไม่ได้
คือการให้โอกาสนักอ่านได้เปิดอ่าน
พลิกหนังสือไปมาจนพอใจ
แล้วอะไรจะดีไปกว่า
ร้านหนังสือที่มีมุมดีๆ ให้นั่งอ่าน
แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหนังสือ
รูปภาพ : ร้านหนังสือ Ocelot ในกรุงเบอร์ลิน ภายในร้านกว้างขวาง มีที่นั่งอ่านหนังสือ และมีร้านกาแฟให้บริการด้วย
ร้านหนังสือหลายแห่งมีการจำหน่ายหนังสือที่เป็นเอกลักษณ์ประจำร้าน
บางร้านมีหนังสือประจำเมือง
บางเมืองมีบอร์ดเกมประจำเมืองวางขายอีก
รูปภาพ : ร้านหนังสือ Osiander.de ในเมือง Stuttgart มีการจำหน่ายหนังสือประวัติและเรื่องราวของเมือง ซึ่งจะหาจากที่อื่นไม่ได้
ร้านหนังสือส่วนมากจะมีโซนหนังสือภาษาอังกฤษ
เนื่องจากคนเยอรมันส่วนใหญ่อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี
และชอบติดตามเรื่องราวจากต่างแดน
นักเขียนเยอรมันหลายคนก็จะมีผลงานเป็นภาษาอังกฤษวางจำหน่ายด้วย
..
ร้านหนังสือในดินแดนด๊อยท์
จึงยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักอ่าน
ทั้งชาวเยอรมันเอง
และชาวต่างชาติ (นักศึกษาและนักท่องเที่ยว)
หลายร้านจึงยังคงมีลูกค้ามานั่งอ่าน และมาซื้อกันแน่นขนัด
อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเลิกรากันไปง่ายๆ
..
ตัวผมเองก็ไม่อาจคาดการณ์ได้
ว่าอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือจะเป็นเช่นไร
แต่สำหรับคนรักหนังสือ
ตราบที่หนังสือเล่มยังคงมีความหมาย
สถานที่ต่อเติมหัวใจ
ก็ยังคงเป็นร้านหนังสือ
โฆษณา