6 พ.ย. 2018 เวลา 01:33
GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product ซึ่งแปลว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม ซึ่งใช้วัดมูลค่าของเศรษฐกิจทั้งระบบ
เราเดินเข้าร้านอาหาร และจ่ายเงินซื้อข้าวหนึ่งจาน เงินที่เราจ่ายไปก็จะถูกรวมเข้าไปในมูลค่าของ GDP
 
เมื่อเจ้าของร้านอาหารจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเสิร์ฟก็จะรวมอยู่ใน GDP
 
มูลค่าของโต๊ะ เก้าอี้ ที่เจ้าของร้านอาหารจ่ายเงินเพื่อลงทุนเปิดร้านก็รวมอยู่ใน GDP เช่นกัน
เราอาจจะสามารถสรุปง่ายๆ ว่า GDP คือมูลค่าที่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศนั้นสร้างขึ้นมาได้
แต่เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจมีการผลิตสินค้าและบริการจำนวนมหาศาล การที่จะคำนวณจากสินค้าทีละชิ้นคงเป็นเรื่องยากเกินไป
จึงมีการคำนวณ GDP จากเงินที่ถูกนำไปใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจแทน ซึ่งวิธีนี้ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด
มูลค่าของ GDP ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก
ส่วนแรกมาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งก็คือกิจกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง หรือ ออกไปรับประทานอาหาร
ส่วนที่ 2 มาจากการลงทุน ทั้งจากภาคธุรกิจที่ลงทุนในเครื่องจักร ที่ดิน อาคาร หรือระบบเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนของคนทั่วไป เช่น การซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐ
และส่วนที่ 4 จากมูลค่าส่งออกสุทธิ โดยคำนวณมาจากมูลค่าการส่งออกของประเทศลบด้วยมูลค่าการนำเข้า
GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาทในปี 2017
ส่วนประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกก็คือสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าประมาณ 633 ล้านล้านบาท
แต่นอกจากดูที่ตัวเลข GDP แล้วก็ควรดูอัตราการเติบโตของ GDP ประกอบด้วย
หากเศรษฐกิจสุขภาพดี อัตราการเติบโตของ GDP ก็จะเป็นบวก
แต่ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงหรือถดถอย อัตราการเติบโตของ GDP ก็จะเป็นลบ
แต่ GDP ก็อาจไม่ได้สะท้อนผลจากเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน
ยังมีทั้งด้านความสุข คุณภาพชีวิต หรือการก่อมลภาวะที่ไม่ได้สะท้อนอยู่ในตัวเลขของ GDP เนื่องจากบางประเทศที่มีรายได้สูง ก็อาจต้องแลกมาด้วยความเครียดจากการทำงานหนักของประชาชน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน GDP ก็ยังเป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่ทั่วโลกใช้กันมากที่สุดอยู่ดี
ขอบคุณรูปภาพจาก warriortradingnews.com
ซื้อหนังสือลงทุนแมน 7.0 ได้แล้ววันนี้
โฆษณา