11 พ.ย. 2018 เวลา 12:11
คิดนอกกรอบ แล้วลุยให้สุดอย่าง Bohemian Rhapsody
Bohemain Rhapsody เป็นหนังเกี่ยวกับวง Queen ที่มีผลงานเพลงโด่งดังจำนวนมาก โดยเน้นที่ชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คูรี นักร้องนำ
เรื่องนี้เล่าตั้งแต่เฟรดดียังเป็นเด็กขนกระเป๋าในสนามบิน จนถึงช่วงจุดสูงสุดของชีวิต และปิดท้ายด้วยฉากคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยแอฟริกา Live Aid สุดอลังการ
ตอนที่ผมเห็นตัวอย่างหนัง ก็อยากดูแล้ว เพราะชอบหลายเพลงของวงควีน แต่เมื่อดูหนังแล้ว ก็ยิ่งประทับใจ และเห็นแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เช่น ที่มาของเพลงต่างๆ จนคันมือ อยากเขียนบทความนี้ครับ
บทความนี้สปอยล์และเปิดเผยเนื้อหาของหนัง Bohemian Rhapsody ดังนั้น ถ้าผู้อ่านยังไม่ได้ชมหนังเรื่องนี้ และยังไม่อยากทราบเนื้อหาของหนังก่อนชม ก็ยังไม่ควรอ่าน
แต่ถ้าดูหนังเรื่องนี้แล้ว หรือไม่แคร์เรื่องสปอยล์ นี่คือข้อคิดที่ผมได้จากหนังครับ
1. เปลี่ยนจุดด้อยเป็นจุดแข็ง
ผมเพิ่งทราบว่า เฟรดดีเป็นคนฟันเหยินจากหนังเรื่องนี้ เพราะไม่เคยสังเกตมาก่อน
ตอนที่เฟรดดีสมัครเป็นนักร้องนำ นักดนตรีหัวเราะเยาะว่า “ฟันยื่นออกมาซะขนาดนี้”
แต่เมื่อเฟรดดีร้องเพลง นักดนตรีก็สะดุดหูทันที แล้วเฟรดดีก็บอกว่า “ฟันเหยินทำให้ฉันมีปากกว้างขึ้น ร้องเพลงได้ดีขึ้น”
จุดด้อยเรื่องหน้าตาของเฟรดดี กลับเป็นจุดเด่นที่ทำให้เฟรดดีร้องดีกว่าคนอื่น
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงซูซาน บอยล์ ที่โด่งดังจาก Britain’s Got Talent หรือตำนานเรื่องการต่อสู้ระหว่างเดวิดกับโกไลแอทครับ
2. จดไอเดียไว้ก่อน
นิสัยสำคัญของนักสร้างสรรค์ผลงานเกือบทุกคนคือ การจดบันทึก การขีดเขียน เพราะเวลาเกิดไอเดียแปลกใหม่ ปิ้งแว๊บ จะได้รีบจด
ตอนเริ่มต้นหนัง มีฉากที่เฟรดดีเขียนเนื้อเพลงบนกระดาษ ผมเดาว่า เฟรดดีคงมีกระดาษกับปากกาพกติดตัว เพื่อจดเวลาเกิดไอเดียใหม่ๆ เพราะไอเดียใหม่อาจมาเมื่อไรก็ได้
ถ้าเราไม่รีบจดไว้ ไอเดียดีๆ อาจหายไปตลอดกาล
3. คิดใหญ่พอแล้วยัง
เมื่อวงควีนเริ่มแสดงบ่อยขึ้น เฟรดดีเสนอความเห็นว่า ควรคิดใหญ่มากขึ้น ด้วยการออกอัลบั้มสักชุด เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น
1
นักดนตรีคนอื่นบอกว่า “เราไม่มีเงิน”
เฟรดดีชี้ไปที่รถของวงที่กำลังซ่อม แล้วบอกว่า “ขายรถคันนี้ เอาเงินมาทำอัลบั้มไง”
ดังนั้น เราอาจต้องถามตัวเองบ่อยๆว่า “คิดใหญ่พอแล้วยัง”
ถ้าเราคิดว่า ทำไม่ได้ เราคิดหาทางครบถ้วนแล้วยัง เพราะบางครั้ง คำตอบอาจอยู่ข้างหน้าเรานี่เอง
4. สูตรสำเร็จเป็นเรื่องน่าเบื่อ
ไฮไลท์อย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ ที่มาของเพลง Bohemian Rhapsody
เมื่อวงควีนได้รับโจทย์ให้ทำอัลบั้มใหม่ ผู้บริหารค่ายต้องการ “เพลงที่ได้รับความนิยมตามสูตรสำเร็จ” แต่วงควีนกลับเสนอ “เพลงโอเปร่า” โดยที่เฟรดดีบอกว่า “สูตรสำเร็จเป็นเรื่องน่าเบื่อ” และโน้มน้าวให้เชื่อว่า ทำสำเร็จอย่างแน่นอน
เมื่อผู้บริหารค่ายยอมรับแบบไม่ค่อยเต็มใจ วงควีนก็เริ่มเก็บตัว บันทึกเสียง อัลบั้มชุดใหม่
ฉากในหนังแสดงให้เห็นว่า วงควีนผสมผสานแนวเพลงหลายแบบและทดลองหลายครั้ง กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นเพลง Bohemian Rhapsody
เพลง Bohemian Rhapsody คือตัวอย่างของการคิดนอกกรอบ การผสมผสานไอเดีย และการลองผิด ลองถูก จนกระทั่งเสร็จครับ
1
5. ยืนหยัดความคิดของตนเอง
เมื่อวงควีนนำเสนอเพลง Bohenian Rhapsody ให้ผู้บริหารค่ายเพลง โดยต้องการให้เปิดในวิทยุ ก็ขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะเพลง Bohemian ยาว 6 นาที ในขณะที่เพลงที่เปิดในวิทยุมักยาวแค่ 3 นาที
เนื่องจากวงควีนต้องการโปรโมตเพลง Bohemian ในขณะที่เจ้าของค่ายต้องการเพลงอื่นที่สั้นกว่า ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายทะเลาะและแตกหักกัน
เฟรดดีจึงนำเพลง Bohemian ไปให้สถานีวิทยุแห่งหนึ่งเปิด ซึ่งในช่วงแรก เพลงยังไม่ค่อยดังนัก นักวิจารณ์ก็ยังเสียงแตกเกี่ยวกับเพลงนี้ บางคนก็ชอบ บางคนก็เกลียด
แต่ในที่สุด Bohemian Rhapsody ก็กลายเป็นเพลงในตำนาน
6. จุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็พอแล้ว
อีกเพลงหนึ่งที่โด่งดังของวงควีนคือ We will rock you ซึ่งมักเปิดในงานแข่งขันต่างๆ และเป็นเพลงที่ฟังแล้วฮึกเหิม เร้าใจ
ไอเดียของเพลง We will rock you เกิดจากนักดนตรีคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการแสดงดนตรี
แค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ คือ การกระทืบเท้าและปรบมือ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงร็อคสุดเร้าใจที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายครับ
7. เมื่อได้โอกาสแล้ว ทำให้สุดลิ่มทิ่มประตู
เมื่อวงควีนได้โอกาสในการแสดงคอนเสิร์ต Live Aid ทุกคนก็ซ้อมอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่า เฟรดดีเริ่มมีอาการป่วยก็ตาม
ฉากจบยาว 10 นาทีกว่าของหนัง คือการแสดงของวงควีนในคอนเสิร์ต Live Aid ปี 1985 ที่เฟรดดีและวงควีนทุ่มพลังสุดตัว
หนังทำฉากนี้ได้อย่างอลังการมาก เป็นการแสดงคอนเสิร์ตที่สุดยอดจริงๆ จนผมต้องเปิดดูคลิปของจริงในยูทูบ
1
นอกจากข้อคิดต่างๆ เกี่ยวกับไอเดียและการลงมือทำที่ผมเขียนในบทความแล้ว หนังยังกล่าวถึงการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ และอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ขอคารวะเฟรดดี เมอร์คิวรี และวงควีน ตำนานแห่งวงการดนตรีครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา