10 พ.ย. 2018 เวลา 11:57
“คนดี” ก็โกงได้
1
เวลาที่เราพูดถึง นักการเมือง เรามักจะนึกถึงเรื่อง คอร์รัปชั่น กันบ่อยๆ จนกลายเป็นว่าสองอย่างนี้เป็นของคู่กัน
2
คอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เราก็ยังต้องมีนักการเมืองหรือคนทำงานการเมืองเข้ามาทำงานด้านนี้อยู่ดี ถึงเราจะบ่นด่าพวกนักการเมืองก็เถอะแต่ถ้าให้เราไปบริหารประเทศ เราอาจจะไม่อยากทำก็ได้
ในเมื่อเราไม่อยากที่จะบริหารประเทศเอง เราก็ต้องเลือกตัวแทนของเราเข้าไปช่วยกันทำงานเพื่อให้ประเทศเดินหน้าและเวลาที่เราเลือกตั้ง เราก็อยากได้ คนดี มีความสามารถเข้ามาในสภา คนที่มีความสามารถจะสามารถบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยิ่งถ้าเป็น "คนดี" แล้ว เราก็ยิ่งอุ่นใจว่าคนๆนั้นจะไม่กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง
เราอาจจะได้ยินคำว่า คนดี บ่อยๆในรัฐบาลยุคนี้ (ใช่มะ) รัฐบาลปลูกฝังให้เราเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ และขู่ เอ้ย เน้นย้ำว่าถ้าเลือกคนไม่ดีเข้ามาทำงาน ประเทศก็จะกลับเข้าวังวนเดิมๆ ไม่เดินไปไหนซักที
คนดีที่ว่าเป็นยังไง เราอาจจะอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ แต่เราก็พอจะนึกได้ว่าเขาเหล่านั้นมีลักษณะยังไง เราเชื่อว่าถ้าเลือกคนดีเข้าบริหารประเทศ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะหมดไป แต่จริงๆแล้วมันง่ายอย่างงั้นหรือเปล่า
เราลองมาดูเคสที่ Dan Ariely ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและจิตวิทยา พบเจอกันหน่อยดีกว่า
เพื่อนของ Ariely ซึ่งทำงานในสายธุรกิจอุปกรณ์ทันตแพทย์เล่าให้เขาฟังว่า มีหมอฟันรายหนึ่งซื้อเครื่อง CAD/CAM ทางทันตกรรม (ย่อมาจาก computer-aided design/computer-aided manufacturing)
หน้าที่ของเครื่องนี้คือ ออกแบบและสร้างสิ่งแทนฟันอย่างครอบฟันและสะพานฟัน ขั้นตอนการทำงานของมันเริ่มจากการแสดงภาพจำลองสามมิติของฟันและเหงือกของคนไข้ ดังนั้นหมอฟันจึงสามารถออกแบบรูปทรงของครอบฟันได้อย่างแม่นยำ จากนั้นเครื่องก็จะหล่อเซรามิกตามที่หมอฟันออกแบบ ด้วยความสามารถดังกล่าวทำให้ราคาเครื่องนี้สูงลิ่ว
4
เมื่อเจ้าเครื่องนี้ออกมาสู่ตลาด มันทำให้มุมมองของทันตแพทย์เปลี่ยนไป
มันทำให้หมอฟันที่มีเครื่องนี้เชื่อว่ารักษาคนไข้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเนื่องจากความสามารถของมันดูน่าทึ่งมาก หมอฟันจึงพยายามที่จะหาทางใช้ทางเลือกใหม่ที่ดูเลิศเลอเพื่อรักษาคนไข้ แม้ว่าอาการที่ปรากฎของคนไข้จะเป็นอาการเพียงเล็กน้อยมากๆอย่าง Craze line
มันคืออะไร ?
Craze line คือรอยร้าวเล็กๆบริเวณผิวเคลือบฟัน มันเป็นเพียงรอยเล็กจิ๋วและไม่มีอันตราย หลายๆคนก็มีรอยร้าวแบบนี้แต่ก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดแม้แต่นิดเดียว
พูดอีกอย่างคือ เราไม่จำเป็นต้องไปรักษาไอ้เจ้ารอยร้าว craze line นี้เลย
1
แต่เป็นธรรมดาที่เราอยากจะลองใช้ของใหม่ที่พึ่งซื้อมา และหมอฟันคนนี้ก็เช่นกัน เขาอยากที่จะทำครอบฟันให้กับคนไข้ทุกคน เพื่อนของ Ariely เล่าว่า "เขาอยากใช้อุปกรณ์ใหม่เอี่ยมนี้จนตัวสั่น จึงแนะนำคนไข้หลายคนว่าถ้าอยากยิ้มสวยล่ะก็ เครื่อง CAD/CAM สุดทันสมัยของเขาช่วยได้"
1
วันหนึ่งมีคนไข้สาวรายหนึ่งเป็นนักเรียนกฎหมายที่มี craze line แต่หมอฟันคนนี้แนะนำให้เธอครอบฟัน เธอตอบตกลงเพราะปกติก็ทำตามคำแนะนำของหมอฟันอยู่แล้ว
แต่แล้วก็ดันเกิดเรื่องยุ่งยากโดยไม่คาดคิด
ครอบฟันดังกล่าวทำให้เกิดอาการฟันตาย เธอจึงต้องรักษารากฟัน แต่เรื่องกลับเลวร้ายไปอีกเมื่อการรักษาล้มเหลวสองครั้งติดต่อกัน คนไข้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้ารับการผ่าตัดที่ยุ่งยากและทรมาน
จากตอนแรกที่ craze line ไม่เป็นอันตรายใดๆกลับกลายเป็นว่าเธอต้องจ่ายค่ารักษาก้อนโตและต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างสาหัส
3
หลังจากเรียนจบ เธอไปค้นข้อมูลและพบว่าจริงๆแล้วเธอไม่จำเป็นต้องทำการครอบฟันเลย เธอจึงจัดการเอาคืนหมอฟันคนนั้นด้วยการฟ้องร้องเขาและเป็นฝ่ายชนะคดีไปในที่สุด
หมอฟันคนนี้ไม่ใช่คนไม่ดี การที่เขาซื้อเครื่องมือราคาแพงก็เพราะเขาเชื่อว่ามันจะรักษาคนไข้ได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่เขาทำกลับกลายเป็นว่าเกิดผลร้ายต่อผู้อื่นทั้งๆที่เขาไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น
นั่นเป็นเพราะเขากำลังตกหลุมพรางของจิตใจมนุษย์ที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
เจตนาแรกคือเพื่อให้มีการรักษาที่ดีขึ้นแต่เจตนาที่แฝงอยู่อีกด้านคือเขาต้องการที่จะถอนทุนคืนโดยการหาคนไข้มารับการรักษาโดยเครื่องมือชิ้นนี้ อันที่จริงหมอฟันส่วนใหญ่เป็นคนเก่งและจิตใจดี แต่บางครั้งแรงจูงใจแฝงก็ทำให้หลงผิดได้เช่นกัน
เราจะเห็นว่าต่อให้ไม่ใช่คนโกงก็สามารถสร้างความเดือดร้อนให้เราได้เหมือนกัน ผลประโยชน์ทับซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน แม้แต่คนดีก็เช่นกัน
ฉะนั้นถ้าเราจะบอกว่าหาคนดีเข้าสภาจะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ก็ไม่ถูกซะทีเดียว (ผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่ง)
1
แน่นอนว่าเราต้องการคนเก่งและคนดีมาช่วยบริหารประเทศ แต่ในเมื่อผลประโยชน์ทับซ้อนสามารถเกิดได้ทั้งกับคนดีและคนไม่ดี เราก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้ใครก็ตามเข้ามาบริหารประเทศโดยไม่มีการตรวจสอบ
สมมติเราได้คนที่ทั้งดีและเก่งเข้ามาบริหารจริงๆ เรายกย่องเขาโดยไม่สงสัยในตัวเขา เราปิดหูปิดตาเมื่อเห็นเขาสร้างข้อผิดพลาดและพยายามแก้ตัวให้เขาว่า "ผิดแค่นี้คงไม่เป็นไรหรอก" แต่ความคิดแบบนี้ก็อันตรายเช่นกัน
3
สิ่งที่น่ากลัวกว่าการโกงครั้งใหญ่ก็คือการโกงเล็กๆน้อยๆนี่แหละ
Ariely กล่าวว่า พฤติกรรมของคนเราถูกผลักดันโดยแรงจูงใจสองประการที่อยู่ขั้วตรงข้าม
ขั้วหนึ่ง เราอยากมองตัวเองว่าเป็นคนซื่อสัตย์และมีเกียรติเพื่อที่เวลาส่องกระจกเราจะได้รู้สึกดีกับตัวเอง นักจิตวิทยาเรียกความคิดนี้ว่า แรงจูงใจเรื่องศักดิ์ศรี
3
แต่อีกขั้วหนึ่ง เราก็อยากตักตวงผลประโยชน์จากการโกงและโกยเงินเข้ากระเป๋าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งนี้คือแรงจูงใจเรื่องเงินของมนุษย์ทุกคน (ย้ำว่าทุกคน รวมถึงคนดีด้วยนะ)
1
แรงจูงใจทั้งสองสวนทางอย่างชัดเจน เราจะโกงคนอื่นแต่ยังมองว่าตัวเองเป็นคนดีได้ยังไง
เรื่องนี้สามารถทำได้ด้วยกระบวนการคิดอันยืดหยุ่นของเรา เราสามารถโกงได้แถมยังรู้สึกว่าเป็นคนดีได้ด้วย "การโกงเพียงเล็กน้อย"
2
ความพยายามหาสมดุลเช่นนี้คือการคิดหาเหตุผลให้กับการกระทำ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่า ระดับความคดโกงที่ยอมรับได้ (fudge factor theory)
ระดับความคดโกงที่ยอมรับได้ที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่มีใครกำหนดเกณฑ์ที่แน่นอน มันอยู่ที่ศีลธรรมในใจของแต่ละคน บางสิ่งบางอย่างเราเห็นว่าเป็นการโกงที่ร้ายแรง แต่ในมุมมองของอีกคนเขาอาจมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆก็ทำกัน
และถ้าเราเผลอปล่อยให้คนดีโกงเล็กๆน้อยๆโดยที่คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง ระดับความคดโกงที่ยอมรับได้ของเขาอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายกว่าเดิมเข้าซักวัน
เมื่อนั้นประเทศเราก็อาจกลับไปจุดเดิมก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ The (honest) truth about dishonest
โฆษณา